phramahaweera.siam2web.com พระมหาวีระ ปุญฺญวีโร Wat Anongkharam

 

                                               พระแก้ววัดอนงคาราม

 

 

 

 

 

บทความที่ลงในหนังสือวิสาขบูชาปี 2566

 

มนุษย์ต่างดาวกับยูเอฟโอมีจริงหรือ ??

โดย

พระมหาวีระ ปุญฺญวีโร,ดร.

(ป.ธ.๗, พธ.บ.,ศศ.ม.,ปร.ด.)

ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอนงคาราม

 

 

 

 

ทุกวันนี้เราสังเกตว่าคนส่วนมากจะให้ความสนใจกับเรื่องของมนุษย์ต่างดาวกับยูเอฟโอ เป็นที่ตื่นตาตื่นใจอย่างมากนับว่าเป็นกระแสที่มาแรง โดยเฉพาะในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นรายการทางโทรทัศน์ ทางอินเตอร์เน็ตล้วนแชร์ภาพ โพสต์ภาพและพูดถึงเรื่องของยูเอฟโอเป็นจำนวนมากซึ่งเราจะเห็นว่ามีทั้งดารา นักแสดง พิธีกรแต่ละรายการต่างก็ออกมาพูดถึง ยูเอฟโอ และมนุษย์ต่างดาวบางคนก็เห็นด้วยตนเอง  บางคนก็เห็นภาพหรือคลิปที่คนอื่นโพสต์ทางอินเตอร์เน็ต บางคนก็บอกว่าเห็นด้วยญาณทิพย์ หรือบางคนถึงกับใช้โทรจิตติดต่อได้ก็มี รวมถึงนักวิชาการบางท่านเป็นระดับศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ก็ยังให้ความสนใจในเรื่องนี้ถึงกับทำพิธีเรียกยูเอฟโอ และสื่อสารกับมนุษย์ต่างดาวได้ถือว่าไม่ธรรมดา ซึ่งก็มีหลายๆท่าน เคยถามผู้เขียนในเรื่องนี้เหมือนกันว่ามีความคิดเห็นอย่างไร ฉะนั้นจึงเป็นเหตุให้ผู้เขียนได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอธิบายให้เข้าใจและแสดงให้เห็นถึงแนวคิดของผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศที่กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้น่าคิดเช่นเดียวกันและผู้เขียนยังได้สอดแทรกอธิบายตามหลักของพุทธศาสนาอีกด้วย

  ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจที่มาที่ไปของคำว่า ยูเอฟโอ เสียก่อนซึ่งคำว่า UFO มาจากภาษาอังกฤษคือคำว่า unidentified flying object ถ้าแปลตามศัพท์ก็คือวัตถุบินที่ไม่สามารถระบุได้ แล้วมันคืออะไรกันแน่ แต่มันมีลักษณะคล้ายรูปจาน (disc/saucer) ที่บินร่อนหรือทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า บางคนเรียกว่าจานผี  ซึ่งผู้เขียนได้เข้าไปศึกษาข้อมูลทางเว็บไซต์ต่างประเทศเกี่ยวกับ ยูเอฟโอ ซึ่งพบว่า มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ส่วนมากจะเป็นยานลูกที่ถูกปล่อยแยกออกมาจากยานแม่ มีลักษณะสามเหลี่ยมบ้าง สี่เหลี่ยมบ้าง กลมๆ บ้าง เรียวๆ บ้าง ทรงรีบ้าง เช่น ยาน Disque metallique ยาน Disque Volant ยาน Touple  ยาน Diamant  ไม่ใช่มีเฉพาะรูปจานบินอย่างเดียว จริงๆ ยูเอฟโอ ไม่ใช่เพิ่งมีให้เห็นเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งมันมีมานานแล้วตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ ๑๙๕๐ ส่วนมากจะไปปรากฏให้เห็นในประเทศกลุ่มตะวันตก ซึ่งแถวบ้านเราไม่ค่อยปรากฏให้เห็นนัก ถึงเจอก็มีน้อยมาก  สังเกตว่าในระยะหลังๆนี้เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๖ ยูเอฟโอ จะมาปรากฏในเห็นในประเทศไทยถี่มาก โดยเฉพาะปีนี้ไม่ว่าจะเป็นยานแม่ หรือยานลูกก็ตาม ถามว่าเขามาทำไม มาเพื่ออะไร ประเด็นก็คือว่าภายในยูเอฟโอ มีใครควบคุมหรือบังคับอยู่ข้างในนั้นหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ผู้เขียนพบว่ามีกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชื่อว่ากลุ่มเฟซบุ๊ก UFO เขากะลานครสวรรค์ ที่ได้ศึกษาและติดตามเกี่ยวกับการปรากฏของยูเอฟโอ มาหลายปีซึ่งผู้เขียนได้ลองเข้าไปเรียนรู้อยู่ในกลุ่มนี้ว่าเขามีทัศนคติกับเรื่องนี้อย่างไร ทำไมยูเอฟโอต้องไปปรากฏที่เขากะลาบ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังมีอีกกลุ่มชื่อว่าโทรจิตการบินที่เขามีภารกิจเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวและยูเอฟโอ เขาต้องการจะบอกอะไรเราในอนาคตข้างหน้า ฉะนั้นในส่วนประเด็นนี้ผู้เขียนจะขออธิบายในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ รวมถึงอธิบายในแง่ของพุทธศาสตร์ในการพิสูจน์ค้นหาความจริงของสิ่งเหล่านี้ว่ามีวิธีใดบ้าง

            เมื่อเราทราบถึงความหมายของคำว่า ยูเอฟโอ แล้วต่อไปเราจะมาพูดถึงมนุษย์ต่างดาวหรือเอเลี่ยน (Alien) ซึ่งคำนี้มาจากภาษาละตินในคำว่า Allus ที่แปลว่าอื่น ๆ กล่าวคือใช้เรียกสิ่งมีชีวิตนอกโลกที่อาศัยอยู่บนดาวดวงอื่น จึงเป็นเหตุให้เรียกว่า มนุษย์ต่างดาว ซึ่งมนุษย์ต่างดาวนั้นไม่จำเป็นต้องมีรูปร่างหน้าตาเหมือนมนุษย์ หรือมีลักษณะการเคลื่อนไหวคล้ายมนุษย์ ซึ่งสามารถใช้คำว่าสิ่งมีชีวิตต่างดาวก็ย่อมได้ (Extraterrestrial life) เรื่องมนุษย์ต่างดาวนั้นผู้เขียนได้เข้าไปศึกษาอ่านงานของนักวิทยาศาสตร์ทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ผลการศึกษาพบว่ายังไม่มีมนุษย์ต่างดาวอาศัยอยู่บนดาวเคราะห์ต่าง ๆ ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะจักรวาล แต่ก็ยังมีนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเชื่อว่า มนุษย์ต่างดาวน่าจะอยู่บนดาวดวงใดดวงหนึ่งในจักรวาลอื่น ๆก็ได้ โดยคิดว่ามนุษย์ต่างดาวนั้นน่าจะมีสติปัญญาที่ใกล้เคียงกับมนุษย์หรือฉลาดกว่ามนุษย์ หรือมีจิตวิญญาณสูงกว่ามนุษย์ หรือมีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยกว่ามนุษย์ เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ เกิดคำถามขึ้นว่า อยู่จักรวาลไหน อยู่ดาวไหนกันแน่  หรือว่าดาวลูกไก่ ใช่ไหม? หรือว่าอยู่โลกใต้ดินรัฐฟลอริดา? ในส่วนประเด็นนี้ในทางพุทธศาสนาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เคยตรัสแก่พระอานนท์ในเรื่องของจักรวาลไว้ว่า “ดูกรอานนท์ พระตถาคตในโลกนี้ พึงแผ่รัศมีไปทั่วโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาล เมื่อใด หมู่สัตว์พึงจำแสงสว่างนั้นได้ เมื่อนั้นพระตถาคตพึงเปล่งพระสุรเสียงให้สัตว์เหล่านั้นได้ยิน พระตถาคตพึงทำให้โลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาลให้รู้แจ้งได้ด้วยพระ   สุรเสียง หรือพึงทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่พระองค์ทรงมุ่งหมาย ด้วยอาการเช่นนี้แล ฯ” (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต หน้า ๒๕๗-๒๕๘)  จากข้อความข้างต้นที่ปรากฏในพระไตรปิฎก แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่มีเฉพาะสิ่งมีชีวิตในโลกมนุษย์เท่านั้นยังมีอีกเป็นแสนโกฏิจักรวาล ก็เป็นไปได้ว่านอกจากโลกมนุษย์แล้ว น่าจะมีมนุษย์ต่างดาวในจักรวาลอื่น ๆ หรือในดาวอื่น ๆ เพียงแต่เราไม่สามารถเข้าถึงได้เท่านั้นเอง แม้แต่ในทางพุทธศาสนาเรื่องพญานาค ยักษ์ เทวดา พรหม เราไม่เคยเห็นตัวเป็น ๆ หรือรูปร่างหน้าตาที่แท้จริงเป็นอย่างไรกันแน่ ส่วนมากเราจะเห็นแต่รูปปั้นเท่านั้น แต่ชาวพุทธเราก็เชื่อว่ามีอยูจริง ถึงพากันไปกราบไหว้ ขอโชค ขอหวยตามวัดวาอารามหรือสถานที่ต่าง ๆ  ธรรมดาบางคนเขาเห็นด้วยตา เขาก็เชื่อ และบางคนเขาไม่เคยเห็น แต่เขาก็มีความเชื่อตามหลักคำสอนทางพุทธศาสนาที่ได้กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า สิ่งเหล่านี้มีอยู่จริง หรือบางคนเขาสามารถติดต่อสื่อสารผ่านทางสมาธิก็มี บางคนขึ้นชื่อว่าเป็นพวกหูทิพย์ ตาทิพย์ก็มีที่สามารถเห็นได้ สื่อสารได้ ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือพระสงฆ์ก็ตาม โดยเฉพาะหลวงปู่ หลวงพ่อสายปฏิบัติ หรือพระเกจิบางรูปที่ทรงฌาน อภิญญา เช่น พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) ที่มีความชำนาญในเรื่องมโนมยิทธิก็บอกว่ามีอยู่จริง  ฉะนั้นนอกจากโลกมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น   เทวโลก พรหมโลก แม้แต่พวกภพ ภูมิต่ำ ๆ เช่น เปรต อสุกาย สัตว์นรก ก็มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก นั่นแสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่อง ภพ ภูมิ ต่าง ๆ ว่าไม่มีอยู่จริง แต่ศัพท์ทางฝรั่งเขาใช้คำว่า มิติต่าง ๆ (dimensions) ซึ่งก็มีความหมายใกล้เคียงกันกับศัพท์ทางพุทธศาสนาเรา ฉะนั้นเรื่องมนุษย์ต่างดาว/ ยูเอฟโอ จัดเป็นเรื่องลี้ลับก็ได้ คนที่เขาเห็นจริง ๆถึงจะเชื่อ ดังคำที่ว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” ส่วนคนที่ไม่เห็นก็ไม่เชื่อคิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหล ไร้สาระ แต่ทุกวันนี้เทคโนโลยีที่ทันสมัย หรือยุคโซเชียลมีเดีย (Social Media) สามารถถ่ายภาพ หรืออัดคลิปวิดีโอเอามาแชร์กันได้เพื่อเป็นหลักฐานในการพบเห็น แต่ก็ต้องเช็คดูให้ดีว่าเป็นภาพจริงหรือภาพตัดต่อ ยิ่งทุกวันนี้ทำได้สารพัดที่จะให้มันเหมือนของจริง  ทีนี้ลองมาดูในส่วนความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ ว่าเขามีทรรศนะอย่างไร ซึ่งผู้เขียนได้คัดเลือกมามีแต่ระดับปรมาจารย์ทั้งนั้น

            ในส่วนแนวคิดของ สตีเฟน วิลเลียม ฮอว์กิง (Stephen William Hawking, ๑๙๘๓) เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎี นักจักรวาลวิทยา ที่มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ เขาแสดงให้เห็นว่า มันเป็นไปได้ที่จะปรากฏอารยธรรมต่างดาว ซึ่งมีสิ่งมีชีวิตที่ก้าวหน้ามากพอที่จะท่องไปทั่วจักรวาลได้ เขาใช้คำว่า Extra-Terrestrial Intelligence แปลว่าสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากต่างดาว นั่นอาจเป็นการบ่งบอกถึงการมีอยู่ของมนุษย์ต่างดาวกับพาหนะคือ ยูเอฟโอ ที่จะท่องไปในจักรวาล และเขายังกล่าวอีกว่า มันเป็นไปได้ว่า พวกมนุษย์ต่างดาวอาจเข้าไปแสวงหาประโยชน์จากดาวเคราะห์ใหม่แต่ละดวง เพื่อประโยชน์ในการสร้างยานอวกาศเพิ่มมากขึ้น แล้วเคลื่อนกำลังต่อไป ใครจะไปรู้ว่าศักยภาพ ที่พวกเขามีวิทยาการล้ำสมัยขนาดไหน ก็เป็นที่ไม่แปลกใจว่าเมื่อพบยูเอฟโอ ก็ย่อมมีมนุษย์ต่างดาวหรือเอเลี่ยนอยู่ด้วยนั่นเอง  นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้ศึกษางานวิจัยต่างประเทศเพื่อนำมาสนับสนุนแนวคิดเรื่องมนุษย์ต่างดาวให้น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น งานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์และเผยแพร่งานวิจัยผ่านวารสารที่ชื่อว่า The Astronomical Journal จากนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งแห่งสมาคมดาราศาสตร์อเมริกัน ที่ได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลกมีอยู่จริง งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า มนุษย์ต่างดาวเคยมาสำรวจโลกนานมาแล้ว ซึ่งพวกเขาอาจรอเวลาให้ดาวต่าง ๆ เคลื่อนที่ไปอยู่ในรูปแบบที่กำหนด เพื่อง่ายต่อการเดินทางมายังโลกมนุษย์ก็เป็นไปได้

อีกความคิดเห็นหนึ่งถ้ามองตามสมการของเดรก (Drake Equation) ที่ศึกษาเกี่ยวกับด้านชีววิทยาอวกาศ และการค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากต่างดาว สามารถแสดงให้เห็นว่า เป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตนอกโลกที่ทรงภูมิปัญญาอยู่ในห้วงอวกาศ แต่ยากที่มนุษย์จะได้ติดต่อกับมนุษย์ต่างดาวเหล่านี้ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความกว้างใหญ่ไพศาลของจักรวาล และระยะการเดินทางระหว่างดวงดาวมายังโลกมนุษย์ จากข้อความนี้เป็นไปได้ว่ามนุษย์ต่างดาวน่าจะใช้ยูเอฟโอเป็นพาหนะในการเดินทาง หรืออาจใช้ในการสำรวจโลกเท่านั้น ส่วนด้านความคิดเห็นของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein, ๑๙๒๔) เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวเยอรมัน ซึ่งได้พัฒนาทฤษฎีสัมพัทธภาพ รวมถึงการพัฒนาทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม ได้สอดแทรกความคิดเห็นเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวเอาไว้อีกด้วยว่า มนุษย์ต่างดาว คือสิ่งมีชีวิตที่ชาวโลกรู้จักเพียงน้อยนิด นั่นแสดงให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตที่อยู่นอกโลกนั้นมนุษย์ยังรู้จักน้อยมาก หรือไม่สามารถเข้าถึงได้ นั่นแสดงให้เห็นว่าไอน์สไตน์กำลังจะบอกนัยอะไรบางอย่างเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวว่ามีอยู่จริง

            ส่วนทรรศนะของนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ผู้ที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ชื่อว่า ดร. อาวี โลบ (Avi Loeb) เขาเชื่อว่าดาวเคราะห์น้อยชื่อว่าโอมูอามูอา (Oumuamua) ที่มีลักษณะแท่งยาวคล้ายซิการ์และได้เดินทางมาใกล้โลกเมื่อปี ๒๕๖๒ นั้น แท้จริงแล้วเป็นยานแม่ของมนุษย์ต่างดาวจากนอกระบบสุริยะ แต่สิ่งที่น่าคิดก็คือว่าได้อำพรางตนเองให้มีรูปลักษณ์ภายนอกคล้ายดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหาง แต่ไม่มีกลุ่มก๊าซห่อหุ้มเหมือนดาวหางทั่วไป ที่สำคัญสามารถเร่งความเร็วขึ้นในทิศทางที่ออกห่างจากดวงอาทิตย์ ซึ่งนับว่าผิดปกติอย่างยิ่ง เขาสันนิษฐานว่าอาจเป็นยานแม่ของมนุษย์ต่างดาวก็ได้ ซึ่งได้ปล่อยยานมาสำรวจโลก และระบบสุริยะ นอกจากนี้ก็ยังมีนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของดร. อาวี โลบ เนื่องจากว่า ยานโอมูอามูอาเป็นเพียงดาวเคราะห์น้อยธรรมดาที่เคลื่อนตัวแบบประหลาดจากการปลดปล่อยก๊าซไฮโดรเจน แต่ดร. อาวี โลบ ยังไม่ล้มเลิกเพื่อหาความจริงของมนุษย์ต่างดาวต่อไป

            ล่าสุดทางทีมงานโครงการวิจัยทางดาราศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโทรอนโต (Toronto) ประเทศแคนาดาได้ลงตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy  เมื่อเดือนมกราคม  ๒๕๖๖ ที่ผ่านมาได้ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI=Artificial Intelligence) เข้าช่วยให้การค้นหาสัญญาณจากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาว มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า และทีมนักวิจัยสามารถตรวจพบสัญญาณที่ต้องสงสัยว่ามาจากมนุษย์ต่างดาวได้ถึง 8 สัญญาณด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้นพบดาวฤกษ์ 5 ดวง ซึ่งอยู่ในระยะห่างจากโลกราว 30-90 ปีแสง มีลักษณะที่เข้าข่ายจะเป็นสัญญาณจากมนุษย์ต่างดาว เนื่องจากสัญญาณปรากฏอย่างชัดเจนขณะที่เล็งกล้องโทรทรรศน์วิทยุไปยังดาวที่เป็นต้นกำเนิด แต่สัญญาณกลับหายไปเมื่อหันกล้องโทรทรรศน์วิทยุไปทางอื่น ในขณะที่ดร.สตีฟ ครอฟต์ (Steve Croft) เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ของเซติหรือการค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากต่างดาว (Search for Extra-Terrestrial Intelligence) มีความเชี่ยวชาญด้านกล้องโทรทรรศน์วิทยุกรีนแบงก์(Green Bank Telescope) ได้อธิบายไว้ว่า นี่เป็นสิ่งพิสูจน์ว่ามันไม่ใช่สัญญาณรบกวนจากบนโลกมนุษย์เป็นแน่ที่จะปรากฏอยู่ตลอดเวลา แต่สัญญาณที่ AIค้นพบนี้ยังเปลี่ยนความถี่ได้อีกด้วยเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนว่ามันมาจากต้นกำเนิดที่ขยับตัวห่างออกไปเรื่อย ๆ  ถึงอย่างไรก็ตามก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสัญญาณที่ AIค้นพบนั้นมาจากมนุษย์ต่างดาว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าแปลกมาก แม้ใช้เครื่องมือที่ทันสมัยก็ยังไม่สามารถตรวจจับสัญญาณมนุษย์ต่างดาวได้

            จากที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นถึงทรรศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ในการยืนยันของมนุษย์ต่างดาวบางท่านก็ให้เหตุผลว่ามนุษย์ต่างดาวมีอยู่จริง บางท่านก็พยายามหาหลักฐานมายืนยันด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย การปรากฏในลักษณะนี้ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า การพิสูจน์สิ่งที่อยู่นอกโลก หรือสิ่งที่ลี้ลับ ยากที่จะหาคำตอบได้ คล้าย ๆกับการพิสูจน์การมีอยู่ของพญานาค ยักษ์ เทวดา พรหม ถ้าอยู่คนละภพ คนละภูมิ หรือคนละมิติยากที่จะพิสูจน์ได้ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์กล่าวคือวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้นั่นเอง มันไม่ต่างอะไรจากการที่จะพิสูจน์นรก สวรรค์ พรหมโลก ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ เช่นเดียวกับการค้นหามิติของมนุษย์ต่างดาว ยูเอฟโอ อีกนัยหนึ่งบางคนเขาบอกว่า ถ้ามนุษย์ต่างดาว และยูเอฟโอต้องการให้เห็นจริงๆ ก็เห็นกันแบบง่าย ๆ โดยไม่ต้องส่องกล้องหรือใช้เครื่องมือใด ๆ และบางคนใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการส่องดู แม้จะส่องทั้งวันก็ยังไม่เจอ แต่บางคนเขาก็บอกว่าเห็นได้ด้วยฌาน อภิญญา ซึ่งตามหลักพระพุทธศาสนาก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องเหล่านี้ บางท่านทรงฌาน อภิญญา หรือบางท่านสำเร็จมโนมยิทธิ (ฤทธิ์ทางใจ) บางท่านได้ทิพพจักขุญาณ (ตาทิพย์) ทิพพโสต (หูทิพย์) คนเหล่านี้ก็ยังพอมีอยู่บ้างในประเทศไทยเรา ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย ฉะนั้นคำว่าอภิญญาก็คือความรู้ยิ่ง หมายถึงปัญญาความรู้ที่สูงเหนือกว่าปกติ เป็นความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นจากการอบรมจิตหรือเจริญกรรมฐาน ผู้เขียนขอยกตัวอย่างในพระไตรปิฎกที่พระมหาโมลคัลลานะ เห็นอหิเปรตจึงได้ทำการยิ้มแย้มให้ปรากฏ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงเป็นพยานในการเห็นของพระเถระนั้น จึงตรัสว่าภิกษุทั้งหลายโมคคัลลานะพูดจริง (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พาลวรรคที่ ๕) จากบริบทนี้มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นพยานจึงเชื่อถือได้ แต่ทุกวันนี้ไม่มีพยานยืนยันก็หาว่าเพ้อเจ้อ พูดเป็นตุเป็นตะที่เราเห็นตามข่าวมีทั้งจริงบ้าง เท็จบ้าง ตัดต่อบ้าง ออกมาพูดตามรายการโทรทัศน์ว่าตนเองเห็นด้วยญาณทิพย์บ้าง ก็ต้องพิจารณาให้ดีก่อนเชื่อ ฉะนั้นการที่เราจะบอกว่าภพ ภูมิต่าง ๆ หรือมิติต่าง ๆ รวมถึงมนุษย์ต่างดาวมีอยู่จริงหรือไม่นั้น มันเป็นเรื่อง ปัจจัตตัง ที่รู้ได้เฉพาะตน หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องอจินไตยก็ได้หมายถึงสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยตรรกะสามัญของปุถุชนกล่าวคือเป็นเรื่องที่ไม่พึงคิดหริอจำแนกตรรกะลงไปได้ มี ๔ อย่างคือ

๑. พุทธวิสัย วิสัยแห่งความมหัศจรรย์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

๒. ฌานวิสัย วิสัยแห่งอิทธิฤทธิ์ของผู้มีฌาน ทั้งมนุษย์ และเทวดา

๓. กรรมวิสัย วิสัยของกฎแห่งกรรม และวิบากกรรม คือการให้ผลของกรรมที่สามารถติดตามไปได้ทุกชาติ

๔. โลกวิสัย วิสัยแห่งโลก คือการมีอยู่ของสวรรค์ นรก และสังสารวัฏ รวมถึงมิติต่าง ๆ ด้วย

                                                  (พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต อจินติตสูตร)

ทั้ง ๔ อย่างนี้ถือว่าเป็นเรื่องของทางจิตกล่าวคือเป็นเรื่องที่รู้ได้ด้วยการบรรลุธรรมชั้นสูงเท่านั้นและเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหาคำตอบให้สิ้นสุดได้ โดยเฉพาะวิสัยปุถุชนยากที่จะเข้าถึงได้หรือเข้าใจอย่างถ่องแท้ ฉะนั้นในทางพุทธศาสนาจึงจัดให้เป็นเรื่องอจินไตย ไม่ควรคิดมากจริงจังในการหาคำตอบเหล่านี้จากการคิดเดาเอาด้วยตรรกะเองอาจกลายเป็นคนบ้าได้เช่นเดียวกับเรื่องของมิติต่างๆ ของมนุษย์ต่างดาวหรือเอเลี่ยน แม้ทางวิทยาศาสตร์ก็ยังพิสูจน์ข้อเท็จจริงไม่ได้  จึงเป็นเหตุให้พวกฝรั่งสนใจเป็นอย่างมากในการค้นหาคำตอบเพื่อรู้เห็นและพิสูจน์ด้วยตนเอง ทุกวันนี้ผู้เขียนพบว่าพวกฝรั่งเขาพากันสนใจฝึกสมาธิพลังจักรวาล (cosmic energy)เพื่อเปิดจักระที่ ๖ อยู่ระหว่างคิ้ว หรือเรียกว่าตาที่ ๓ (third eye) เป็นการฝึกสมาธิกระตุ้นต่อมไพเนียล (pineal gland) ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อเล็กๆ อยู่เหนือสมอง อยู่บริเวณกึ่งกลางของสมองส่วนซีรีบรัมซ้ายและขวา วิธีฝึกเขาจะใช้ลมปราณกระตุ้นเพื่อเปิดต่อมไพเนียล เมื่อต่อมนี้เปิดใช้งานได้สามารถติดต่อสื่อสารกับมิติต่าง ๆได้ (ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมค้นหาเรื่องพลังจักรวาล จักระทั้ง ๗ ทางอินเตอร์เน็ตได้) นี่เป็นวิธีของฝรั่งที่นิยมฝึกกัน  แต่ถ้าเปรียบเทียบกับหลักพุทธศาสนาของเราจะใช้วิธีฝึกสมาธิแบบกสิณ (กสิณไฟ (เตโชกสิณ) กสิณแสงสว่าง (อาโลกกสิณ) กสิณสีขาว (โอทาตกสิณ) สามารถอ่านรายละเอียดได้ในวิสุทธิมรรค) กสิณทั้ง ๓ กองนี้เป็นการฝึกสมาธิเพื่อให้ได้ทิพพจักขุญาณนั่นเอง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบุญ บารมีหรือของเก่าที่เคยสั่งสมมาในอดีตชาติด้วย วัตถุประสงค์ในการฝึกก็เพื่อพิสูจน์การมีอยู่จริงของภพ ภูมิต่าง ๆ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ หรืออีกวิธีหนึ่งท่านสามารถไปฝึกมโนมยิทธิ ตามต้นฉบับของพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดทาซุงก็ได้ หรือท่านใดสนใจในเรื่องนี้จริงๆ ผู้เขียนขอแนะนำเข้าไปฝึกในกลุ่มโทรจิตการบิน เพื่อติดต่อสื่อสารกับมนุษย์ต่างดาวและ ยูเอฟโอ กลุ่มนี้พวกเขาทำภารกิจนี้โดยเฉพาะและสอนวิธีการฝึกให้ด้วย หรือไม่ท่านก็ไปฝึกสมาธิแบบพลังจักรวาลก็ได้ เพื่อเรียนรู้มิติต่าง ๆ หรือพลังงานที่อยู่รอบตัวเราเป็นการใช้สมาธิที่สามารถพิสูจน์ได้และสัมผัสถึงพลังงานได้ เช่น สถาบันพลังกายทิพย์เพื่อสุขภาพ สถาบันพลังจักรวาลแห่งประเทศไทย ฉะนั้นในสิ่งที่ผู้เขียนให้ข้อเสนอแนะไว้ข้างต้นนี้ ก็เพื่อให้ท่านที่สนใจในการฝึกสมาธิตรงตามจริตในเรื่องแบบนี้ได้ค้นหาคำตอบด้วยตนเอง เพราะสิ่งที่อยู่นอกโลก หรืออยู่คนละมิติ รวมถึง ภพ ภูมิ ต่าง ๆ มันเป็นเรื่องอจินไตย ยากที่จะใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ได้ มีทางเดียวคือจิตสู่จิตหรือใช้อำนาจของจิตนั่นเองในการพิสูจน์หาความจริง

ฉะนั้นเมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้ อยากให้ทุกท่านที่อ่านบทความนี้เปิดใจให้กว้างในเรื่องของมนุษย์ต่างดาวกับยูเอฟโอเช่นเดียวกับเรื่องนรก สวรรค์ สิ่งที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา ใช่ว่าสิ่งนั้นไม่มีจริง สิ่งใดก็ตามที่ถูกกล่าวขาน หรือถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์ของแต่ละศาสนาสิ่งนั้นเป็นไปได้ว่ามีอยู่จริง ทั้งนี้ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านลองตั้งสมมติฐาน เหมือนกับว่าเรากำลังทำงานวิจัยหนึ่งเรื่องคือเรื่องมนุษย์ต่างดาวกับยานยูเอฟโอ คำถามงานวิจัยก็คือว่า ถ้ามนุษย์ต่างดาวมีอยู่จริง พวกเขามาโลกมนุษย์ทำไม มาเพื่ออะไร หรือมีจุดประสงค์อะไรกันแน่ และมนุษย์ต่างดาวที่มานั้นจะต้องมีทั้งฝ่ายมืด (มิจฉาทิฏฐิ)และฝ่ายแสง (สัมมาทิฏฐิ) เป็นแน่ และมีวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณที่สูงมาก สูงกว่ามนุษย์หลายเท่าพร้อมวิทยาการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยกว่าของมนุษย์เป็นอย่างมาก เช่น การสร้างMed bed คือเตียงพลังงานควอนตัมที่สามารถรักษามนุษย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ เป็นไปได้ว่ามนุษย์ต่างดาวต้องมีหลายเผ่าพันธุ์ ถ้าเป็นฝ่ายแสง ส่วนมากพวกเขามาโลกมนุษย์เพื่อสำรวจพื้นที่ แร่ธาตุ ทดลองเรียนรู้ระบบชีวะวิทยาร่างกายของมนุษย์ และช่วยมนุษย์กล่าวคือช่วยพัฒนาด้านจิตวิญญาณและเทคโนโลยีไปพร้อมๆกัน และที่สำคัญพวกเขาจะมาคอยเตือนภัยพิบัติ สงครามที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าแก่มนุษย์ก็ได้ ส่วนฝ่ายมืดจะทำตรงกันข้ามกล่าวคือจะควบคุมมนุษย์ ควบคุมโลก ทำลายล้างและเข้าไปแทรกแซงทุกองค์กรทั่วโลก เปลี่ยนระบบต่าง ๆ ทำให้มนุษย์เป็นทาสอยู่ภายใต้การปกครองทุกรูปแบบ หรือทางฝรั่งเขาเรียกว่าเป็นทาสซาตานล้างโลก นี้คือการตั้งสมมติฐานเบื้องต้น ซึ่งสมมติฐานนั้นอาจเป็นจริงก็ได้ หรือไม่เป็นจริงก็ได้ ถ้าหากมนุษย์ต่างดาวบุกโลกจริง สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอฝากคำทำนายของนักโหราศาสตร์ระดับนอสตราดามุส (Nostradamus) ที่มีชื่อจริงว่า มีแชล เดอ นอสทร์ดาม (Michel de Nostredame) เขาเป็นชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นหมอดูที่มีชื่อเสียงของโลก จากหนังสือ "Les Propheties" เป็นหนังสือรวบรวมคำทำนายที่หลายคนเชื่อว่าสามารถทำนายเหตุการณ์ในอนาคตได้อย่างแม่นยำ ไม่มีพลาด โดยเฉพาะเรื่องมนุษย์ต่างดาวเขาทำนายว่าในอนาคตข้างหน้าอันใกล้นี้ มนุษย์ต่างดาวจะบุกโลกและเข้ามาปะปนอยู่ร่วมกับมนุษย์ จะเป็นจริงหรือไม่อย่างไรก็ต้องรอติดตามดูกันต่อไป ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับโลกมนุษย์นี้

 

References

Stephen William Hawking  (1983).  The Very Early Universe. Cambridge University Press.

Einstein, Albert (1924). "Quantentheorie des einatomigen idealen Gases (Quantum theory of monatomic ideal gases)", Sitzungsberichte der Preussichen Akademie der Wissenschaften Physikalisch-Mathematische Klasse: 261–267

The Astronomical Journal. American Institute of Physics; American Astronomical Society; University of Chicago. Press; Institute of Physics (Great Britain) Bristol, Eng. : Institute of Physics; Print began with v. 1 in Nov. 1849.; 1849

Alien and UFO retrieve from https://www.nsm.or.th/nsm/th/node/5475

https://www.catdumb.tv/alien-civilizations-may-have-explored-the-galaxy-and-visited-earth-already378/?fbclid=IwAR0pFWcsZjiCGG0OspvIgaXwOhs41CiORFqcDc5Iz7_YFcYVoizRxFhnYmA

https://www.bbc.com/thai/features-55497420

https://ngthai.com/science/48107/alienreal/?fbclid=IwAR1B048L4hWQi_A_Os9_LXXIRTDZUPhKEoTgIkEYosRu4S_IfTkbjjDE1I

https://board.postjung.com/1458090#shrefz1j7haz31u

https://www.bbc.com/thai/articles/cl5jd7n987yo

https://84000.org/

https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/tipitaka_seek.php?text=%A8%D1%A1%C3%C7%D2%C5&book=1&bookZ=45

 

 

 

 

บทความวารสารทางเดิน 2566

(เปรียญธรรมสมาคมแห่งประเทศไทย)

 

ดวงดีกับดวงไม่ดี สำคัญไฉน

โดย

 

พระมหาวีระ ปุญฺญวีโร, ดร.

ป.ธ. ๗  พธ.บ. (ภาษาอังกฤษ)

  ศศ.ม. (ภาษาศาสตร์) ปร.ด. (ภาษาศาสตร์)

ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอนงคาราม

 

การที่เราให้ความสำคัญกับดวงมากเกินไป จนลืมมองเห็นความสำคัญของคำว่าค่าของคนที่คนในสังคมปัจจุบันให้ความสำคัญน้อยมาก ไม่ว่าสังคมไหนก็ตาม ทุกวงการและทุกองค์กรจะลืมค่าของคนที่แท้จริงหรือคุณสมบัติในด้านการพิจารณาคัดเลือกบุคคลในหน้าที่ต่าง ๆ เช่น ด้านการงานก็ดี ด้านการศึกษาก็ดี รวมไปถึงการเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่งต่าง ๆ ทางสังคมก็ตาม แม้ว่าบุคคลนั้นจะมีความรู้ มีความสามารถก็จริง แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณาหรือถูกมองข้าม บางคนได้รับการพิจารณาก็จริง แต่จะถูกพิจารณาอยู่ในลำดับสุดท้ายหรือพลาดโอกาสไปก็มี  เพราะมีอำนาจบางอย่างทำให้คนในสังคมไม่คิดถึงค่าของคนที่แท้จริงทำให้บุคคลนั้น ๆเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เกิดความท้อแท้ เบื่อหน่าย หมดหวังในการดำเนินชีวิต จึงเป็นเหตุทำให้คนในสังคมพูดกันว่า คนนี้ดวงดี คนนั้นดวงไม่ดี พอพูดถึงคำว่า ดวง ทำให้ผู้เขียนได้ตระหนักถึงความหมายของคำว่าดวงที่คนในสังคมชอบพูดกันบ่อยมาก เมื่อเวลาไปสมัครงานก็ดี รับราชการก็ดี เลื่อนยศ หรือเลื่อนตำแหน่งต่าง ๆ ก็ดีมักทำให้มีคำว่า ดวง เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติของบุคคลนั้น ๆเป็นที่ตั้ง จึงเป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษ จึงขอแสดงความคิดเห็นและอธิบายเพิ่มเติมในมุมมองของผู้เขียนเองโดยอาศัยหลักจากการฟังและคำพูดที่คนในสังคมชอบพูดกันอยู่ทุกวันนี้ เมื่อผู้อ่านได้ยินคำว่าดวงดีและดวงไม่ดี  ต้องคิดไปถึงดวงที่มีความหมายทางโหราศาสตร์อย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะบอกถึงราศีแห่งดาวพระเคราะห์เคลื่อนเข้าสู่ราศีอื่น ๆ ในเวลาเกิดของคนหรือเวลาสร้างสิ่งสำคัญก็ตามใช่ไหม แต่ดวงในบทความนี้ผู้เขียนหมายถึงดวงที่มีความหมายโดยอ้อม ไม่ใช่ความหมายโดยตรงหรือความหมายโดยทั่วไปในทางโหราศาสตร์ที่กล่าวถึงโชคชะตา ราศีแห่งชีวิต เช่น ดวงการงาน ดวงความรัก ดวงการเงิน เป็นต้น นั่นก็คือดวงที่มีความหมายชี้บ่งเป็นนัยเป็นดวงที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมนิสัยของคนในสังคมที่กำลังกระทำอยู่ในปัจจุบันนี้ สามารถกำหนดชีวิตว่าจะก้าวหน้า ถอยหลัง ขึ้นหรือลง สุขหรือทุกข์ เสื่อมหรือเจริญ ขาดทุนหรือกำไรขึ้นอยู่กับดวงนี้ต่างหาก เพราะคนเราทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในวงการไหนหรือองค์กรไหนก็ตาม จะให้ความสำคัญกับคำว่า ดวง เป็นอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิต ซึ่งดวงนั้นจะมีทั้งดวงดีและดวงไม่ดีปะปนกันไปลองพิจารณาดูคำว่า ดวง คำนี้มีความหมายลึกซึ้งกินใจ น่าคิด สามารถแยกวิเคราะห์แต่ละพยัญชนะได้ดังนี้ เช่น ดวงดี  คืออะไร ดวงดีก็คือ

 ด หมายถึง ดี  ถามว่าอะไรดี ตอบว่า มีความรู้ดี  มีการศึกษาดี มีความสามารถดี มีความประพฤติดี

 ว หมายถึง วิชา คือมีวิชาความรู้ เรียนจบในระดับสูงทั้งทางโลกและทางธรรม มีวิสัยทัศน์ มองโลกในแง่ดี มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และที่สำคัญมีความซื่อสัตย์ที่ดี

 ง หมายถึง งาน คืองานดี งานเด่นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตา ขยันหมั่นเพียร ผลงานงดงามเข้าตากรรมการ เป็นต้น ส่วนดวงไม่ดีคืออะไร ดวงไม่ดีก็คือ

  ด  หมายถึง เด็กใคร  เส้นใคร สายใคร พรรคพวกใคร

  ว หมายถึง วิ่งเก่งไหม ขยันไปมาหาสู่หรือไม่ เลียแข้ง เลียขาเก่งไหม ประจบประแจงหรือเปล่า

  ง หมายถึง มีเงินหรือไม่ ใต้โต๊ะ บนโต๊ะ ใส่ซองหนาหรือไม่

เมื่อพิจารณาดวงดีกับดวงไม่ดีเป็นอย่างไรบ้าง สิ่งเหล่านี้ได้ถูกพูดกันในสังคมยุคปัจจุบันจนทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบระหว่างดวงดีกับดวงไม่ดีสำหรับดวงดีนั้นนักปราชญ์ท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า

ค่าของคน  อยู่ที่ผลของงาน

 ค่าของงาน   อยู่ที่การกระทำ

 ค่าของการกระทำ   อยู่ที่การทำดี

 ค่าของความดี   อยู่ที่มีคุณธรรมและจริยธรรม

  ส่วนดวงไม่ดี ก็ได้ถูกค่านิยมสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไปต่าง ๆ นานา ทำให้เกิดความลำเอียงถูกครหาในสังคมเราทุกวันนี้เช่นกันดังนี้

    ค่าของคน   อยู่ที่ผลของงาน ( เก่งจริง มีฝีมือดี)

    ค่าของคน   อยู่ที่คนของใคร ( เส้น สาย ใคร)

    ค่าของคน  อยู่ที่คุณมีอะไร ( ของที่จะให้ )

    ค่าของคน   อยู่ที่คุณมีเท่าไร (จำนวนเงินที่จะให้หรือซองหนาๆ)

เมื่อพิจารณาการเปรียบเทียบระหว่างดวงดีกับดวงไม่ดีแล้ว ทำให้เห็นค่านิยมทางสังคมเปลี่ยนไป ถ้าใครประสบกับดวงดีก็ถือว่าโชคดีไป แต่ถ้าใครประสบกับดวงไม่ดีก็ซวยไป อาจจะเกิดความท้อแท้ เบื่อหน่าย ผิดหวังหมดกำลังใจ หรือไม่พอใจในเมื่อตนเองพบเจอกับสิ่งนั้น ๆ เพราะฉะนั้นผู้เขียนขอแสดงความคิดเห็นกับคนดวงไม่ดีเป็นกรณีพิเศษ เพราะคนบางคน มีความรู้ คู่คุณธรรม เก่งจริง มีฝีมือดี  แต่ขาดเส้น(อาศัยวาสนาบารมีผู้หลักผู้ใหญ่) ขาดสาย (อาศัยพรรคพวก คนรู้จัก)  ขาดซอง (อาศัยอำนาจเงินเข้าช่วย ใต้โต๊ะ บนโต๊ะ ใต้น้ำหรือตามน้ำ) ก็ถือว่าไปไม่รอด หมดโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แม้กระทั่งยศถาบรรดาศักดิ์ ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนขอใช้คำว่าหลักการของ ๓ S (The principle of Three-S) ก็คือ1. เส้น  2.สาย  3.ซอง เป็นมุมมองที่ทำให้เกิดความเอนเอียงและไม่เป็นธรรม จึงเป็นเหตุทำให้คนในสังคมอยากมีความเจริญก้าวหน้าในทางลัด ซึ่งสังคมเราทุกวันนี้กำลังนิยมปฏิบัติกัน โดยมุ่งหวังลาภ ยศ  สุข และสรรเสริญ ที่ผู้ใหญ่จะหยิบยื่นให้ โดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรมและค่าของคนที่ดีงาม แม้ว่าคนบางคนจะทำงานไม่เป็น ไม่เคยเห็นประสบการณ์ เส้น สาย ไม่มี แต่อาศัยค่าของคนอยู่ที่คุณมีเท่าไร คนประเภทนี้ก็ถือว่าไปรอด เพราะอาศัยอำนาจเงินเป็นที่ตั้ง พอพูดถึงอำนาจเงินผู้เขียนขอหยิบยกคำที่ฝรั่งใช้พูดกันในการเปรียบเทียบเชิงอุปลักษณ์ (Metaphor) คือเปรียบสิ่งหนึ่งให้เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ได้แก่ คำว่า MONEY IS GOD เงินคือพระเจ้าหรือจะเรียกว่า พระเจ้าเงินตราก็ได้ หมายความว่า เราจะปรารถนาสารพัดในปฐพี เอามันนี่ (MONEY) แลกได้ดั่งใจหมาย ซึ่งตรงนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสเปรียบเงินคืออสรพิษไว้เช่นกัน เพราะเงินบันดาลให้ทั้งคุณและโทษดังต่อไปนี้

เงินทำให้งามหมายถึงเนรมิตได้ดั่งใจหมายบันดาลทุกสิ่งให้สวยสดงดงาม อลังการและตระการตา

เงินทำให้ง่ายหมายถึงไม่มีอุปสรรคขัดขวาง อยู่ก็สบาย ไปก็สะดวก ไม่ติดขัด ราบรื่น

เงินทำให้งอนหมายถึงให้น้อยไปก็ขัดใจ ไม่พอใจ ไม่ร่วมมือด้วย ไม่เข้าพรรคพวกด้วย

เงินทำให้หงายหมายถึงความลับที่ถูกปกปิดจะถูกเปิดเผย ที่ถูกปิดปาก ทำให้เปิดปากเปิดโปง ทำให้หู ตาสว่าง

เงินทำให้งกหมายถึง ไม่รู้จักคำว่า พอ ยิ่งได้ ยิ่งอยาก ยิ่งมาก ยิ่งโลภ ไม่มีที่สิ้นสุด

เงินทำให้งัดหมายถึงผลประโยชน์ไม่ลงตัว ส่วนได้ส่วนเสียไม่เท่ากัน ทำให้งัดข้อ ขัดแย้ง  เกลียด  แค้น ชิงชัง อาฆาตพยาบาท จองเวรกันไม่เลิก

เงินทำให้โง่หมายถึงเห็นกลับทำเป็นไม่เห็น รู้กลับทำเป็นไม่รู้ ผิดกลายเป็นถูก จากขัดใจกลายเป็นคล้อยตาม

เงินทำให้งง หมายถึง ได้เงินมาง่าย ๆ มากไป ทำให้ตกใจ ตั้งสติไม่ได้ ทำอะไรไม่ถูก ทั้งหมดนี้คืออำนาจของเงิน และยิ่งไปกว่านั้น เงินยังทำให้แตกแยก แตกสามัคคี ทำให้มิตรกลายเป็นศัตรู ทำให้คนอยู่บ้านหลังเดียวกันทะเลาะเบาะแว้งถึงกับฆ่ากันตายก็มากเพราะอำนาจเงิน

 จากที่กล่าวมาข้างต้นคืออำนาจของเงินทั้งนั้น ไม่แปลกเลยที่พระพุทธเจ้าเจ้าตรัสว่าเงินคืออสรพิษ ถ้าตกเป็นทาสของเงิน ใช้เงินโดยขาดปัญญาจะนำความเดือดร้อนมาให้ในภายหลัง สิ่งนี้เราเรียกว่าทรัพย์ภายนอกซึ่งเป็นของนอกกาย ไม่ตายก็หาใหม่ได้ แต่ถ้าใช้อย่างไม่มีสติ ขาดปัญญาอาจทำให้ชีวิตพังได้ ซึ่งจะให้ทั้งคุณและโทษก็ได้ เมื่อล่วงลับ ดับขันธ์ไปแล้วไม่สามารถติดตามตัวไปได้ ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า “น มิยฺยมานํ ธนมนฺเวติ กิญฺจิ” แปลว่า ทรัพย์ (ภายนอก) สักนิดก็ติดตามคนตายไปไม่ได้ ไม่เหมือนกับทรัพย์ภายในที่เรียกว่าอริยทรัพย์คือทรัพย์อันประเสริฐที่สามารถติดตามตัวไปในภพหน้าได้มีอยู่ ๗ อย่างด้วยกันดังนี้

๑. ศรัทธาคือมีความเชื่อที่เป็นเหตุเป็นผล มั่นใจในหลักที่ถือปฏิบัติและหลักในการทำความดี                        

๒. ศีลคือการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ประพฤติถูกต้องดีงาม ไม่ผิดทำนองคลองธรรม                                         

๓. หิริคือมีความละอายแก่ใจต่อการทำความชั่ว

๔. โอตตัปปะคือมีความเกรงกลัวต่อความชั่ว

๕. พาหุสัจจะคือความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก                                                  

๖. จาคะคือมีความเสียสละแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือผู้คน

๗. ปัญญาคือมีความรู้ความเข้าใจถ่องแท้ในเหตุผล ดีชั่ว ถูกผิด คุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ รู้คิด รู้สิ่งที่ตนพูด และรู้สิ่งที่ตนทำ รู้ดีทำดี รู้ชั่วเว้นชั่ว นี่คือความแตกต่างระหว่างทรัพย์ภายนอกและทรัพย์ภายใน เราจะเห็นว่าอริยทรัพย์ข้อที่ ๓ และ ๔ ถือว่าเป็นเทวธรรมได้แก่ธรรมของเทวดากล่าวคือเป็นธรรมที่ทำให้คนเป็นเทวดา ยิ่งไปกว่านั้นอริยทรัพย์นี้จะทำให้มนุษย์มีคุณค่าแห่งชีวิตที่สมบูรณ์ไปด้วยความดีงาม ๕ ประการ ดังพุทธสุภาษิตที่มาในอรรถกถาเชตวนสูตรว่า

กมฺมํ วิชฺชา จ ธมฺโม จ        สีลํ  ชีวิตมุตฺตมํ

เอเตน มจฺจา สุชฺฌนฺติ        น โคตฺเตน  ธเนน วา.

  แปลว่าการงาน วิชา ธรรม ศีล และชีวิตอันอุดม คนย่อมบริสุทธ์ดีงามไปด้วยธรรมทั้ง ๕ นี้ ไม่ใช่ ด้วยโคตร หรือด้วยทรัพย์สมบัติ ฯ

  (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ข้อ 276)

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบสำคัญที่บันดาลให้ทุกอย่างดีนั้นก็คือคุณธรรมและจริยธรรมที่มีอยู่ในจิตใจ หาใช่ทรัพย์ภายนอกไม่ ดังที่นักปราชญ์ท่านหนึ่งได้ประพันธ์ไว้น่าคิดว่า

       อันคนดี    มิใช่ดี           ด้วยที่ทรัพย์

       มีใช่นับ     โคตรเหง้า    เผ่าพงศา

       คนดีนี้      ดีด้วยการ     งานนาน

       อีกวิชา     ศีลธรรม      นำให้ดี

ผู้อ่านทั้งหลายจะเห็นว่า บางคนมีความรู้ คู่คุณธรรม ทำงานได้ดี มีความสามารถ แต่กลับไม่ได้รับโอกาสยากที่จะหาความเจริญก้าวหน้าในการงาน หรือในหน้าที่ต่าง ๆได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับคนบางคนที่มีเส้น สาย พรรคพวก เงิน กลับได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษซึ่งทำให้ค่าแห่งชีวิตเปลี่ยนไป ทุกองค์กร ทุกวงการ ถูกค่านิยมสมัยใหม่ลากจูงเปลี่ยนแปลงไปต่าง ๆ นานาจนทำให้เป็นที่รู้จักกันดีว่าค่าของคนไม่ใช่อยู่ที่ผลของงาน แต่ค่าของคนอยู่ที่คนของใครและค่าของคนอยู่ที่คุณมีเท่าไร  ดังนั้นอะไรก็ตามที่ทำให้เราสมหวังและประสบความสำเร็จในชีวิต เรามักพูดกันว่า ดวงดี อะไรที่ทำให้เราท้อแท้ เบื่อหน่าย หมดหวัง ทำอะไรก็ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต เราก็โทษว่า ดวงไม่ดี หรือโชคไม่ดี ทั้ง ๆที่ดวงดีหรือดวงไม่ดีขึ้นอยู่กับการกระทำทั้งนั้น เพราะฉะนั้นคำว่าดวง ตามความหมายชี้บ่งเป็นนัยที่ได้อธิบายไว้ตอนต้นนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะวิ่งไปหาดวงแบบไหน หรือจะยอมลดค่าของความเป็นคน เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่เราต้องการไม่สนใจอะไรทั้งนั้นขอให้ได้อย่างเดียวก็เป็นพอ อีกนัยหนึ่งคำว่าดวง ตามความหมายโดยตรงที่หมายถึงดวงชะตากำเนิด ซึ่งกำหนดความเป็นไปในชีวิตของบุคคลต่าง ๆ ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ เช่น ผูกดวง เรียกเต็มว่า ดวงชะตา ความเป็นไปในชีวิตตามกำหนดของดวงชะตา เช่น ดวงขึ้น ดวงตก (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๕๔) ซึ่งในทางพระพุทธศาสนามักสอนให้เชื่อในการกระทำของตนเองมากกว่าเชื่อเรื่องดวง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว (กรรม) เพราะดวงดีหรือดวงไม่ดีขึ้นอยู่ที่การกระทำเป็นหลัก สมมุติว่าอดีตไม่ขยัน ปัจจุบันไม่ขวนขวาย แบบนี้ไม่ต้องทำนายอนาคต ฟันธงได้เลยว่าไปไม่รอด ฉะนั้นทิศทางของชีวิตขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเองว่าจะไปทิศทางไหน เราเป็นผู้กำหนดชะตาเอง เราเป็นผู้สร้างเอง เราเป็นผู้สำเร็จเอง ไม่ใช่ให้หมอดูมากำหนดชะตาชีวิตของเรา ซึ่งในการกระทำนั้นทางพุทธศาสนาจะมีทั้งกรรมฝ่ายดีและกรรมฝ่ายชั่ว คนดวงดีขอให้เข้าใจตรงกันว่า เขาทำแต่กรรมดี และหมั่นสร้างกรรมดี สามารถเอาชนะความชั่วได้ ยิ่งทำดีมากเท่าไหร่ดวงก็ดีมากเท่านั้น ตรงกันข้ามถ้าเราทำแต่กรรมชั่ว เช่น คิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี มันก็จะมีแต่สิ่งที่ไม่ดีเข้ามาในชีวิต เพราะกฎจักรวาลและกฎของแรงดึงดูดไม่เคยกลั่นแกล้งใคร เราดึงดูดแบบไหนเราก็จะได้แบบนั้น ในเรื่องนี้ผู้เขียนขอยกเป็นอุทาหรณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลสักเล็กน้อย เพื่อประดับสติปัญญาของผู้อ่านคือว่ามีคนบางพวกเชื่อเรื่องอำนาจดลบันดาลโชคชะตากันมาก จนตั้งลัทธิกันขึ้นมาซึ่งสามารถสรุปได้ ๓ ลัทธิตามความเชื่อหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

๑.ลัทธิแรก พวกที่ถือว่าอะไร ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ก็เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อนที่แล้วมา พวกนี้ไม่เชื่อในกรรมใหม่ในชาติปัจจุบันที่ส่งผลด้วย ลัทธิของคนพวกนี้เรียกว่า ลัทธิปุพเพกตวาท จะเห็นว่าทัศนคติของคนลัทธินี้เชื่อกรรมเก่า แต่ไม่เชื่อกรรมใหม่ ก็ถือว่าขัดแย้งกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา

๒. ลัทธิที่สอง พวกนี้จะเชื่อว่าการที่คนเราจะเป็นอะไรก็ตาม จะดีหรือชั่ว จะจนหรือรวย ร่างกายพิกลพิการหรือสมบูรณ์นั้นขึ้นอยู่กับเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่บันดาล หรือพระเจ้าบันดาลให้ พวกนี้เรียกว่า อิสสรนิมมานเหตุวาทหรือลัทธิอิศวรนิรมิตวาท จากการวิเคราะห์ลัทธินี้ เชื่องมงาย ไม่มีเหตุผล ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างเทพเจ้าบันดาลให้ทั้งนั้นพวกนี้คือพวกเทวนิยม ซึ่งขัดแย้งกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก

๓. ลัทธิที่สาม ถือว่าสิ่งทั้งหลายอะไรจะเกิดขึ้น ไม่มีเหตุปัจจัย แล้วแต่ความบังเอิญที่เป็นไป ซึ่งเป็นลัทธิโชคชะตา พวกนี้เรียกว่า อเหตุอปัจจยวาทหรือลัทธิอเหตุวาท  จากการวิเคราะห์ลัทธินี้จะพบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะความบังเอิญหรือเพราะโชคชะตาเป็นตัวกำหนด ก็ถือว่าขัดกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเช่นกัน เพราะหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาสอนให้เชื่อเรื่องกรรม ไม่ว่าจะเป็นกรรมเก่าหรือกรรมใหม่ก็ตาม ผู้ทำจะต้องรับผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน และสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมหรือการกระทำของแต่ละบุคคลที่ได้ทำเอาไว้ และยังเป็นศาสนาแห่งการใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุ หาผลไม่ให้เชื่องมงายในอำนาจอื่นใดที่ดลบันดาลประทานให้จึงถูกจัดให้เป็นศาสนาแห่งอเทวนิยมกล่าวคือปฏิเสธเรื่องพระเจ้าผู้สร้างสรรพสิ่งในโลกหรือพระเจ้าเป็นผู้บันดาลให้

         ดังนั้นจากที่ได้อธิบายเรื่องดวงดีหรือดวงไม่ดีนั้นก็เพื่อเตือนสติ ให้ข้อคิดแก่คนในสังคมปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้า เป็นผู้บริหาร ทั้งทางโลกก็ดี ทั้งทางธรรมก็ดี ขอให้ตระหนักถึงค่าของคนเป็นสิ่งสำคัญถือว่าให้โอกาสคนดี มีความรู้ คู่คุณธรรม มีกำลังใจที่จะทำงานต่อไป เพราะสังคมเราทุกวันนี้มักเบื่อหน่าย หมดหวัง ท้อแท้ เมื่อได้ยินคำว่าคนนั้น คนนี้ดวงไม่ดี เพราะไม่มีเส้น ไม่มีสาย ไม่มีซอง แต่กลับไม่มองถึงคุณสมบัติและค่าของคนที่แท้จริง ซึ่งทางโลกเขาจะวัดกันที่สมบัติภายนอกก็จริง คือมีทรัพย์สมบัติ ความมั่งมี ฐานะ ตระกูล การศึกษา เป็นต้น ส่วนทางธรรมเราจะวัดกันที่สมบัติภายใน ก็คือ คุณงามความดี มีศีลธรรมและจริยธรรมเป็นที่ตั้ง ฉะนั้นแล้วถ้าคนเราในสังคมมีทั้งความรู้ควบคู่กับคุณธรรม ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่งในการทำงานหรือบริหารจัดการองค์กรนั้น ๆ นั่นหมายความว่า ได้ทั้งคนเก่งด้วยและได้ทั้งคนดีด้วย แต่ถ้าตรงกันข้าม คนบางประเภท ทำงานไม่เป็น แต่เส้นใหญ่ หรือคุณสมบัติไม่เพียงพอ แค่ขอมีซองหนา ๆ ก็นำพาชีวิตให้รอดได้ ซึ่งตรงกับภาษิตที่ขงจื้อเตือนตอนหนึ่งไว้ว่า “อย่าห่วงว่าใครไม่รู้ว่าท่านเก่ง หรือมีความรู้ มีความสามารถ จงห่วงแต่ว่า สักวันหนึ่งเมื่อคนเขายกย่องหรือเลื่อนตำแหน่งท่าน ท่านมีความเก่งและความสามารถสมกับที่เขายกย่องหรือเลื่อนตำแหน่งให้หรือไม่” ภาษิตนี้น่าเก็บไปคิด  โดยอย่าไปยึดติดกับอำนาจเงินตราเป็นที่ตั้งเป็นที่ตัดสินเพียงเท่านี้คนในประเทศชาติจะมีคนดีมากกว่าคนเก่ง หรือมีทั้งคนดีและคนเก่งเต็มบ้านเต็มเมือง และประเทศชาติก็จะเจริญก้าวหน้าเพราะคนเรามีทั้งคุณธรรมและจริยธรรมนั่นเอง

 


 

 

บทความที่ลงในหนังสือวิสาขบูชาปี 2564

 

เรื่อง...ไปไม่รอด!!

 

โดย

พระมหาวีระ ปุญฺญวีโร

(ป.ธ.๗ พธ.บ., ศศ.ม.)

ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอนงคาราม

 

 

 

การเป็นอยู่ทุกวันนี้ เรามักจะเจอเรื่องราวต่างๆ ที่เข้ามากระทบจิตใจ ทำให้เกิดความพอใจบ้างไม่พอใจบ้าง ก็มีส่วนทำให้จิตใจหดหู่ เศร้าสร้อยก่อให้เกิดความสะเทือนใจ เป็นทุกข์ก็ว่าได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าใครมีสติ มีปัญญา พิจารณามากกว่ากันโดยเฉพาะการเสพข่าวทุกวันนี้ถ้าไม่พิจารณาไตร่ตรองให้ดีๆ อาจทำให้เป็นโรคเครียดโดยไม่รู้ตัวก็ได้ เพราะเมื่อเราเอาจิตไปฝักไฝ่ ไม่ว่าจะเป็นทางโทรทัศน์ โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ทุกวันนี้ ทุกเพศ ทุกวัยสามารถเข้าถึงได้รวดเร็วทันใจ  เป็นสื่อที่คนจำนวนมากเลือกใช้ในการเกาะติดสถานการณ์เสพข่าวสารต่างๆ อย่างไรก็ดี เมื่อเราเสพข่าวแล้ว ก็ต้องใช้สติ และปัญญาให้มาก อย่าใช้แต่ศรัทธาอย่างเดียว จนทำให้เกิดความหลงงมงาย ต้องใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุหาผลด้วย เพราะทุกวันนี้เราได้ยินอะไร ได้เห็นอะไร เราชาวพุทธมักเชื่อกันด้วยความหลงงมงาย โดยเฉพาะมีข่าวที่ว่า มีคนที่สามารถทำให้เราร่ำรวยได้ แก้กรรมให้เราได้ ทำให้เราหายโรคภัย ไข้เจ็บได้ สะเดาะเคราะห์ให้เราได้ เรามักชอบไปในทางนั้น เสียเงินเสียทองเท่าไหร่ไม่ว่ากัน ซึ่งมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน มันมีแต่เรื่องแปลกๆ น่าตื่นตาตื่นใจทั้งนั้น รวมไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราอีกด้วย  เมื่อมันเป็นแบบนี้จะไปรอดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับท่านทั้งหลายแล้วแหละว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งผู้เขียนได้ประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมเราทุกวันนี้มีดังนี้

๑.     พุทธสาวกมีพฤติกรรมวิกล

๒.     ศาสนิกชนมีศีลธรรมวิบัติ

 ๓.  ศาสน์ กษัตริย์ เกิดความพินาศ

๔.    ผู้นำขาดคุณธรรม

            เมื่อพิจารณาตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมเรา บ้างข้อก็ได้เกิดขึ้นแล้ว และบางข้อกำลังเกิขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้หนทางที่จะไปต่อหรือไปรอดนั้นอาจจะยาก ฉะนั้นแล้วมันจะเสื่อมหรือเจริญขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยทั้ง ๔ ข้อนี้ไม่ว่าจะเป็นทางธรรมก็ดี ทางโลกก็ดี ถ้าพิจารณาโดยละเอียดเราจะเห็นได้ดังนี้

1.พุทธสาวกมีพฤติกรรมวิกล 

          คำว่าพุทธสาวกในที่นี้หมายเอาพุทธบริษัทไม่ว่าจะเป็นภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา สังเกตว่าทุกวันนี้มีพฤติกรรมแปลกๆ มีหลากหลายกรณีที่เกิดขึ้นในสังคมเรา ซึ่งผู้เขียนขอหยิบยกมากล่าวสัก ๒-๓ กรณีเพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่เราท่านทั้งหลาย จะได้ไม่หลงเชื่อ และมีสติในการดำเนินชีวิตอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะผู้นำจิตวิญญาณคือพระสงฆ์ผู้เผยแผ่หลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชอบทำอะไรพิกลๆ นอกรีตนอกรอย ทำอะไรที่ผิดหลักคำสอนอยู่เรื่อย ๆ เช่น พาญาติโยมดำน้ำทำฉี่หอม หรือฝึกสมาธิแบบสะเทินน้ำสะเทินบก จัดกิจกรรมคู่รักเข้าสู่ธรรมในสถานที่ปฏิบัติธรรม ซึ่งฟังดูแล้ว มันแปลกๆ ไปกันใหญ่แล้ว ขัดต่อหลักธรรมคำสอนอย่างมาก ในส่วนประเด็นนี้ผู้เขียนจะไม่ไปวิจารณ์อะไรมาก เพราะว่าในฐานะเราเป็นปัญญาชน เป็นชาวพุทธที่เข้าถึงหลักธรรมคำสอนอย่างแท้จริง ต้องมีศรัทธาและปัญญาควบคู่กันไป ไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ และให้พิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการเท่านั้น นั่นหมายความว่า การใช้ความคิดที่ถูกวิธี กล่าวคือ การพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วน (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, ๒๕๔๙ หน้า ๕๗)  เพื่อหาเหตุหาผลตามความเป็นจริงแล้วค่อยเชื่อ ไม่ใช่ใครพูดอะไร ใครสอนอะไรก็เชื่อมไปหมด โดยเฉพาะสำนักต่างๆ มีอะไรให้เห็นแปลกๆอยู่เรื่อย ๆ ไม่ใช่ฟังแล้วเชื่อทันที ต้องพิจารณาดูให้ดี ส่วนมากญาติโยมทั้งหลายเห็นว่าเป็นพระสงฆ์สอน หรือชี้ทางให้ก็เชื่อทันที โดยไม่ได้พิจารณาให้ดีว่าทุกวันนี้ของจริงก็มี ของปลอมก็มาก ต้องระวังให้ดี ถ้าอยากไปปฏิบัติธรรม ก็ดูสำนักให้ดีๆ สายหลวงปู่ หลวงพ่ออะไร ใช้แนวทางไหนในการสอนสมาธิภาวนาถูกกับจริตเราไหม หรือถ้าจะให้ชัวร์ก็เช็ครูปแบบการปฏิบัติหรือเทียบเคียงในพระไตรปิฎกก่อนก็ได้ค่อยไปจะได้ไม่ผิดหวัง เสียความรู้สึก หรือถามผู้รู้ก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้รู้จริงๆ ไม่ใช่งูๆ ปลาๆ ส่วนสำนักไหนบอกว่า มาที่นี่แล้ว รักษาโรคหายขาด ก็ต้องเช็คให้ดีๆอีกเช่นกัน ว่าเขามีวิธีทำอย่างไร มันผิดแปลกจากความเป็นจริงไหม ขัดต่อหลักธรรมคำสอนหรือไม่ ถ้าฟังดูแล้วมันทะแม่งๆ ไม่ต้องไป จะได้ไม่ถูกหลอก เสียเงินเสียทองในภายเหลัง ถ้าจะว่ากันจริงๆแล้ว ในเรื่องการปฏิบัติธรรมนี้ มันเป็นเรื่องของการฝึกจิตใจ การที่เราไปสำนักต่างๆ ก็เพื่อไปฟังคำแนะนำวิธีปฏิบัติเท่านั้น จะทำได้มากหรือ ได้น้อยขึ้นอยู่แต่ละบุคคลนั้นๆมากกว่า ใครทำใครได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า อกฺขาตาโร ตถาคตา แปลว่าตถาคตเป็นเพียงผู้บอกเท่านั้น นอกนั้นต้องพากันปฏิบัติเอง ทำเองถึงจะได้ผล ไม่มีใครอุ้มท่านไปสวรรค์ ไปนิพพานได้หรอก นอกเสียจากว่า ท่านต้องไปด้วยตัวท่านเอง ทุกวันนี้เทคโนโลยีทันสมัยฟังเสียงจากยูทูปก็ได้ เราศรัทธาองค์ไหนชอบองค์ไหนก็เข้าไปฟังและก็นำมาปฏิบัติตามคำสอนของท่านก็ได้ ประหนึ่งว่าเราฟังท่านสอนหรือเทศน์อยู่ข้างหน้าเรา และเมื่อฟังก็ให้คิดตาม และนำไปปฏิบัติด้วย ไม่จำเป็นต้องไปสำนักนั้น สำนักนี้ก็ได้ ถ้าใจท่านไม่สงบจะอยู่วัดหรืออยู่บ้านมันก็ไม่ต่างกัน การที่เราไปวัดต่างๆ ก็เพื่อไปทำบุญมากกว่า แต่ถ้าจะปฏิบัติธรรมจริงๆ ก็ต้องปลีกวิเวก อยู่ตามป่า ตามเขา ตามถ้ำ แต่ถ้าไม่สะดวก หรือมีภาระทางโลกมากมาย เพียงแค่ทำบ้านให้เป็นวัด  ทำใจให้เป็นพระ หมั่นขัดเกลาจิตใจให้อยู่ในศีลในธรรมก็พอแล้ว บางคนศีล ๕ ยังไม่ผ่าน อยากไปนิพพาน ประเด็นนนี้ฝากให้ท่านพิจารณาก็แล้วกัน  ส่วนอีกกรณีหนึ่ง มีข่าวพระภิกษุตัดศีรษะตนเองเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อจะได้บรรลุปัจเจกโพธิญาณ หรือ ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในอนาคตกาล ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดๆ เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างแรง ผู้เขียนมองว่า ไม่ป่วยจิต ก็จิตวิปลาสแน่ๆ แทนที่จะมุ่งปฏิบัติขัดเกลาตัดกิเลสอาสาวะให้ขาดสิ้นไป น่าจะดีกว่าและน่าสรรเสริญด้วย ไม่ใช่ไปตัดศีรษะแบบนั้น ในส่วนประเด็นนี้ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า ถ้าพระสงฆ์สามเณรทุกวันนี้ไม่ศึกษาปริยัติให้แตกฉาน ขาดการปฏิบัติที่ถูกต้อง  ไม่ไตร่ตรองตามพระไตรปิฎก ส่วนมากมักปฏิบัติผิดทางได้ง่าย และที่สำคัญสอนให้ญาติโยมปฏิบัติผิดอีกด้วย ฝากให้ท่านพิจารณาให้ดี ประเด็นนี้ยังมีอีกเยอะ เพียงแต่ข่าวยังไม่ออกเท่านั้น และยังมีอีกกรณีหนึ่งก็ใช้เป็นอุทาหรณ์เตือนสติได้อีกเช่นเดียวกันที่มีข่าวเกิดขึ้นในสังคมเราทำให้ชาวพุทธตื่นตาตื่นใจเหมือนกันที่มีการอ้างตนว่า เป็นพระศรีอริยเมตไตรย  ผู้เขียนได้ยิน ได้ฟังข่าวนี้ครั้งแรก รู้สึกตลกขำขันมาก สงสารบุคคลประเภทนี้จริงๆ เล่นของสูง ไปกันใหญ่แล้ว พวกที่เชื่อก็เยอะ สาวกก็มากมาย สมัยที่ผู้เขียนเป็นสามเณรเคยได้ยินแต่เขาพูดกันว่าพระอริยะโผล่ที่โน้น พระอรหันต์อยู่นี่ องค์นี้เป็นพระอริยะ องค์นั้นเป็นพระอรหันต์  เอาจริงๆแล้วมีแต่พระอรหันต์ขี้เหล้าขี้ยา พระอรหันต์กามาทั้งนั้น ถ้าพระอรหันต์จริงๆ เขาไม่โอ้อวดหรอกนี่มันหนักกว่าพระอรหันต์อีกอ้างตนเป็นพระศรีอริยเมตไตรย  ทำตัวเป็นผู้วิเศษเทียบกับพระพุทธเจ้า  ประเด็นนี้ถ้าคนเรามีปัญญาพิจารณาตามหลักคำสอนที่ถูกต้องดีแล้ว ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ถ้าคนที่โง่เขลา เบาปัญญา  หลอกง่าย งมงาย น่าเป็นห่วงมาก อย่างไรก็ดีขอฝากให้เราชาวพุทธทุกท่าน รู้เท่า รู้ทัน ไม่หวั่นไหว  ถือว่ารู้เท่าเอาไว้กัน รู้ทันเอาไว้แก้ ในส่วนประเด็นการอุบัติขึ้นของพระศรีอริยเมตไตรย ผู้เขียนจะไม่นำมาอธิบายเพราะยาวมาก ขอให้ท่านที่สนใจเรื่องนี้ไปเปิดพระไตรปิฎกศึกษาก็แล้วกัน (อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑  ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) แต่ผู้เขียนขอบอกไว้ก่อนว่าตอนนี้เรายังอยู่ในยุคพุทธศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้า อย่าพากันหลงเชื่ออะไรง่ายๆ  และในหัวข้อต่อไปจะได้กล่าวถึงศีลธรรมก็มีผลสืบเนื่องกันกับข้อที่ ๑  มีส่วนทำให้คนเราคิดผิด เห็นผิด ปฏิบัติผิดทางได้เช่นกันดังนี้

๒. ศาสนิกชนมีศีลธรรมวิบัติ

            ในส่วนข้อนี้ก็ถือว่าสำคัญมาก ถ้าเราไม่ยึดศีลธรรมประจำใจ ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นในสังคม บ้านเมืองเรา แน่นอนไม่อายชั่วกลัวบาป คำว่าศาสนิกชน ในที่นี้ผู้เขียนหมายถึงทุกศาสนา ถ้าแต่ละศาสนาต่างยึดในหลักคำสอนของตนที่ถูกต้อง ปฏิบัติตามแนวทางหลักคำสอนของตนๆ ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะทุกศาสนาต่างสอนให้ทุกคนเป็นคนดีทั้งนั้น ให้มีศีลธรรมในการดำเนินชีวิต ซึ่งคำว่าศีลและธรรมในที่นี้ผู้เขียนหมายเอา เบญจศีล และเบญจธรรมในหลักคำสอนทางพุทธศาสนาเป็นหลัก ถ้ามนุษย์เราไม่มีศีลธรรมแล้ว ความวิบัติก็จะตามมา ดังคำที่หลวงพ่อพุทธทาส กล่าวไว้ว่า “ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ” อันนี้เป็นเรื่องจริง ทุกวันนี้เราสังเกตว่าศีล ๕ ข้อนี่แหละ เป็นตัวชี้วัดความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ถ้ามนุษย์เราฆ่าข่มเหง เบียดเบียนกัน ฉกชิงวิ่งราว ฉ้อราษฎร์ บังหลวง โกงกินคอรัปชั่น (corruption) ไม่มั่นคงในคู่ชีวิต มักมากในกาม ตามใจอยาก  มากคู่ ชอบดูถูก ด่าว่า ติฉินนินทาให้ร้ายผู้อื่น และลุ่มหลง มัวเมา ใช้ชีวิตไปด้วยความประมาท ไม่มีสติในการเป็นอยู่  จนเป็นเหตุทำให้บ้านเมืองไม่เกิดสันติสุข เกิดอาชญากรรมอยู่บ่อยครั้งก็เพราะคนเราขาดศีล ๕ นี่เอง ถ้าเราแบ่งศีล ๕ให้เป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์กับความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ สมมุติว่าเรามีศีลครบ ๕ ข้อ เป็นมนุษย์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเรามีศีล ๔ ข้อ ความเป็นมนุษย์เหลือ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเรามีศีล ๓ ข้อ ความเป็นมนุษย์เหลือ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเรามีศีล ๒ ข้อ ความเป็นมนุษย์เหลือ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเรามีศีล ๑ ข้อความเป็นมนุษย์เหลือ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ และถ้าไม่มีสักข้อเลย หรือละเมิดศีลทั้ง ๕ ข้อหรือขาดหมดทุกข้อเป็นประจำ ความเป็นมนุษย์เหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์ มันก็ไม่ต่างอะไรจากสัตว์เดรัจฉาน  เพราะสัตว์เดรัจฉานไม่มีศีลธรรมประจำใจ ไม่รู้จักผิดชอบ ชั่ว ดี แต่ถ้าเราหันมาใส่ใจในเรื่องศีล ๕  ซึ่งเป็นศีลพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ผลหรืออานิสงส์จากการรักษาศีล ๕ ก็จะบังเกิดมีแก่เราท่านทั้งหลายหรือที่เรียกว่าเบญจธรรมคือ ๑.ทำให้เราเป็นคนมีเมตตา กรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ รวมถึงสัตว์เดรัจฉานด้วย เพราะทุกชีวิตต่างก็รักตัวกลัวตายเช่นเดียวกัน ๒. ก่อให้เกิดสัมมาอาชีพ กล่าวคือทำให้เราประกอบอาชีพที่สุจริต ไม่คดโกงผู้อื่น ๓. ทำให้เราสำรวมระวังไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ตามใจอยาก ไม่มากคู่เคียง ครอบครัวก็จะอยู่เย็นเป็นสุข ๔. ทำให้เราเป็นคนมีความซื่อสัตย์สุจริต พูดจริง ทำจริง ไม่เหลาะแหละ  ๕. ทำให้เรามีสติ ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ไม่ทำให้ชีวิตตกต่ำ ฉะนั้น ผู้เขียนอยากให้ให้ผู้อ่านทุกท่านได้ตระหนัก หรือใส่ใจในเรื่องศีล ๕ เป็นสำคัญ ถ้าสมมุติว่า ต่างคนต่างทำประกันชีวิตแบบไม่ต้องเสียเงิน หรือไม่ต้องลงทุนใดๆ ด้วยการรักษาศีลข้อที่ ๑ ทำประกันทรัพย์สินด้วยการรักษาศีลข้อที่ ๒  ทำประกันครอบครัวด้วยการรักษาศีลข้อที่ ๓ ทำประกันสังคมด้วยการรักษาศีลข้อที่ ๔ และทำประกันสุขภาพด้วยการรักษาศีลข้อที่ ๕ เท่านี้สังคมประเทศชาติ บ้านเมืองก็จะน่าอยู่ และสงบ ร่มเย็น เป็นสุขมาก ดังนั้นเมื่อศีลธรรมกลับมา โลกาก็จะไม่วินาศ ไม่เดือดร้อน วุ่นวายเหมือนทุกวันนี้ ซึ่งปัจจุบันนี้ท่านเชื่อหรือไม่ว่า โรคภัยทั้งหลายที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา ไม่หายขาดสักที เช่น โรคโควิด ๑๙ (Coronavirus Disease ๒๐๑๙) มันเป็นโรคกรรมอย่างหนึ่ง หรือจะเรียกว่าโรคเชื้อกรรมลบ(อกุศลกรรม ปาณาติบาต)ก็ได้ ที่มันเกิดขึ้นพร้อมกับความวิบัติแห่งศีลธรรม ลองพิจารณาดูดีๆ โรคนี้มาจากไหน จากใคร ให้พิจารณาเฉพาะในประเทศเรานี่แหละเป็นหลัก เราจะเห็นว่า โรคนี้มันจากแหล่งอบายมุขทั้งนั้นเช่น ๑.สนามมวย  ๒.แรงงานเถื่อน  ๓.บ่อนการพนัน ๔.เลาจน์ไฮโซทองหล่อ คริสตัลคลับที่ติดคนรวย  ผลสุดท้ายซวยกันทั้งประเทศ ท่านจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ว่ามันเป็นโรคกรรมอย่างหนึ่ง ยากที่จะหายขาดได้ ตราบใดที่มนุษย์ยังไร้ศีลธรรมอยู่อย่างนี้ ถึงมีวัคซีนให้ท่านฉีด ใช่ว่าท่านจะไม่ติดโรคอีก หรือโรคนี้จะหายไปจากประเทศเรา เอาเป็นว่าก่อนจะฉีดวัคซีนโควิด ให้ท่านฉีดวิตามินทางจิตใจ และเพิ่มโปรตีนทางสติปัญญาก่อนน่าจะดี ผู้เขียนขอยืนยันอีกว่า คนที่หมั่นสวดมนต์ เจริญสมาธิภาวนา แผ่เมตตาเป็นประจำ และมีศีลธรรมประจำใจ โรคนี้จะไม่เข้าใกล้อย่างแน่นอน และในหัวข้อต่อไปจะได้กล่าวถึงสิ่งที่สำคัญอีกหัวข้อหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญกับพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จะไปรอดหรือไม่รอดก็ต้องอาศัยข้อนี้เป็นสำคัญ

๓.ศาสน์ กษัตริย์ เกิดความพินาศ 

          เราสังเกตว่าพระพุทธศาสนาในประเทศไทยเราอยู่ได้ เพราะอาศัยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ทรงทำนุบำรุง ส่งเสริม สนับสนุนพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑  พระองค์ทรงตั้งพระราชปณิธานไว้ว่า “ตั้งใจจะอุปถัมภก   ยอยกพระศาสนา จะป้องกันขอบขัณฑสีมา  รักษาประชาชนแลมนตรี” จากพระราชปณิธานนี้ แสดงให้เห็นถึงน้ำพระทัย ที่ยืดมั่นในบวรพระพุทธศาสนา และพระอัจฉริยภาพในการปกครองของพระองค์ อีกทั้งแสดงให้เห็นถึงความตั้งมั่นและความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยต่อไป แม้ในพระไตรปิฎกยังได้กล่าวถึงคุณธรรมของพระมหากษัตริย์ ดังที่ปรากฏในสุมังคลชาดกว่า

๑.     ทรงรู้ว่ากำลังกริ้วจัดไม่พึงลงอาชญา อันไม่สมควรแก่ตนโดยไม่ใช่ฐานะก่อน พึงเพิกถอนความทุกข์ของผู้อื่นอย่างร้ายแรง

๒.     ทรงใคร่ครวญ ความผิดที่ผู้อื่นทำไว้ พิจารณาให้เห็นแจ่มแจ้งด้วยตนเองว่า นี่ส่วนประโยชน์ นี่ส่วนโทษ

๓.     ไม่ถูกอคติครอบงำ ย่อมแนะนำผู้อื่นที่ควรแนะนำ และไม่ควรแนะนำได้ ทรงลงอาชญาสมควรแก่โทษ ชื่อว่ามีคุณงามความดีคุ้มครองแล้ว ย่อมไม่เสื่อมจากศิริเมื่อถูกอคติครอบงำไม่ทรงพิจารณาเสียก่อนแล้วทำไป ทรงลงอาชญาโดยผลุนผลัน กษัตริย์เหล่านั้นประกอบไปด้วยโทษน่าติเตียน ย่อมละทิ้งชีวิตไป และพ้นไปจากโลกนี้แล้ว ย่อมไปสู่ทุคติ

๕.     ทรงยินดีแล้วในทศพิธราชธรรม ( ทาน ศีล บริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน  ความอดทน ความเที่ยงธรรม ไม่ทำผิดเสียเอง) อันพระอริยเจ้าประกาศไว้ เป็นผู้ประเสริฐด้วยกาย วาจา และใจ ทรงดำรงมั่นอยู่แล้วในขันติ โสรัจจะ และสมาธิ

๖.     ทรงเป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ถ้าเราโกรธขึ้นมา เราก็ตั้งตนไว้ในแบบอย่างที่โบราณราชแต่งตั้งไว้ คอยห้ามปรามประชาชนอยู่อย่างนั้น ลงอาชญาโดยอุบายอันแยบคายด้วยความเอ็นดู

๗.     ทรงเป็นชนาธิปัติ บริวารสมบัติและปัญญา มิได้มักกริ้วโกรธ มีพระหฤทัยผ่องใสอยู่เป็นนิจ

  ขอพระองค์ทรงปราศจากทุกข์ บำรุงพระชนม์ชีพยืนอยู่ตลอดร้อยพรรษาเถิด

๘.     ขอพระองค์ทรงประกอบด้วยคุณธรรมเหล่านี้ คือ โบราณราชวัตร มั่นคงทรงอนุญาตให้เหล่าชนเตือนได้ ไม่ทรงกริ้วโกรธมีความสุข สำราญ ไม่เดือดร้อน ปกครองแผ่นดินให้ร่มเย็น แม้จุติจากโลกนี้ไปแล้ก็จงทรงถึงสุคติเถิด

๙.     ทรงฉลาดในอุบาย เมื่อครองราชสมบัติด้วยอุบายอันเป็นธรรม คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ อันบัณฑิตแนะนำกล่าวไว้ดีแล้วอย่างนี้ พึงยังมหาชนผู้กำเริบร้อนกายและจิตให้ดับหายไป เหมือนมหาเมฆยัง แผ่นดินให้ชุ่มชื่นด้วยน้ำ ฉะนั้น

                                                                     (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑)

            นอกจากนี้เรายังเห็นว่า พระมหากษัตริย์ทุกๆพระองค์ จะให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนาอย่างดียิ่งตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์ สามเณร ไม่ทรงทอดทิ้งพระศาสนา แต่ถ้ามองอีกมุมมองหนึ่งสมมุติว่า สถานบันกษัตริย์เกิดความสั่นคลอน ไปไม่รอด จนถึงความพินาศ กล่าวคือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการปกครอง แน่ใจหรือว่าจะไม่มีผลกระทบต่อพุทธศาสนา แน่นอนพุทธศาสนาก็จะขาดศาสนูปถัมภก อย่าลืมว่าสถาบันศาสนาเราอยู่ได้ ต้องอาศัยสถาบันพระมหากษัตริย์ค้ำจุน แม้แต่ในสมัยพุทธกาลพระมหากษัตริย์กับพุทธศาสนาก็มีความสัมพันธ์กัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการอุปถัมภ์ ส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เช่นในสมัยพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศ พระเจ้าอชาตศัตรู ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า พระมหากษัตริย์ก็มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ไม่รู้ว่าในอนาคตพุทธศาสนาในประเทศไทยจะเป็นอย่างไรและในส่วนหัวข้อสุดท้ายก็มีความสัมพันธ์กันในเรื่องของการปกครองประเทศชาติบ้านเมืองเพื่อให้เกิดสันติสุขซึ่งก็ต้องอาศัยหลักธรรมเข้าช่วยเช่นเดียวกัน

๔.ผู้นำขาดคุณธรรม 

          คำว่าผู้นำในที่นี้หมายเอา ผู้นําทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำระดับท้องถิ่น ระดับชุมชน ไปจนถึงผู้นำระดับประเทศ กล่าวคือผู้ที่สามารถมีอิทธิพลเหนือผู้อื่นและมีบุคคลยอมรับนับถือและเชื่อฟังให้ความร่วมมือจากผู้ใต้บังคับบัญชา (ชูศักดิ์  เอกเพชร,๒๕๖๑ หน้า ๑) แต่อย่างไรก็ดี เป็นผู้นำได้ก็ต้องมีภาวะความเป็นผู้นำด้วย นั่นหมายความว่า จะต้องมีความสามารถในการปฏิบัติงาน เพื่อให้งานนั้นๆ สำเร็จ ลุล่วงไปด้วยดี ไม่ใช่โง่เขลา เบาปัญญา ขาดวิสัยทัศน์ ไม่ทันโลก ตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จไปวันๆ ส่วนมากที่สังเกตเห็นได้ในบ้านเมืองเรา มีแต่คนเก่งๆทั้งนั้น มีความรู้ความสามารถเพรียบพร้อม แต่หาคนที่มีคุณธรรมจริยธรรมแทบไม่มี โดยเฉพาะความซื่อสัตย์สุจริตและความยุติธรรม ถ้าขาดหลักธรรม ๒ ข้อนี้แล้วทำให้ประเทศชาติไม่พัฒนาและก็ไม่เจริญก้าวหน้าอีกด้วย ไม่ก้าวหน้าไม่เท่าไหร่  แต่ทำให้ประเทศชาติล่มจมด้วยซ้ำ สุดท้ายไปไม่รอด ประเด็นนี้แหละน่ากลัวมาก ไม่ใช่มัวแต่กอบ โกย โกง กิน ประเภทที่ว่าเอาดีเข้าตัว เอาชั่วให้คนอื่น เห็นแล้วน่าสมเพชมาก ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญไม่ใช่แค่มีความรู้ ความสามารถในการบริหารหรือปกครองได้เท่านั้น ต้องมีคุณธรรมจริยธรรมด้วย จนทุกวันนี้เด็กรุ่นลูกรุ่นหลานถือป้ายเขียนตัวเท่าหม้อแกงว่า “สอนหนูจัง โตไปไม่โกง แก่จะลงโลง ยังโกงอยู่เลย” บางครั้งสิ่งที่แสดงออกมา ไม่สนใจใครทั้งนั้น ข้าพเจ้ามีอำนาจซะอย่าง ใครจะทำไม ซึ่งในเรื่องการปกครองและการบริหารนี้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงให้ความสำคัญกับคุณธรรม และจริยธรรมมากกว่าสิ่งอื่นใดดังพุทธสุภาษิตที่ว่า

กมฺมํ วิชฺชา จ ธมฺโม จ              สีลํ ชีวิตมุตฺตมํ

เอเตน มจฺจา สุชฺฌนฺติ             น โคตฺเตน ธเนน วาติ.

 กรรม ๑ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอันอุดม ๑ สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วย

 คุณธรรม ๕ นี้  หาได้บริสุทธิ์ด้วยโคตร หรือด้วยทรัพย์ไม่

(อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรคเทวตาสังยุต อาทิตตวรรคที่ ๕ เชตวนสูตรที่ ๘)

            เมื่อวิเคราะห์จากสุภาษิตข้างต้นตามพระไตรปิฎกจะพบว่า คำว่ากรรม ท่านหมายเอาเจตนาที่ก่อให้เกิดการกระทำหรือการงาน คำว่าวิชชา ได้แก่ปัญญาที่มีความเห็นชอบ รวมถึงมีความคิดที่ชอบประกอบด้วยธรรม ส่วนธรรมก็คือธรรมฝ่ายกุศล ได้แก่มีความเพียรในการประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมเกิดขึ้นในใจ และคำว่าศีลและชีวิตอันอุดมท่านหมายถึง มีชีวิตที่สูงสุดด้วยการตั้งอยู่ในศีล (๕) ฉะนั้นคนที่เป็นผู้นำจะดีได้ ไม่ใช่ดีด้วยวงศ์สกุลหรือด้วยทรัพย์สินเงินทอง หรืออำนาจใดๆทั้งนั้น จากพุทธสุภาษิตข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ชีวิตอันอุดมที่สามารถจะพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าได้ก็เพราะอาศัยความรู้คู่คุณธรรม เป็นสำคัญ ถ้าขาดหลักธรรมนี้ไปไม่รอด

 

            ดังนั้นจากที่ได้อธิบายมาตั้งแต่ต้นท่านผู้อ่านคิดว่า จะไปรอดหรือไม่ เพราะบางข้อได้เกิดขึ้นแล้ว และบางข้อกำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากพิจารณาในข้อที่๑ ประเด็นนี้เราจะต้องรู้เท่าทัน ไม่หวั่นไหว ไม่หูเบา ไม่ตื่นข่าวมงคล ไม่เอาตัวบุคคลเป็นตัวพระศาสนา ไม่วิพากษ์ วิจารณ์โดยไม่ผ่านการวิเคราะห์  ถ้าทำได้อย่างนี้ จะทำให้เรา ไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ ให้ใช้สติ ปัญญาให้มาก อย่าใช้ศรัทธามากกว่าปัญญา มันจะทำให้งมงาย บางท่านถามผู้เขียนว่า มันมีส่วนทำให้พุทธศาสนาเสื่อมไหม ตอบได้เลยว่ามีส่วนเหมือนกัน ถ้ายังเชื่อกันแบบผิดๆ ปฏิบัติผิดๆ  จนเกิดสัทธรรมปฏิรูป เกิดสำนักใหม่ๆ เกิดลัทธิขึ้นมาใหม่ จนทำให้ศาสนาพิการ ก็ไปไม่รอด ในส่วนข้อที่ ๒ ถ้ามนุษย์เราไม่มีศีลธรรมประจำใจและ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย  มันก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์เดรัจฉาน เกิดการแก่งแย่งชิงดี เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ไม่ก่อให้เกิดความสงบร่มเย็นอย่างแน่นอน ทุกวันนี้ได้แต่ภาวนาขอให้คนดีมีศีลธรรมเกินครึ่งก็เป็นอันใช้ได้ แต่ถ้าคนชั่วมากกว่าคนดี แบบนี้ ไปไม่รอด สังคมยิ่งวุ่นวายไปมากกว่านี้ สวนประเด็นข้อที่ ๓ ถ้าสถาบันกษัตริย์เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ขาดพุทธศาสนูปถัมภก แบบนี้ไปไม่รอด เพราะศาสนาอื่นจ้องจะเล่นงานพุทธศาสนาอยู่เช่นกัน ฝากให้ท่านคิดก็แล้วกัน ในส่วนประเด็นนี้น่ากลัวและน่าเป็นห่วงมากๆ และประเด็นสุดท้ายถ้าผู้นำขาดคุณธรรม คิดว่าประเทศชาติบ้านเมืองจะไปรอดหรือไม่ โดยเฉพาะความยุติธรรมนี่สำคัญมาก ยิ่งแต่ผู้มีอำนาจทั้งหลาย ถ้าไร้ซึ่งคุณธรรม ใช้อำนาจในทางที่ผิด ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ประเทศชาติก็ล่มจมในที่สุด หาความเจริญไม่ได้อย่างแน่นอน และในอนาคตข้างหน้าประเทศชาติ บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร

 

 

 

 

 

 

 

 

บทความที่ลงในหนังสือวิสาขบูชาปี 2562

 

ความจริงของชีวิต 

โดย

พระมหาวีระ ปุญฺญวีโร

(ป.ธ.๗ พธ.บ., ศศ.ม.)

ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอนงคาราม

 

บทความนี้ผู้เขียนอยากจะให้ผู้อ่านเข้าใจถึงความเป็นจริงของชีวิตตั้งแต่วันเกิดจนวันตาย สิ่งนี้ถือว่าเป็นสัจธรรมของชีวิตก็ว่าได้ ซึ่งจะคอยสอนเให้เราเห็นความทุกข์  กล่าวคือโลกนี้เต็มไปด้วยปัญหา คนเราเต็มไปด้วยความทุกข์ที่แตกต่างกัน  ตั้งแต่เริ่มต้นคือจุดสตาร์ของชีวิตไปจนถึงจุดสุดท้ายของชีวิต  โดยผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านพิจารณาถึงสิ่งๆหนึ่งที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวข้องกับชีวิตเราตั้งแต่เกิดจนตาย นั่นก็คือ กระดาษหนึ่งใบที่ทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น เพราะกระดาษแต่ละใบนี้จะสอนให้เราเห็นความทุกข์ของตนเองและผู้อื่น พิจารณาดังต่อไปนี้

กระดาษใบที่ ๑ คือใบเกิด หรือสูติบัตร กระดาษใบนี้ ถือว่าเป็นหนังสือรับรองการเกิด ซึ่งเป็นเอกสารที่สำคัญแสดง

ถึงถิ่นกำเนิดและสถานภาพในการดำรงอยู่ของแต่ละบุคคล (วัน เดือน ปี เวลาเกิด) และจะบ่งบอกถึงการเริ่มต้นของชีวิต  แต่การเริ่มต้นของชีวิตนั้น  เปรียบเหมือนการเริ่มต้นของความทุกข์เช่นเดียวกันดังคำบาลีที่ว่า ชาติปิ ทุกขา แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์ นี่คือทุกข์เบื้องต้น เมื่อเกิดมาแล้ว บางคนเกิดในตระกูลที่ร่ำรวย  บางคนเกิดในตระกูลที่ยากจน บางคนรูปสวย รวยทรัพย์ นับวิชา มารยาท ชาติผู้ดี มีศีลธรรม แต่บางคนก็ตรงกันข้าม  กล่าวได้ว่า ไม่มีใครเลือกเกิดได้ ขึ้นชื่อว่าเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ย่อมมีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น เพราะทุกคนมีกรรมเป็นแดนเกิด ให้พิจารณาว่าทุกคนเกิดมาเพื่อใช้กรรมเก่า และก็มาสร้างกรรมใหม่  ดังที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับการเกิดของบุคคลไว้ ๔ จำพวก (ดังที่ปรากฏในพระสูตรชื่อว่า ตโมตมสูตร)

๑. ตโม ตมปรายโน คือ บุคคลผู้มืดมาและมืดไป ได้แก่คนที่เกิดมาในตระกูลที่ต่ำ กล่าวคือตระกูลที่ยากจน มิหนำซ้ำ ยังประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต นี่คือบุคคลผู้มืดมาและมืดไป (มาก็ไม่ดี ไปก็ยังไม่ดี)

๒. ตโม โชติปรายโน คือ บุคคลผู้มืดมาแต่สว่างไป  ได้แก่คนที่เกิดมาในตระกูลที่ต่ำ กล่าวคือตระกูลที่ยากจน แต่ชอบประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต นี่คือบุคคลผู้มืดมาแต่สว่างไป (มาไม่ดี แต่ไปดี)

๓. โชติ ตมปรายโน คือ บุคคลผู้สว่างมาแต่มืดไป  ได้แก่ คนที่เกิดมาในตระกูลที่สูงกล่าวคือ ตระกูลขัตติยมหาศาล หรือตระกูลคหบดีมหาศาล  เป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินทองมาก แต่ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต นี่คือบุคคลผู้สว่างมาแต่มืดไป (มาดี แต่ไปไม่ดี)

๔. โชติ โชติปรายโน คือ บุคคลผู้สว่างมาและก็สว่างไป ได้แก่ คนที่เกิดมาในตระกูลที่สูง   ชอบประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต  นี่คือบุคคลผู้สว่างมาและสว่างไป (มาดี ไปดี)

เมื่อพิจารณาทั้ง ๔ ข้อข้างบนนี้ทำให้เราเห็นว่า เราเลือกเกิดไม่ได้แต่เลือกการกระทำได้ ว่าจะทำดีหรือทำชั่ว

กระดาษใบที่ ๒  คือใบปริญญาบัตร  กระดาษใบนี้เป็นใบความรู้ หรือเรียกว่า เอกสารที่แสดงวิทยฐานะของผู้สำเร็จการศึกษาว่ามีศักดิ์ และสิทธิ์ระดับปริญญา ไม่ว่าจะเป็นปริญญาตรี ปริญญาโท  ปริญญาเอก  บ่งบอกว่าคนนั้นคนนี้ สำเร็จการศึกษาสาขาอะไร ปริญญาอะไร ยิ่งไปกว่านั้น กระดาษใบนี้ สอนให้รู้ว่า กว่าจะจบได้แต่ละใบ แต่ละปริญญา ต้องต่อสู้ดิ้นรน ทั้งชีวิต นี่ก็สอนให้เห็นถึงความทุกข์ของชีวิตในการฝ่าฟันอุปสรรคในการศึกษาเล่าเรียน แต่เมื่อพิจารณาจริงๆแล้ว ก็เพียงการสมมุติกันขึ้นมาเท่านั้น เมื่อจากโลกนี้ไปใบปริญญาก็ไม่สามารถติดตามตัวไปได้

กระดาษใบที่ ๓  คือ ใบสมรส กระดาษใบนี้จะเรียกเป็นทางการว่า ทะเบียนสมรส เป็น เอกสารทางกฎหมายเพื่อยืนยันสถานะภาพการเป็น สามี ภรรยา ของบุคคลโดยถือว่าเป็นการแต่งงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย จากที่เคยเป็นอิสระ ตัวคนเดียว พอแต่งงานแล้วขาดอิสระก็ว่าได้ เพราะชีวิตคู่นั้นทำให้เห็นความทุกข์มาก ทุกข์แค่ตัวเราไม่พอ ต้องไปทุกข์กับเขาด้วย  ดังคำที่ว่า มีรักที่ไหน มีทุกข์ที่นั่น เช่นทุกข์ในการเป็นอยู่ รวมถึงทุกข์เรื่องเงิน เรื่องปากท้อง  เรื่องลูก  ทุกข์เพราะทะเลาะกันบ้าง จะบอกว่าสารพัดทุกข์ก็ย่อมได้  ถ้าได้คู่ครองที่ดีก็ดีไป ถ้าไม่ดีก็ทุกข์ทั้งชีวิต เหมือนตายทั้งเป็น  พิจารณาคู่ชีวิตดังนี้  คู่บุญ เคยทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน  ตั้งจิตอธิษฐานขอให้เกิดมาเจอกันและได้อยู่ร่วมกันเป็นคู่กันอีก  หรืออีกประเภทหนึ่งเรียกว่า  คู่บุญวาสนา คู่บุญบารมี เคยทำบุญร่วมกันมายาวนาน ต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการสร้างบารมี กล่าวคือ คู่สามีภรรยาที่อยู่ร่วมกัน  ชีวิตมีแต่ความสุข  โชคดี ไม่มีปัญหาและอุปสรรคใดๆ  รักและให้เกียรติยกย่องซึ่งกันและกัน   มีความสุขอยู่ด้วยกันจนวันตาย ส่วนคู่เวร คู่กรรม ได้เคยทำบาปทำกรรมร่วมกันมา มีกรรมจัดสรรให้ได้มาชดใช้กันและต่างก็ต้องชดใช้กันจนกว่าจะหมดไป และจบแบบไม่สวย  กล่าวคือ คู่สามีภรรยาที่อยู่ด้วยกันแล้วทะเลาะเบาะแว้ง บางคู่ถึงขั้นตบตีกันแต่ก็ไม่เลิกรากันไป ก็ยังทนอยู่ ยังคงใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน  และมักมีเรื่องบาดหมางขัดใจกัน ทะเลาะกันอยู่เป็นประจำ   ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจไม่ซื่อสัตย์   เช่นใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ล้างผลาญเงินทองติดการพนัน  ดูถูกดูหมิ่นอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ยกย่องให้เกียรติกัน  ไม่มีความเคารพเกรงใจกัน แม้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันไม่เคยมีความสุขเลย  แต่ก็ยังต้องทนอยู่ด้วยกันต่อไป  และ คู่ทุกข์คู่ยาก ได้แก่ คู่สามีภรรยาที่ลำบากตรากตรำมาด้วยกัน  ฟันฝ่าอุปสรรคมาด้วยกัน แต่ก็รักและเห็นอกเห็นใจกันเสมอ ไม่ทอดทิ้งกัน จึงเรียกว่า คู่ทุกข์คู่ยาก และสุดท้ายคู่อาศัย ได้แก่คู่รัก หรือคู่สามีภรรยา ที่รักกันได้ไม่นาน  ก็มีอันต้องเลิกรากันไป คู่รักแบบนี้เราก็เห็นกันในสังคมปัจจุบันเป็นจำนวนมาก  ฉะนั้นกระดาษใบนี้สอนให้เห็นถึงความทุกข์ และความจริงของชีวิตคู่ได้มากเลยทีเดียว

กระดาษใบที่ ๔ ได้แก่ บัตรราชการ กล่าวคือ บุคคลซึ่งรับการบรรจุแต่งตั้งให้รับราชการปฏิบัติหน้าที่ และรับเงินเดือนในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ  รวมถึงส่วนองค์กรที่บุคคลดังกล่าวปฏิบัติงานอยู่นั้นเรียกว่าส่วนราชการ การที่จะได้เป็นราชการทุกวันนี้ ต้องสอบแข่งขันกัน วัดกันด้วยความรู้ ความสามารถ ถึงจะได้เข้าไปอยู่ในตำแหน่งนั้นๆ  หรือถ้าเป็นคนโชคดี มีเส้น สาย ก็เข้าง่ายหน่อย สาเหตุที่คนส่วนมากอยากสอบเข้าเป็นราชการก็เพราะว่า มีสวัสดิการดีๆตามมาอีกมากมายตั้งแต่เข้ารับราชการไปจนถึงเสียชีวิต แต่ก็อย่าลืมว่า ในแต่ละตำแหน่งก็มีการแข่งขันกัน บางคนถึงกับพูดว่า วงในชิงดีชิงเด่นกันพอสมควร   กระดาษใบนี้ทำให้เราเห็นความเป็นจริงของชีวิต เมื่อเรียนจบแล้วยังไม่พอ ก็ต้องดิ้นรนหางาน  หาเงิน เพื่อความอยู่รอด อยู่สบายในอนาคต อาจจะมีการแก่งแย่งชิงดีกันบ้างในแต่ละตำแหน่ง ในแต่ละหน้าที่  ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของสัตว์โลกในการเป็นอยู่ในสังคมหมู่มาก ฉะนั้นกระดาษใบนี้สอนให้เห็นถึงความทุกข์ของการต่อสู้ดิ้นรนของชีวิต

กระดาษใบที่ ๕ ได้แก่ใบคำสั่งแต่งตั้ง  กล่าวคือกระดาษใบนี้ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม พอๆกัน หรือทางธรรมอาจจะแย่ กว่าทางโลกก็ได้  วิ่งเต้นวุ่นวายทั้งชีวิตเพื่อให้ได้มาซึ่งกระดาษใบเดียว  ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า วโส อิสฺสริยํ โลเก แปลว่า อำนาจเป็นใหญ่ในโลก แค่กระดาษใบเดียวจะแต่งตั้งให้ใครเป็นใหญ่ก็ได้ จะถอดถอนใครก็ได้ ปลดออกก็ได้  กระดาษใบนี้ทำให้คน เมายศ หลงในตำแหน่ง เหมือนสวมหัวโขน หลงตัวเอง แม้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเตือนไว้ว่า ยโส ลทฺธา  น  มชฺเชยฺย  แปลว่า ได้ยศแล้วไม่พึงเมา ในส่วนตรงนี้พระองค์ก็เคยตรัสกับพระนาคิตะว่า ขอยศ จงอย่าได้มาเกี่ยวข้องกับเรา และขอเราอย่าได้ไปเกี่ยวข้องกับยศ  (นาคตสูตร อังคุตรนิกาย ฉักกนิบาต พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ : ๓๘๒ ) เพราะทรงเห็นว่า  ยศ ตำแหน่ง และชื่อเสียงนั้น เป็นอันตรายต่อบรรพชิตถ้าขาดสติ ขาดความสำรวมระวังแล้ว จะนำมาซึ่งความทุกข์อย่างมหันต์  ซึ่งยศนั้นมีอยู่ ๒ ฝ่ายด้วยกันคือ ฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว เราลองมาดูยศฝ่ายดีก่อนว่าเป็นเช่นไร

๑.     อิสริยยศ คือความเป็นใหญ่ ยศชนิดนี้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่สูงกว่ามอบให้ เช่นผู้บังคับบัญชาให้ถึงจะได้ ยกตัวอย่างเช่น เครื่องราชอิสริยาภรณ์  จะต้องเป็นพระมหากษัตริย์พระราชทาน จะไปขอเองหรือไปหาซื้อที่ไหนก็ไม่ได้

๒.     เกียรติยศ คือ ชื่อเสียง อันเกิดจากความดีที่เราได้ทำ เช่นทำประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมือง รวมถึงสร้างคุณงามความดี สังคมจะเป็นผู้มอบให้ ยกย่อง เชิดชู

๓.     บริวารยศ คือ มีมิตรเป็นบริวารมาก กล่าวคือคนที่มีบริวารมาก บริวารดี ก็เพราะมีน้ำใจเป็นหลักสำคัญ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า  บริวารดีเหมือนเจดีย์มีฐานมั่นคง  คือไม่หัก ไม่โค่นง่าย แม้ยอดจะแหลมและสูง เพราะฐานใหญ่ ฐานมั่นคง และฐานกว้าง นั่นก็คือบริวารมากและบริวารดีนั่นเอง  แต่ถ้าบริวารไม่ดีเปรียบเหมือน นั่งทับรูงูพิษ มีคู่คิดเป็นพาล  ย่อมเสื่อมเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง ฉะนั้นคนที่มีบริวารมากคือคนที่อบอุ่นไม่เหงา มีคนคอยช่วยเหลือ  และลำดับต่อไปลองพิจารณายศฝ่ายชั่วมีดังนี้

๑.     ทรยศ คือการหักล้างหักหลังผู้มีพระคุณเช่น ผู้น้อยเนรคุณผู้ใหญ่  หรือลูกน้องเนรคุณเจ้านายเป็นต้น

๒.     อัปยศ  คือ ไร้ยศ ปราศจากยศ เสื่อมเสียชื่อเสียง น่าอับอาย ขายหน้า

กระดาษใบที่ ๖  ประกาศเกียรติคุณหนึ่งใบ ได้แก่รางวัลเกียรติยศ รางวัลเกียรติคุณ รวมถึง คำประกาศเกียรติคุณในการประสาทปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์ บางครั้งกระดาษใบนี้ก็ทำให้คนหลงตัวเอง ต่างก็มีคนสรรเสริญ ยกย่อง ชมเชย พอหลงมากก็ทำให้ลืมตัว เมื่อพิจารณาดีๆกระดาษใบนี้กับใบที่ ๕ ทำให้เรามองเห็นโลกธรรมได้อย่างชัดเจนมากขึ้นกล่าวคือ ธรรมดาของโลก ที่ครอบงำสัตว์โลกและสัตว์โลกนั้นต้องเป็นไปตามธรรมดาของโลกธรรม ๘ ลองพิจารณาเป็นคู่ๆ ดังนี้ คู่ที่๑  ลาภ  เสื่อมลาภ คู่ที่๒  ยศ  เสื่อมยศ คู่ที่ ๓   สรรเสริญ นินทาว่าร้าย คู่ที่ ๔  สุข   ทุกข์ ให้ผู้อ่านทุกท่านพิจารณาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่มีอะไรเที่ยง แน่นอน ไม่มีอะไรเป็นของเรา ทุกคนในโลกนี้มีทั้งสมหวังบ้าง ผิดหวังบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ไปยึดมั่น ถือมั่นมากก็เป็นทุกข์

กระดาษใบที่ ๗  ได้แก่ธนบัตรหนึ่งใบ หรือเงิน กว่าจะหามาได้ต้องลำบากทั้งชีวิต  ทุกอาชีพต้องดิ้นรน ขวนขวายเพื่อให้ได้มาซึ่งเงิน และเมื่อได้มาแล้ว มันก็ให้ความสะดวก ความสบาย  ความสนุกแก่ชีวิต บางคนไม่ใช่ตัวคนเดียว ไหนจะครอบครัว บ้าน รถ เป็นต้น อย่าลืมว่า มีเงินเป็นร้อยล้าน ก็ซื้อเมื่อวานไม่ได้  ถึงแม้ว่า เงินซื้อบ้านหลังใหญ่ๆได้  แต่ซื้อความสุขภายในบ้านไม่ได้  เงินซื้อเตียงนอนนุ่มๆได้ แต่ซื้อการนอนหลับไม่ได้  เงินซื้อยาได้  แต่ซื้อสุขภาพที่ดีไม่ได้  เงินซื้ออาหารแพงๆได้  แต่ซื้อความอยากรับประทานไม่ได้  เงินซื้อประกันได้ แต่ซื้อความปลอดภัยไม่ได้ ฉะนั้นกระดาษใบนี้สอนให้เห็นความดิ้นรนของชีวิต เพราะชีวิตต้องเป็นอยู่ด้วยการจับจ่ายใช้สอย

กระดาษใบที่ ๘  ได้แก่ มรณบัตร กล่าวคือกระดาษใบนี้  สิ้นสุดชีวิต บ่งบอกถึงการเสียชีวิต   จะสอนให้เราเห็นประจักษ์ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรเป็นของเรา เราต้องละสิ่งทั้งปวงไป การที่เราบอกว่าสิ่งนั้น สิ่งนี้เป็นของๆเรา ก็เพราะว่าใจเราเข้าไปยึดถือต่างหาก สุดท้ายทรัพย์สมบัติ เรือกสวนไร่นา ที่ตนอุตส่าห์ แสวงหามา ก็ต้องพลัดพรากจากกระจาย เมื่อตัวล้มตายไปนอนหลับตา ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า น มิยฺยมานํ ธนมนฺเวติ กิญฺจิ แปลว่า ทรัพย์สักนิดก็ติดตามคนตายไปไม่ได้  สิ่งที่ติดตามตัวไปได้ก็มีแต่ บุญ กับ บาปเท่านั่นเอง

ดังนั้น การที่ผู้เขียนได้อธิบายมาตั้งแต่ต้นนั้น ก็เพื่อว่า ให้ผู้อ่านทั้งหลาย ได้เข้าใจถึงกระดาษหนึ่งใบ ที่ทำให้เราขวนขวายดิ้นรนหามาตลอดชีวิต และสอนให้เห็นสัจธรรมของชีวิตมากขึ้น และสุดท้ายก็ไม่มีอะไรเป็นของเรา เมื่อพิจารณากระดาษใบแรกจนถึงใบสุดท้ายเราจะพบกับความจริงที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงการสมมุติเท่านั้น มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา ดังคำที่ว่า สรรพสิ่งสิ้นสุดที่วิบัติ สรรพสัตว์สิ้นสุดที่ความตาย

 

 

 

 

 

 

บทความธรรมที่ลงในหนังสือวิสาขบูชาประจำปี2560 ของวัดอนงคาราม

 

 

                              ๔ ภัยใกล้พระศาสนา 

                                  โดย พระมหาวีระ  ปุญฺญวีโร 

                                  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอนงคาราม วรวิหาร 

                                  ป.ธ.๗ พธ.บ. ศศ.ม.  

 

พระพุทธศาสนา ได้เข้ามาสู่ดินแดนไทยประมาณปี พ.ศ. ๒๓๖ ในสมัยนั้นเราเรียกว่า ดินแดนสุวรรณภูมิโดยการนำของพระโสณะและพระอุตตระ ซึ่งเป็นพระเถระชาวอินเดีย ได้เดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแถบนี้ และได้เจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาแห่งความรู้และความจริง มีเหตุมีผลสามารถพิสูจน์ได้ เพราะเป็นศาสนาแห่งการตรัสรู้จากพระปัญญาอันยิ่งของพระพุทธเจ้า ปัจจุบันได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่า เป็นศาสนาแห่งสันติภาพอย่างแท้จริง เพราะให้เสรีภาพในการพิจารณาด้วยปัญญา เป็นศาสนาที่มีพระรัตนตรัย เป็นสรณะอันสูงสุด ได้แก่ พระพุทธ  พระธรรม และ พระสงฆ์ ซึ่งมีหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่ได้ถูกบันทึกรวบรวมไว้ในคัมภีร์ชื่อว่าพระไตรปิฎก ฉะนั้นแล้วพระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงทุกวันนี้ และอยู่คู่กับคนไทยมาเป็นเวลาช้านาน

ปัจจุบันนี้เราพบว่า  พระพุทธศาสนานั้นถูกโจมตีบ้าง ถูกเบียดเบียนต่างๆนานาบ้าง ท่านทั้งหลายได้ติดตามข่าวสารทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ตเป็นต้น เมื่อไม่นานมานี้ มีการสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายในวัด  ทุบโบราณสถานบ้าง ให้พระสงฆ์สามเณรออกจากพื้นที่บ้าง  ไล่รื้อสถานที่ปฏิบัติธรรม และ วัดเป็นจำนวน ๔๐ กว่าแห่ง ตามที่เป็นข่าว  จนเป็นเหตุทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันว่า  ทุกวันนี้วัดเริ่มถูกเบียดเบียนจากทางรัฐทุกขณะๆแล้ว  ไม่ทราบว่า มาเบียดเบียนวัดทำไม จะเอาที่วัดไปทำอะไรหรือเปล่า ถึงได้มาทุบทำลาย ขับไล่กันขนาดนี้ นี่เป็นคำถามของชาวพุทธ หรือมีจุดประสงค์อะไรกันแน่ หรืออาจจะเป็นเรื่องจริงที่ผู้เขียนได้ยินบางคนพูดว่า เขาต้องการพื้นที่เพื่อสร้างอะไรบางอย่างให้กับต่างศาสนาหรือเปล่า โดยจะขยายไปทุกจังหวัด ทุกอำเภอ และทุกตำบล ต่อไปคงมีทุกหมู่บ้านเป็นแน่  และสิ่งที่ได้ยินได้เห็นมาเหมือนจะเป็นจริงนั่นแหละ ไปดูได้เลยทุกพื้นที่ของประเทศ มีสิ่งที่ว่ามานี้เกิดขึ้นจริง และกำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ด้วย  ทุกวันนี้ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่า ได้มีเหตุการณ์อะไรบางอย่างเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาแล้ว  ซึ่งทางรัฐเริ่มใช้อำนาจเล่นงานวัด และพระสงฆ์ได้ เหมือนกับคำที่ว่า”การเมืองเล่นพระได้ แต่พระเล่นการเมืองไม่ได้ (ยกเว้นบางรูป) จนเป็นเหตุทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ที่ทางรัฐเข้ามาแทรกแซงระบบการบริหารจัดการของคณะสงฆ์เช่น ปฏิรูปพระพุทธศาสนา แก้ไขร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์   ล่าสุดที่ผ่านมา (๒๘ ธ.ค. ๕๙)ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (พ.ร.บ.) ได้แก้ไขเสร็จสิ้น ๓ วาระรวดเป็นที่เรียบร้อย  เป็นเหตุทำให้เกิดความวุ่นวายหรือวิกฤติในวงการคณะสงฆ์ เกิดความระส่ำระสายจนถึงทุกวันนี้ ต่อไปคงแก้ไขอะไรได้มากกว่านี้แน่  ในส่วนประเด็นนี้ถ้าคิดจะแก้ไขวาระไหนผู้เขียนไม่ได้ติดใจอะไรมาก  เพียงแค่อยากถามว่า ในการพิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ในครั้งนี้ มีชาวพุทธกี่เปอร์เซ็น  คนที่ไม่ใช่ชาวพุทธกี่เปอร์เซ็น ที่เข้าร่วมในการพิจารณา เคยถามความคิดเห็นจากคณะสงฆ์บ้างหรือเปล่า มันเป็นอะไรที่น่าหดหู่มาก ที่ให้พวกนอกศาสนาเข้ามาแก้ไขหรือออกหมายบังคับใช้กับวัดและพระสงฆ์  ซึ่งมันไม่ยุติธรรมเลย ถามว่า ทำไมไม่แก้ไขบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติเล่า ทั้งๆที่ประเทศไทยมีผู้นับถือพระพุทธศาสนามากกว่าศาสนาอื่นๆ และขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองพุทธอยู่คู่กับคนไทยมาเป็นเวลาช้านาน ควรจะได้สิทธิ์นั้นด้วยซ้ำไป  นี่เหละเป็นเหตุทำให้ผู้เขียนได้ประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาตามที่เป็นข่าว และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันที่นับว่าเป็นภัยต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งมีอยู่ ๔ ประเด็นด้วยกันคือ 

๑. ทางรัฐเข้ามายุ่งวุ่นวาย
๒. ต่างศาสนามุ่งทำลาย
๓. เกิดลัทธิมากมาย
๔. พระสงฆ์สามเณรไม่ละอายต่อบาป 

ประเด็นแรก ถ้าทางรัฐหรือทางการเมืองเข้ามามีบทบาทกับวัด และ พระสงฆ์มากจนเกินไป กล่าวคือ จะเข้ามาปฏิรูปพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะออกกฎระเบียบต่างๆยืนเสนอปฏิรูปวัด และพระสงฆ์ ซึ่งก็มีเสียงคัดค้านกันมากพอสมควร ชาวพุทธส่วนมากไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะเข้ามาทำลายพระพุทธศาสนาบ้าง แสวงหาผลประโยชน์กับวัดบ้าง  เข้ามาแทรกแซงระบบการบริหารจัดการของคณะสงฆ์บ้าง  ผู้เขียนคิดว่าประเด็นนี้ ก่อนจะเข้ามาปฏิรูปพระพุทธศาสนา ควรปฏิรูปประเทศชาติให้เจริญเสียก่อน  โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ การศึกษา การปราบคอรัปชั่นของนักการเมือง และที่สำคัญทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์เสมอภาคเท่าเทียมกันจะดีกว่า ไม่ใช่จ้องแต่จะเข้ามาบริหารจัดการผลประโยชน์ของวัด โดยเฉพาะวัดใหญ่ ๆดังๆ ที่มีผลประโยชน์มาก บางคนถึงกับพูดว่า ถังแตกแล้วเหรอ ที่คิดจะเข้ามาเบียดเบียนเงินวัด ฟังดูแล้วน่าสมเพช และมีบางกลุ่มบางพวกคิดจะออกกฎหมายบังคับใช้กับพระสงฆ์ในเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง ดูๆแล้วมันน่าแปลกดี คือต้องการจะลดบทบาทพระสงฆ์ให้น้อยลง ไม่ให้มีสิทธิ์ใดๆด้วยซ้ำไป ถามว่าในส่วนนี้ถ้าเขาจะทำจริงๆทำได้ไหม  ตอบได้เลยว่าทำได้ แน่นอน  เพราะกฎหมาย อำนาจ มาตราอยู่ในมือเขา  แต่อย่าลืมกฎระเบียบข้อบังคับของพระสงฆ์ ซึ่งมีพระธรรมวินัยเป็นหลักอยู่แล้ว และมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ในการปกครองตามกฎมหาเถรสมาคมอีกด้วย รวมไปถึงการดูแลรักษาวัด ทรัพย์สินของวัด และ ศาสนสมบัติกลาง ได้อธิบายไว้ชัดเจนในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ทุกประการ เพราะฉะนั้น คิดว่าคงไม่จำเป็นที่จะมาออกกฎระเบียบต่างๆให้วุ่นวาย  สร้างความวิกฤติให้แก่คณะสงฆ์เสียเปล่า ผู้เขียนคิดว่า ในเรื่องของพระสงฆ์ บางสิ่งบางอย่างควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ ปกครอง ดูแล บริหารจัดการ ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยและกฎมหาเถรสมาคมจะดีกว่า  ส่วนฆราวาส(ทางรัฐ) มีหน้าที่คุ้มครอง ปกป้อง  ดูแล และอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้ดำรงตั้งมั่น  ไม่ใช่จ้องแต่จะเข้ามาทำลายวัดหรือหาผลประโยชน์กับวัด เพราะทุกวันนี้เราก็เห็นๆกันอยู่ว่า ศาสนาพุทธ จะเรียกร้องสิทธิใดๆ ไม่ค่อยจะได้เลย แต่บางศาสนากลับได้สิทธิพิเศษ แถมมีสวัสดิการให้อีกด้วย ทั้งๆที่ประเทศไทย มีผู้นับถือพระพุทธศาสนามากกว่าทุกศาสนาก็ว่าได้  ให้ผู้อ่านทุกท่านพิจารณาดูเถิด ว่ายุติธรรมหรือไม่  ที่คิดจะออกกฎหมายบังคับใช้กับพระสงฆ์ ดูเหมือนว่าพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เห็นจะไม่ศักดิ์สิทธิ์เสียแล้ว ถ้าพระสงฆ์รูปใดทำผิดเกี่ยวกับคดีทางโลก หรือทำผิดกฎหมาย ให้พิจารณาตัดสินไปตามตัวบทกฎหมายของบ้านเมือง(ตามที่เห็นเป็นข่าว)  ถ้าประพฤติผิดทางพระธรรมวินัย  ให้มีการปรับโทษหรือตั้งอธิกรณ์สอบ หรือปรับอาบัติตามพระวินัยอยู่แล้ว (ใช่หรือไม่)  ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้าทางรัฐมีความประสงค์ดี มีเจตนาดี ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาทางคณะสงฆ์ และช่วยบริหารจัดการ ศาสนสมบัติของวัดหรือผลประโยชน์ของวัด ให้เป็นกิจจะลักษณะ เป็นระบบระเบียบ โดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงใดๆทั้งสิ้น น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง  ส่วนมากที่เข้ามามีผลประโยชน์แอบแฝงกันทั้งนั้น เอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องของตนบ้าง มีผลประโยชน์ทับซ้อนบ้าง กอบโกยทรัพย์สมบัติของวัดไปบ้าง ดูแล้วน่าสมเพช สังเวชใจ น่าเป็นห่วงมากในเรื่องนี้  ในส่วนประเด็นนี้ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า ในเรื่องผลประโยชน์ของวัด หรือ ศาสนสมบัติของวัด ไม่ควรปล่อยให้ฆราวาสทำโดยพลการเด็ดขาด  ทางวัดและคณะกรรมการวัดต้องรับรู้และมีส่วนรู้เห็นร่วมกันในการทำงาน การบริหารจัดการ ทุกขั้นตอนด้วย  นั่นหมายความว่า ทั้งสองฝ่ายต้องทำงานด้วยความสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตรงไปตรงมา ไม่ใช่ทำงานแบบงุบงิบ ลึกลับ ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน อย่างนี้ไม่โปร่งใส ใช้ไม่ได้ และทางวัดก็ไม่ควรปล่อยให้พระรูปใดรูปหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่งบริหารจัดการกันเองโดยฝ่ายเดียว โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ของวัด รวมถึงรายรับ รายจ่าย ควรตั้งเป็นคณะกรรมการในการบริหารจัดการทุกขั้นตอน กล่าวคือ ต้องมีส่วนร่วมรู้เห็นในการทำงานด้วยกัน เพราะเรื่องผลประโยชน์ เรื่องเงิน ไม่เข้าใครออกใคร มีแต่จะทำให้เกิดกิเลส เกิดความโลภ  โดยเฉพาะพระสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเงินมากจนเกินไป  เพราะจะทำให้เสียพระได้  ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนไว้ว่า เงินคืออสรพิษนั่นเอง ฉะนั้นควรจัดให้เป็นระบบระเบียบ ที่สำคัญต้องโปร่งใส ชัดเจนตรวจสอบได้ ตรงไปตรงมา  เพราะฉะนั้นถ้าวัดมีปัญหาในเรื่องนี้มากเท่าใด ต่อไปในอนาคตข้างหน้า ทางรัฐจะเข้ามามีบทบาท แทรกแซง บริหารจัดการคณะสงฆ์หรือออกกฎหมายบังคับใช้กับพระสงฆ์ในเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง จะทำให้เสียระบบการปกครองของคณะสงฆ์ สุดท้ายพระสงฆ์ และวัด จะตกอยู่ใต้อำนาจของรัฐโดยสิ้นเชิง และต่อไปจะไม่มีสิทธิ์เรียกร้องใดๆทั้งสิ้นแม้แต่เงินค่าน้ำค่าไฟ และเงินบำรุงวัด ก็จะไม่มีสิทธิ์ได้รับรู้

ประเด็นที่สอง ต่างศาสนามุ่งทำลาย ข้อนี้ถือว่าสำคัญมาก เรื่องศาสนานี้เป็นเรื่องละเอียดที่ทุกคนต้องรู้เท่ารู้ทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา  ท่านผู้อ่านเคยคิดบ้างไหมว่า มีบางศาสนาถึงกลับเข้ามาแทรกแซงทุกระบบ เพื่อต้องการล้มศาสนาพุทธ ยึดครองประเทศตามที่เป็นข่าว แผนการนี้เป็นเรื่องจริงน่ากลัวมากเป็นภัยอย่างยิ่ง เป็นแผนปฏิบัติการเชิงรุก และทำมาหลายปีแล้ว เราชาวพุทธทุกคนต้องช่วยกันปกป้องพระพุทธศาสนา  ไม่เช่นนั้นศาสนาพุทธจะสูญหายไปจากประเทศไทยในไม่ช้า ท่านผู้อ่านเคยได้ศึกษาในเรื่องศาสนาพุทธที่สูญหายไปจากอินเดียหรือไม่ เพราะเหตุอะไร ประเด็นนี้น่าศึกษามาก ผู้เขียนขอนำมาเล่าให้ท่านได้เข้าใจสักเล็กน้อย ตามพุทธประวัติ เราทราบกันดีว่า  พระพุทธเจ้าประสูติที่ประเทศอินเดีย พระองค์แสวงหาโมกขธรรมเป็นเวลา ๖ ปี จึงได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพุทธสาวกมากมาย เผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระองค์ไปทั่วชมพูทวีป แต่น่าแปลกใจที่ว่า พระพุทธศาสนาของพระองค์มิได้มีความมั่นคง ตั้งอยู่นานในอินเดีย ดังที่มีพุทธปณิธานไว้ให้คงอยู่ในโลกมนุษย์จนครบถ้วน ๕,๐๐๐ ปี แต่กลับไปเจริญรุ่งเรืองและตั้งมั่นในดินแดนอื่นเช่น ในดินแดนสุวรรณภูมิ เป็นต้น ซึ่งพอหาสาเหตุที่เกิดขึ้นได้ดังนี้คือ ในอินเดียสมัยรัชกาลของพระเจ้ายักษปาละ เสนาบดีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า ราวเสน  เป็นกบฏได้ทำลายราชวงศ์ปาละลง แล้วตั้งวงศ์เสนะขึ้น พระพุทธศาสนาจึงไม่มีผู้นับถือในทางราชการ พระราชวงศ์เสนะเป็นฮินดู ไม่ช้ากองทัพอิสลามภายใต้การนำทัพของขุนทัพชื่อว่า ยักติยาชิละจี ได้ยกทัพเข้าบุกแคว้นมคธ แล้วทำการเผา มหาวิทยาลัยนาลันทา เสียราบเรียบ เป็นต้น ทั้งยังได้ปล้นเอาสมบัติตามวัดต่างๆ และฆ่าฟันพระภิกษุสงฆ์ทุกรูปที่พบเห็น พระพุทธศาสนาซึ่งเหลือจุดสุดท้ายในที่แห่งนี้ ทำให้พุทธสาวกและวัดถูกทำลายแบบถอนรากถอนโคนจนไม่มีอะไรเหลืออีกเลย คณะสงฆ์ที่รอดตาย ได้พากันหนีเข้าไปที่เนปาลและทิเบต และไม่มีผู้ใดกล้ากลับมาอินเดียอีกเลย พระพุทธศาสนาซึ่งถือกำเนิดในอินเดีย และเจริญรุ่งเรืองมาเป็นเวลา ๑,๗๐๐ ปี จึงถึงกาลอวสานด้วยเหตุดังกล่าวมานี้  ฉะนั้นแล้วผู้เขียนคิดว่า ต่อไปในอนาคตข้างหน้าเกรงว่า พระพุทธศาสนาจะสูญสิ้นไปจากประเทศไทยเป็นแน่  เพราะมีบางศาสนาได้แทรกซึมไปทุกพื้นที่ของประเทศ  ได้เจาะไปทุกจังหวัด ทุกอำเภอ และทุกตำบล และคิดจะล้มศาสนาพุทธด้วยซ้ำ ด้วยแผนปฏิบัติการเชิงรุก โดยมีการสนับสนุนจากทางรัฐ ให้ขยายไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ทุกวันนี้ถ้าเราสังเกตจะเห็นเป็นเช่นนั้นจริงๆ  ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีวัดร้างเยอะมาก ถูกคุกคามจากต่างศาสนาบ้าง มีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับชาวพุทธ และพระสงฆ์ไม่เว้นในแต่ละวันตามที่เป็นข่าว เช่นฆ่าชาวพุทธ  ครู เจ้าหน้าที่ ทหาร เผาโรงเรียน ฆ่าผู้บริสุทธิ์ ฆ่าพระสงฆ์อย่างโหดเหี้ยม บุกทำลายวัดเป็นต้น  ถามว่าเป็นเพราะเหตุอะไรถึงได้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับประเทศเรา และจะมีวันยุติ สงบหรือไม่  ฉะนั้นแล้วประเด็นนี้นับว่าเป็นภัยที่น่ากลัวและร้ายแรงต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง  ถ้าแผนปฏิบัติการที่เขาวางไว้สำเร็จ เสร็จสิ้น อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย อะไรจะเกิดขึ้นกับชาวพุทธ และพระสงฆ์   ในอนาคตข้างหน้าวัดวาอารามจะเป็นเช่นไร

ประเด็นที่สาม เกิดลัทธิมากมาย ในความหมายคำว่า ลัทธิมากมายนั้นผู้เขียนมุ่งไปที่พระพุทธศาสนาเป็นหลัก ไม่ได้กล่าวถึงศาสนาอื่นแต่อย่างใด  เพราะทุกวันนี้มีหลายรูปแบบมากที่สะท้อนให้สังคมได้เห็นว่า ศาสนาพุทธมีอะไรที่แปลกๆ มีหลากหลายสำนักที่คิดต่างเห็นต่างไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งพวกประเภทนี้ผู้เขียนขอใช้คำว่า พวกที่อวดรู้กว่าพระพุทธเจ้า เพียงแค่จับพระไตรปิฎกขึ้นมาไม่กี่หน้า  ทำเป็นอวดดี รู้ดีไปหมด คิดจะตั้งตนเป็นใหญ่  ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสก็ดี พระสงฆ์เองก็ดีที่ตั้งตนเป็นเจ้าสำนัก  ตั้งตนเป็นเจ้าลัทธิ บิดเบือนคำสอนบ้าง คิดต่างจากพระไตรปิฎกบ้าง ต้องการจะตัดทอนออกบ้าง แบ่งแยกพระธรรมคำสอนออกบ้าง เกิดปลอมแปลงหลักธรรมคำสอนที่เรียกว่า สัทธรรมปฏิรูป พวกนี้แหละขึ้นชื่อว่า ทำลายพระศาสนาอย่างแท้จริง  ถามว่าทำเพื่ออะไร ได้ประโยชน์อะไร  ทำไมบวชเข้ามาแล้วไม่ศึกษาพระธรรมวินัยและปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้าล่ะ ในกรณีนี้มีฆราวาสท่านหนึ่ง เป็นผู้หญิงเสียด้วย ผู้เขียนเคยได้อ่านหนังสือ และได้ฟังคำพูด การบรรยายทางยูทูป (Youtube) รู้สึกว่าท่านนี้ไม่เบา ศึกษาพระไตรปิฎกพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องวินัยของพระ จำได้แม่นทีเดียว ข้อนั้นว่าด้วยเรื่องอะไร ข้อนี้ว่าด้วยเรื่องอะไร แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ศึกษาแล้วเอามาจาบจ้วงกล่าวพาดพิงพฤติกรรมของพระสงฆ์ไปต่างๆนานา คนประเภทนี้หาดีไม่ได้ มันไม่ต่างอะไรไปจากการศึกษาที่เปรียบด้วยงูพิษ (อลคัททูปมปริยัติ) เพื่อเอามายกตนข่มคนอื่น  จาบจ้วงคนอื่น อย่างนี้เป็นการศึกษาที่ผิด มีพระเถระท่านหนึ่งท่านเคยเล่าให้ฟังตอนที่ผู้เขียนไปอบรมครูสอนพระปริยัติธรรมที่วัดสามพระยา ท่านบอกว่ามีโยมคนหนึ่งไปเรียนอภิธรรมที่วัดท่าน พอเรียนแล้วก็เอามาข่มพระบ้าง ตำหนิโทษพระบ้าง ปริภาสไปต่างๆนานา คืออวดฉลาดนั่นเอง พอท่านรู้พฤติกรรมเช่นนี้ ถึงกลับไล่ออกจากสำนักเลย ไม่ให้มาเรียนอีก เข้าตำราที่ว่า อวดฉลาดกว่าพระ ทิฏฐิมานะแก่กล้า ศรัทธาที่แท้จริงยังไม่เกิด  ผู้เขียนคิดว่า มันไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย แทนที่จิตใจจะผ่องใส กลายเป็นจิตที่เศร้าหมอง แสดงว่าไม่เคยพิจารณาดูตัวเอง เพราะมัวแต่ตำหนิโทษคนอื่น จ้องจับผิดคนอื่นโดยเฉพาะพระสงฆ์ระวังให้ดี เดี๋ยวจะตกนรกไม่รู้ตัว ที่มากล่าวโทษด้วยพระธรรมวินัย ถ้าจะว่ากันจริงๆตามหลักพระวินัยฆราวาสไม่มีสิทธิ์ที่จะมาปรับอาบัติพระ เพราะเรื่องอาบัติของพระเป็นเรื่องของสงฆ์พิจารณาปรับเท่านั้น แต่ดูๆสีหน้าท่านนี้แล้ว ไม่ผ่องใสเลย มีแต่ความเศร้ามอง ไม่มีราศี ดูแล้วน่าสงสารท่าน น่าจะหาเวลาปฏิบัติธรรมจะดีกว่า   และอีกประเภทหนึ่ง คือพวกที่ชอบดัดแปลงคำสอน คิดจะตัดทอนคำสอน หรือแบ่งแยกคำสอนออกจากพระไตรปิฎก ถามว่าเกิดประโยชน์อะไรไหม ตอบว่า มันไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย มีแต่ทำให้พุทธศาสนิกชนสับสน หรือ หลงผิดด้วยซ้ำ ผู้คนเป็นจำนวนมากเกิดคำถามว่า อะไรคือคำสอนที่แท้จริง อะไรที่พระพุทธเจ้าตรัส อะไรที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัส กลายเป็นว่าท่านเหล่านั้นรู้ดีกว่าพระพุทธเจ้า ท่านผู้อ่านทั้งหลาย เคยสังเกตไหมว่า ผู้ปฏิบัติธรรมจริงๆ เขาไม่เคยคิดจะดัดแปลงคำสอนหรือตัดทอนคำสอนออกจากพระไตรปิฎก เขาจะตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า และเผยแผ่ธรรม และอีกอย่างไม่มัวแต่มานั่งตำหนิโทษคนอื่น หรือโต้แย้งด้วยคำสอนกับบุคคลใดๆ หรือพาดพิงสำนักนี้บ้าง สำนักโน้นบ้าง เคยสังเกตปฏิปทาของพระปฏิบัติสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หรือเปล่า เราจะเห็นว่า หลวงปู่ หลวงพ่อทั้งหลาย ท่านไม่เคยคิดจะไปโต้แย้งด้วยคำสอนกับใคร หรือ ดัดแปลงคำสอนแต่อย่างใด ท่านมีแต่มุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อให้ถึงซึ่งความหลุดพ้น และเทศน์สั่งสอนประชาชน เผยแผ่พระธรรมคำสอนตามลำดับ ทุกวันนี้เจอแต่พวกประเภทที่ว่า ศีลห้ายังไม่ผ่าน อยากไปนิพพาน  อ่านพระไตรปิฎกไม่กี่หน้า ก็บอกว่าตัวเองเป็นผู้รู้แจ้ง เห็นจริง  เห็นแล้วน่าละอายแทน ถ้าเจอพวกประเภทนี้อยู่ในสังคมเป็นจำนวนมาก ยากที่จะแก้ไขได้ ต้องทำใจ เพราะพวกประเภทนี้หัวแข็ง ดื้อ ไม่ฟังใคร สุดท้ายก็ทำให้พระสัทธรรม คำสอนเลือนหายไปได้ และขึ้นชื่อว่าทำลายพระพุทธศาสนาโดยแท้

ประเด็นที่สี่ พระสงฆ์สามเณรไม่ละอายต่อบาปหรือความชั่ว ประเด็นนี้ ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาอื่นแต่อย่างใด ที่นำเรื่องนี้มาเขียน  เพียงแต่เห็นสังคมวิพากษ์วิจารณ์กันน่าดู เพราะว่าข่าวเกี่ยวกับพระสงฆ์สามเณรทุกวันนี้ รวดเร็วมาก ถูกเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะทางโซเชียล ที่ผู้คนทั้งหลายเข้าถึงกันได้อย่างรวดเร็วทันใจ กดแชร์ ไลค์ คอมเม้นได้ตามชอบใจ  ที่เห็นๆกันทุกวันนี้ไม่พ้นเรื่องพฤติกรรมของพระสงฆ์ สามเณร เช่น มั่วสีกา หนีเที่ยว ดื่มเบียร์ ดื่มเหล้า เล่นการพนัน เสพยาบ้า แต่งตัวเป็นตุ๊ด เป็นแต๋ว  ขับรถเที่ยว พูดจาไม่สุภาพ มีพฤติกรรมก้าวร้าว เป็นต้น ล้วนแต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นและเป็นข่าวในแต่ละวันทั้งนั้น   ซึ่งเรื่องที่ว่ามานี้มันมีมานานแล้วด้วย ไม่ใช่เพิ่งมีในสมัยนี้  ถามว่าพฤติกรรมเช่นนี้ ทำให้ศาสนาเสื่อมหรือไม่ ตอบว่า มันค่อยๆเสื่อมไปทีละนิด ไม่ใช่เสื่อมทีเดียว  อันดับแรกทำให้ศรัทธาตก  ไม่น่าเลื่อมใส  เสื่อมเสียชื่อเสียงวงการคณะสงฆ์ และวัด ทำให้ศาสนามัวหมองได้ ถ้ามีเรื่องฉาวขึ้นมาเมื่อใด ก็ทำให้วงการคณะสงฆ์มัวหมองและสั่นสะเทือนเมื่อนั้น ถ้าจะพูดกันจริงๆ  พระพุทธศาสนา หรือ หลักธรรมคำสอน ไม่ได้เสื่อม และไม่ได้หายไปไหน แต่ที่ว่าเสื่อมนั้น น่าจะจิตใจคนเสื่อม ต่ำทรามลงทุกวัน จนเป็นเหตุทำให้พระศาสนาต้องมัวหมองเสื่อมถอยไปด้วย กล่าวคือไม่ยังศรัทธา ปสาทะให้เกิดขึ้น มีแต่ทำให้เขาเสื่อมศรัทธา ทำให้คนเบื่อหน่ายต่อพฤติกรรมของพระสงฆ์ สามเณร   โดยเฉพาะพระบางรูปที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกระหน่ำทางโชเซียล ที่มีพฤติกรรมนอกลู่ นอกทาง นอกพระธรรมวินัย ชอบเอาพฤติกรรมของฆราวาสมาใช้เมื่อเป็นพระ เช่น ตั้งตนเป็นแกนนำบ้าง ปิดถนน ยึดสถานที่ราชการ ตั้งกองกำลัง เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองจนเสียภาพพจน์พระ และที่สำคัญยุยงให้สงฆ์แตกกัน ป่วนไปทุกวงการ เข้าข่ายสังฆเภท พฤติกรรมเช่นนี้มันไม่ต่างอะไรไปจากพฤติกรรมของพระเทวทัตเลย  ไม่ทราบว่าบวชทำไม บวชเพื่ออะไร ไม่ศึกษาเล่าเรียน ไม่ปฏิบัติ  ซ้ำทำความเสื่อมเสียให้แก่วงการคณะสงฆ์อย่างมาก  ชาวพุทธพากันเอือมระอากับพฤติกรรมของพระรูปนี้ ไม่มีใครทำอะไรได้ คงมีอิทธิพลน่าดู  ฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ท่านทั้งหลายเป็นปัญญาชนกันทั้งนั้นสามารถแยกแยะออก ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรถูก อะไรไม่ถูก พระรูปไหนควรศรัทธา รูปไหนไม่ควรศรัทธา  ให้พิจารณาด้วยปัญญา  ผู้เขียนไม่อยากให้พุทธศาสนิกชนคนไทยเหมารวม เพราะพระดีๆ ที่ทำประโยชน์ให้แก่พระศาสนายังมีเยอะ เพื่อความสบายใจ ในการทำบุญ ให้ทาน และเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ท่านทั้งหลายมีสิทธิ์เลือกทำได้ตามความศรัทธาของท่าน  ศรัทธารูปไหน วัดไหน  เลือกได้ตามใจชอบ เพราะเป็นสิทธิ์ของท่าน  ทำบุญแล้วขอให้เป็นสุข อย่าให้เป็นทุกข์  เพราะทุกวันนี้พระปลอมเยอะมาก  ปลอมเข้ามาต้มตุ๋นบ้าง ปลอมเข้ามาทำลายพระพุทธศาสนาบ้าง หรือที่เรียกกันว่า มารศาสนานั่นเอง  เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประชาชนส่วนมากแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับปัญหาด้านพระพุทธศาสนา (แหล่งข้อมูล โพสต์ทูเดย์ ๒ มี.ค.๖๐ ) จากการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ ๕๕.๘๔ ระบุว่า พระสงฆ์ตัดไม่ขาดจากทางโลก หลงในวัตถุนิยม ลาภ ยศ สรรเสริญ ตำแหน่งทางสงฆ์ หรือบริโภคนิยม  รองลงมา ร้อยละ ๔๙.๗๖ ระบุว่า พระสงฆ์ไม่อยู่ในหลักพระธรรมวินัยทำให้มีข่าวฉาวเป็นประจำ  ร้อยละ ๔๐.๓๒  ระบุว่า การสร้างค่านิยมหรือความเชื่อเกี่ยวกับการทำบุญ การถวายทาน การสร้างศาสนสถาน การบริจาคสิ่งของแบบผิดๆ   ร้อยละ ๓๖.๖๔ ระบุว่า วัดบางแห่งมีความเป็นพุทธพาณิชย์ เน้นวัตถุนิยม  ร้อยละ ๓๒.๓๒ ระบุว่า องค์กรที่ดูแลพระพุทธศาสนาอ่อนแอขาดประสิทธิภาพในการทำงานเช่นการตรวจสอบ ป้องกัน ร้อยละ ๓๑.๓๖ ระบุว่า มีการบิดเบือนหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ร้อยละ ๓๐.๓๒ ระบุว่า การบังคับใช้พระธรรมวินัย กฎหมายบทลงโทษ ไม่เด็ดขาดพอ ร้อยละ ๒๗.๓๖ ระบุว่า การปกครองภายในวัดไม่มีประสิทธิภาพ ร้อยละ ๒.๓๒ ระบุอื่นๆ ได้แก่ อยู่ที่ตัวบุคคล คนที่นับถือศาสนาพุทธบางคน ไม่เข้าใจถึงแก่นแท้ หรือหลักของพุทธศาสนา ขาดการใช้วิจารณญาณ ในเรื่องของความศรัทธาและปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นจนทำให้เกิดปัญหาตามมา

          จากการพิจารณาข้อความข้างบนนี้ที่มีการสำรวจเกี่ยวกับปัญหาด้านพระพุทธศาสนา ผู้เขียนมีความคิดเห็นบางประเด็นว่า เราควรแก้ไขโดยเร่งด่วน เช่นการบังคับใช้พระธรรมวินัยอย่างจริงจัง กฎหมายบทลงโทษ ไม่เด็ดขาดพอ กล่าวคือมาตรการ บทลงโทษแก่พระภิกษุ สามเณรที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัยอย่างร้ายแรง ยังไม่เด็ดขาดจริงตามที่มีการสำรวจจากประชาชนชาวพุทธส่วนมาก  เพราะคณะสงฆ์เราจะใช้คำว่า อะลุ่มอล่วยกันมากเกินไป ทั้งๆที่มีความผิดพระธรรมวินัยร้ายแรง ถ้าเรื่องไม่ดัง ไม่แดง ไม่เป็นข่าว ไม่ฉาว ก็ถือว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้น  อยู่ครองเพศบรรพชิตได้ตามปกติ  แต่ถ้าเป็นข่าวฉาวขึ้นมาเมื่อใด เป็นเรื่องเมื่อนั้น  ไม่พ้นเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาจัดการ แต่ถ้าจะให้ทางคณะสงฆ์จัดการกันเอง พิจารณา ตั้งอธิกรณ์สอบไปตามพระธรรมวินัย คงยาก รู้สึกว่าไม่ค่อยมีให้เห็นในปัจจุบันนี้ จริงหรือไม่ ประเด็นนี้ถือว่าสังคมภายนอกจับตาการปกครองคณะสงฆ์อยู่ เขามองว่า คณะสงฆ์เราหย่อนในเรื่องนี้มาก ฉะนั้นแล้วอลัชชีภิกษุจะมีอยู่เต็มพระศาสนาสืบต่อไป

            ดังนั้นจากการที่ผู้เขียนได้กล่าวมาตั้งแต่ประเด็นแรกจนถึงประเด็นสุดท้ายนี้  เพื่อให้เราท่านทั้งหลายรู้เท่าทัน ตื่นตัว และช่วยกันปกป้องพระพุทธศาสนาเพราะภัยที่น่ากลัวกำลังย่ำยีพระพุทธศาสนาอยู่ทุกวันนี้ ถ้าเราไม่ร่วมด้วยช่วยกัน พระพุทธศาสนาจะสูญหายไปจากประเทศไทยในไม่ช้า เมื่อพิจารณาประเด็นแรก ถ้าทางการเมืองหรือทางรัฐเข้ามาแทรกแซง ในระบบการบริหารจัดการของคณะสงฆ์มากจนเกินไป  มันจะทำให้เสียระบบการปกครองคณะสงฆ์ และที่น่ากลัวคือภัยที่แฝงเข้ามากับการเมืองแต่จุดประสงค์เน้นไปที่เรื่องศาสนาเป็นหลัก เกรงว่าในภายภาคหน้า การเมืองเข้ามาแทรกแซงกับเรื่องศาสนามากเท่าใด อาจก่อให้เกิดสงครามศาสนาได้มากเท่านั้น  ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าผู้นำเห็นแก่อำนาจเงินเป็นใหญ่  ใช้อำนาจในทางมิชอบ มีอคติ ไม่มีคุณธรรม ถูกต่างศาสนาครอบงำ ทุกอย่างก็จบสิ้น ประเด็นที่สอง ต่างศาสนามุ่งทำลาย  ถือว่าเป็นประเด็นที่น่ากลัวที่สุด เพราะบางศาสนาแทรกซึมไปทุกองค์กร ทุกวงการ ทุกระบบ  ถ้าให้ต่างศาสนาเข้ามาบริหารประเทศ ต่อไปสามารถออกกฎหมายบังคับใช้กับพระสงฆ์ในเรื่องต่าง ๆได้  สุดท้ายพระสงฆ์ตกอยู่ใต้อำนาจของพวกเขา ชาวพุทธจะไม่มีสิทธิ์เรียกร้องใดๆได้เลย ถูกบีบบังคับบ้าง เบียดเบียนบ้าง ทำลายวัดบ้าง ไล่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายในวัดเป็นต้น ต่อไปในอนาคตข้างหน้าพระสงฆ์สามเณรจะอยู่ลำบาก และก็ไม่ต่างอะไรกับพระพุทธศาสนาที่สูญสิ้นไปจากอินเดีย ฉะนั้นเราชาวพุทธต้องแสดงพลังความสามัคคีเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนา อย่าพากันนิ่งเฉย ประเด็นที่สาม เกิดลัทธิมากมายในศาสนาพุทธเรา จนทำให้เกิดสัทธรรมปฏิรูป ด้วยการดัดแปลง ปลอมแปลงหลักธรรมคำสอน ตั้งตนเป็นเจ้าสำนักบ้าง เจ้าลัทธิบ้าง อวดรู้มากไปกว่าพระพุทธเจ้า อย่างนี้นับว่าเป็นภัยที่น่ากลัวที่ค่อยๆกลืนกินพระศาสนาไปเรื่อยๆ เพราะทำให้พระสัทธรรมหรือคำสอนของพระพุทธเจ้าเลือนหายไปได้ ไม่ดำรงตั้งมั่นอยู่นาน ในที่สุดพระพุทธศาสนาก็สูญสิ้นไป เพราะคนภายในศาสนาทำลายนั่นเอง  ส่วนประเด็นสุดท้าย พระภิกษุสามเณรไม่ละลายต่อบาปหรือความชั่ว นั่นหมายความว่า ไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย ประเด็นนี้ได้เกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล จนมาถึงปัจจุบัน ยังแก้ไม่ตก  ต้องทำใจ คิดว่าในอนาคตข้างหน้าคงมีต่อไปเรื่อยๆแน่นอน  เพราะคนเรามีทั้งดีมีทั้งชั่ว พระก็มีทั้งพระดีและพระไม่ดี มีทั้งพระปฏิบัติและไม่ปฏิบัติ ปะปนกันไป ปัญหาข้อนี้คิดว่าแก้ไขได้ยากที่จะไม่ให้เกิดขึ้น ตราบใดที่คนเรายังมีกิเลสอยู่  แต่ต้องหาวิธีป้องกันให้เกิดน้อยที่สุด ผู้เขียนมีความคิดเห็นบางประการว่า สำหรับผู้จะบวชเป็นปีๆ หรือตั้งใจจะบวชเป็นเวลานาน ต้องมีการกลั่นกรอง ตรวจเช็คประวัติอย่างเข้มงวด และอย่างจริงจัง ประสานงานระหว่างทางวัดและทางเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมด้วยช่วยกัน  ไม่เช่นนั้นใครอยากบวชก็บวชได้(คนที่ถูกห้ามบวชโดยเด็ดขาด)  ไม่ใช่มีเงินก็ให้บวชได้ แต่ในกรณีบวชในระยะเวลาอันสั้นไม่กี่วันก็ลาสิกขา(บวชตามประเพณี บวชแก้บนฯลฯ) ไม่น่ามีปัญหาอะไร  ส่วนมากที่มีปัญหาคือบวชนาน พอบวชเข้ามาแล้วไม่ค่อยสนใจในการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและในการปฏิบัติธรรม  ถ้าจะให้ดีต้องมีการบังคับใช้พระธรรมวินัยอย่างจริงจัง หรือออกกฎหมายบทลงโทษ ให้มีมาตรการเด็ดขาด ลงโทษแก่พระภิกษุ สามเณรที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัยอย่างร้ายแรงถึงกลับขาดจากความเป็นพระ รวมไปถึงเรื่องดื่มเหล้า ดื่มเบียร์ เล่นการพนันด้วยเพราะทางโลกเขารับไม่ได้(เป็นโลกวัชชะ)  ถ้าไม่เข้มงวดในเรื่องนี้เห็นจะมีข่าวไม่ซ้ำในแต่ละวัน ต้องเชือดไก่ให้ลิงดูบ้าง  เพราะฉะนั้นทั้ง ๔ ประเด็นที่กล่าวมานี้นับว่าเป็นภัยต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง และทำให้พระพุทธศาสนาสูญหายไปจากประเทศไทยแน่นอน  ผู้เขียนขอยกข้อความตอนหนึ่งที่มาในพระสุตตันตปิฎกว่า ครั้งนั้นท่านพระมหากัสสปเถระได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า พระศาสนาจะสูญสิ้นไปจากโลกด้วยเหตุใดบ้าง พระองค์จึงตรัสตอบว่า สิ่งต่างๆในโลกนี้ จะทำลายศาสนาให้สูญสิ้นไปย่อมไม่มี แต่พุทธบริษัท ๔ (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) เท่านั้น ที่จะทำให้ศาสนาสูญสิ้นไป ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ (อ้างอิงจากหนังสือธรรมประทีป๙)

๑. พุทธบริษัท ไม่เคารพในพระศาสดาของตน
๒. พุทธบริษัท ไม่ตระหนักในธรรม
๓. พุทธบริษัท ไม่คารวะต่อสงฆ์
๔. พุทธบริษัท ไม่ตั้งใจศึกษาธรรม
๕. พุทธบริษัท ไม่สนใจในการทำสมาธิ

ดังนั้นเมื่อพิจารณาทั้ง ๕ ข้อนี้ เหตุที่ทำให้พระศาสนาสูญสิ้นไป ไม่ใช่สิ่งอื่นใด คือตัวบุคคลนั่นเอง นอกจากไม่ปฏิบัติตามทั้ง ๕ ข้อนี้แล้ว พุทธบริษัท ๔ ไม่แสดงพลังชาวพุทธ ไม่ร่วมด้วยช่วยกัน ไม่สามัคคีกัน ไม่ตื่นตัว ไม่ออกมาปกป้องพระพุทธศาสนา แล้วใครเล่า จะออกมาปกป้อง และรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงตั้งมั่นยืนนานสืบต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

บทความที่ลงในหนังสือวิสาขบูชา ปี 2559

เรื่อง แปลกๆ ใหม่ๆ ในโซเชียลเน็ตเวิร์ค

โดย

พระมหาวีระ  ปุญฺญวีโร

(ป.ธ. ๗ พธ.บ., ศศ.ม.)

ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอนงคาราม วรวิหาร

 

 

        เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตามกระแสของสังคมโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค(social network) เป็นจำนวนมากที่มีพระบางรูปได้แสดงออกให้สังคมได้เห็นอะไรที่แปลกๆ  ใหม่ๆ ทางโลกออนไลน์ ซึ่งพวกเขาเรียกกันว่า ดราม่า (Drama) คำว่า ดราม่าเป็นศัพท์ภาษาอังกฤษที่มาจากคำว่า dramatic แปลว่า จริงจังมากเกินไป  หรือ ซีเรียส (serious) กับทุกเรื่อง  เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นจากความคิดเห็นที่แตกต่างกัน มีอคติ  อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง รำคาญใจ แก่ผู้พบเห็นหรือผู้อยู่ในเหตุการณ์นั้นๆได้  รวมถึงเรื่องราวอันน่าทึ่งแสดงอารมณ์ที่มากเกินความเป็นจริง หรือแสดงเกินความเหมาะสม บางครั้งชอบแสดงอาการบางอย่างออกมาโดยที่ไม่ได้มีความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ  พวกประเภทนี้ ทางสังคมเรียกว่า พวก ดราม่า แน่นอนสังคมโลกออนไลน์ในยุคอินเตอร์เน็ตเห็นอะไรที่แปลก ๆ ไม่เหมาะสมของพระแล้ว  เป็นที่จับตา จ้องมองของสังคม จึงได้พากันวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆนานา บางคนบอกว่า ไม่ถูกต้อง  ไม่ถูกพระธรรมวินัย บางคนก็บอกว่า ไม่เหมาะ ไม่ควร ที่ได้แสดงพฤติกรรมอย่างนั้น  ซึ่งเป็นประเด็นทำให้ผู้เขียนได้หยิบยกขึ้นมาเขียนเป็นบทความ ตามทัศนคติของผู้เขียนเอง โดยไม่ได้มีอคติใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแค่อยากให้สังคมได้รู้และเข้าใจถึงความถูกต้องตามพระธรรมวินัยเท่านั้น  กระแสที่ว่านี้ คือ  พระดราม่า กราบเท้ามารดา บิดา ผู้เขียนติดตามข่าวหรือเห็นการโพสต์(post) รูปภาพ แชร์ (share) ภาพตามโซเชียลเน็ตเวิร์ค ผู้คนทั้งหลาย ได้คอมเม้น (comment)โต้ตอบกันอย่างรุนแรงพอสมควร  นับว่าเป็นกระแสที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันจนถึงทุกวันนี้  โดยเฉพาะใกล้ถึงวันแม่ พระบางรูปชอบออกมา ดราม่า ตามกระแส เห็นฆราวาสแสดงออกต่อมารดา บิดา ตนเองก็อยากแสดงบ้าง โดยเฉพาะปีที่แล้ว(๒๕๕๘) ดราม่ากันน่าดู  จนกระทั่งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ออกมาชี้แจงถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสมของพระบางรูป  ในส่วนปีนี้ผู้เขียนคิดว่าน่าจะมีเหตุการณ์หรือ พฤติกรรมที่แปลกๆ ใหม่ๆให้ได้เห็นกันอีกเช่นเคย จึงนำมาเขียนเป็นบทความเพื่อให้ผู้อ่านทั้งหลายได้เข้าใจตรงกัน ว่าอะไรถูก อะไรผิด อะไรควร อะไรมิควร

            การที่มีพระบางรูปได้แสดงพฤติกรรม ดราม่า ไม่เหมาะสม ซึ่งผิดแปลกไปจากพระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่เคยประพฤติปฏิบัติสืบๆกันมา พระรูปนี้ได้ทำพิธีกราบเท้ามารดา บิดา ต่อหน้าผู้คนทั้งหลาย โดยไม่สนใจใครทั้งนั้น และไม่แคร์สื่อใดๆทั้งสิ้น สังคมทั้งหลายต่างก็พากันพูดว่า ทุเรศแก่สายตา  บางคนพูดว่า ไม่เหมาะสม ไม่เห็นด้วย เป็นถึงพระสงฆ์มากราบไหว้คฤหัสถ์ได้อย่างไร ส่วนตัวผู้เขียนเองมองว่า ภาพที่ออกมา มันไม่งามแก่สายตาผู้พบเห็นเป็นแน่  พฤติกรรมเช่นนี้เหมาะสำหรับฆราวาสผู้ที่เป็นลูกควรกระทำต่อมารดา บิดา จะอ้างเหตุผลใดๆก็ตาม   สำหรับพระสงฆ์แล้ว ภาพลักษณ์ที่ออกมา ไม่เหมาะ ไม่ควร แน่นอน เพราะว่า พระมีฐานะ (สถานภาพ / สภาพ หรือเพศที่ต่างกันระหว่างหีนเพศ กับ อุมดมเพศ)  ภาวะ(ความเป็นพระหรือความเป็นสมณะ) สีละ (ศีล๒๒๗ ข้อ) และการเป็นอยู่ที่ต่างกัน กล่าวคือมารดา บิดาเป็นคฤหัสถ์เพศ  ส่วนพระสงฆ์เป็นอุดมเพศ ครองเพศบรรพชิต โดยมีคำว่าศีล ๕ และศีล ๒๒๗ ข้อ เป็นเครื่องกำกับไว้แล้ว  ในส่วนนี้ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านได้นึกถึงเวลาที่ไปร่วมงานอุปสมบทจะเป็นญาติพี่น้องก็ดี หรือเป็นคนรู้จักก็ดี จะเห็นว่ากุลบุตรหรือนาคจะเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา จะต้องกราบขอขมามารดา บิดาก่อนบวช  เมื่อเวลาผ่านไป ๑ ชั่วโมงเศษการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ (อุปสัมบัน) สำเร็จเสร็จสิ้น  มารดา บิดาต้องหันมากราบไหว้ลูกชายที่เป็นพระ ผู้นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นเครื่องหมายของนักบวช มีศีล ๒๒๗ ข้อ เราถือว่า ได้อุปสมบทเป็นพระเรียบร้อยแล้ว นั่นแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจากคฤหัสถ์  ไม่ว่าคฤหัสถ์คนนั้นจะเป็นมารดา บิดาก็ตาม ในส่วนประเด็นนี้ องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้เกี่ยวกับบุคคลที่ภิกษุไม่ควรกราบไหว้ ๑๐ จำพวกด้วยกันคือ

 (๑) ภิกษุผู้อุปสมบทก่อนไม่ควรไหว้ภิกษุผู้อุปสมบทภายหลัง

(๒) ไม่ควรไหว้อนุปสัมบัน (ผู้ที่ไม่ได้อุปสมบท หมายถึงสามเณร คฤหัสถ์)

(๓) ไม่ควรไหว้ภิกษุนานาสังวาสผู้แก่กว่า แต่ไม่ใช่ธรรมวาที (ความต่างกันของศีล, ทิฏฐิ และที่อยู่  กล่าวคือไม่ได้อยู่ 

      ร่วมกัน มีทิฏฐิความเห็นต่างกัน หรือมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมคืออุโบสถและสังฆกรรมเป็นต้น ต่างกัน)

(๔) ไม่ควรไหว้มาตุคาม แปลว่า ผู้เข้าถึงเพศแห่งมารดา หมายถึงผู้มีเพศเดียวกับแม่ นั่นก็คือผู้หญิง (วินัยมุขเล่ม๑)

(๕) ไม่ควรไหว้บัณเฑาะก์ (ผู้ที่ไม่มีอวัยวะเพศปรากฏ (นปุงสกปณฺฑก) และผู้ที่ถูกตอนแล้ว (โอปกฺกมิยปณฺฑก)

(๖) ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้อยู่ปริวาส (ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส)

 (๗) ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรชักเข้าหาอาบัติเดิม (ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสซ้ำซาก แม้อยู่ในระหว่างถูกลงโทษ)

(๘) ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรมานัต (ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแต่ไม่ได้ปกปิดไว้ หรือ ภิกษุผู้อยู่ปริวาสครบแล้ว กำลังรอการ

       ลงโทษ)

(๙) ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ประพฤติมานัต (ภิกษุผู้อยู่ปริวาสครบแล้ว กำลังถูกลงโทษให้ต้องประจานตัวเอง ถือเป็นภิกษุไม่ปกติ   

       แต่มีกำหนด ๖ ราตรี ไม่ว่าจะปิดไว้หรือไม่ปิดซึ่งอาบัติสังฆาทิเสส ต้องประพฤติมานัต๖ ราตรี)

(๑๐)ไม่ควรไหว้ภิกษุผู้ควรอัพภาน (ภิกษุผู้อยู่ปริวาส หรือประพฤติมานัตครบถ้วนแล้ว รอให้สงฆ์ ๒๐ รูป สวดให้พ้นจาก  

       อาบัติสังฆาทิเสส) บุคคล ๑๐ จำพวกนี้แล อันภิกษุไม่ควรไหว้ ฯ (วินัยปิฎกจุลวรรค เล่ม 7 ภาค2: 136) เมื่อละเมิดข้อ

      ใดข้อหนึ่งแล้วท่านปรับเพียงอาบัติทุกกฏ[1]

             เราจะเห็นว่าข้อที่ ๔ คือมาตุคาม ตามพระวินัยหมายถึงผู้หญิง หรือสตรีเพศ เพราะฉะนั้นมารดาก็จัดเข้าในข้อนี้ด้วย  บุคคลที่ภิกษุไม่ควรไหว้พอสรุปสั้นๆ คือ มีฐานะ  มีภาวะ มีสีละ และการเป็นอยู่ที่ต่างกัน นั่นเอง แต่ถ้าเป็นกรณีพระบวชใหม่กราบไหว้มารดา บิดา ตามที่เป็นข่าว ในส่วนนี้ผู้เขียนคิดว่า พระใหม่ยังไม่ได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ หรือยังไม่ได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมทางพระวินัย  และอีกอย่างอาจจะเผลอตัว เมื่อเห็นมารดา บิดากราบไหว้ เลยกราบไหว้ตอบก็มี อย่าไปถือโทษโกรธท่านเลย เพราะท่านเป็นพระบวชใหม่  ส่วนที่เป็นประเด็นคือพระที่มีพรรษา บวชนานเป็นถึงระดับ... แต่ไม่ทราบว่าท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัยมากน้อยเพียงใด ถึงได้แสดงออกลักษณะเช่นนี้  โดยมีการเผยแพร่ภาพ คลิปวีดีโอ เป็นต้น  จงใจให้มีการตีแผ่ภาพออกทางโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ตฯลฯ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมพอสมควร โดยอ้างว่าเป็นการแสดงความกตัญญูต่อมารดา บิดา  ภาพที่ออกมา สังคมจะมองในแง่ลบมากกว่าแง่บวก  ผู้เขียนขอเสนอว่า ถ้าอยากจะแสดงออกถึงความกตัญญูต่อมารดา บิดา ด้วยการกราบไหว้ หรือ กราบเท้าท่าน น่าจะลาสิกขาบท (สึก)ออกไปจะดีกว่า สังคมชาวโลกจะได้ยกย่อง สรรเสริญ อย่างยิ่งในสิ่งที่ลูกกระทำต่อมารดา บิดา  แต่สำหรับบรรพชิตจะมองอย่างไร ก็ดูไม่งามตา ที่ไปแสดงออกลักษณะเช่นนั้น ดังนั้นผู้เขียนจึงมีคำถามว่า หลายปีที่ผ่านมา และ ก่อนหน้านี้ ทำไมไม่เห็นมีข่าว แสดงดราม่าลักษณะเช่นนี้  แต่พอมาปีที่แล้ว กลับแสดงดราม่าให้สังคมได้เห็น ทั้งๆที่โลกโซเชียลเน็ตเวิร์คไม่ใช่เพิ่งจะมี  หรือเพิ่งนึกได้ว่า ก่อนบวชลืมกราบเท้า ขอขมามารดา บิดา ที่ตนเองได้ทำพลาดพลั้งไป หรืออาจจะเป็นเพราะว่าตนนั้นได้ทำทุศีล ผิดพระธรรมวินัยร้ายแรง หรือขาดจากความเป็นพระไปแล้ว รับไม่ได้ หรือละอายแก่ใจนักที่ให้มารดาบิดากราบไหว้ กลัวบาปกรรม ก็เลยต้องกราบไหว้ หรือกราบเท้ามารดา บิดาก่อน (ความเห็นส่วนตัว) เรื่องไม่เป็นเรื่อง ก็สร้างกระแสให้เป็นเรื่องจนได้ ภาพลักษณ์ที่ออกมา ทำให้การมองพระสงฆ์ต่ำลง  สิ่งใดที่ทำแล้ว ถูกใจ แต่ไม่ถูกพระธรรมวินัย สิ่งนั้นพระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ สิ่งใดที่ทำแล้ว  ถูกต้อง  ถูกพระธรรมวินัย  สิ่งนั้นพระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ  เพราะฉะนั้นเมื่อมีกระแส ดราม่าเกิดขึ้นในสังคม ในฐานะผู้เขียนเป็นครูสอนวิชาวินัยบัญญัติแก่พระเณรก็ดี สอนธรรมะแก่นักเรียนที่เป็นฆราวาสก็ดี มักจะมีคำถามเสมอๆ ว่า พระกราบไหว้มารดาบิดา ผิดหรือไม่ ได้หรือไม่ ผู้เขียนตอบไปว่า มีทั้งไม่ได้และได้ ที่ว่าไม่ได้ตามเหตุผลที่ผู้เขียนอธิบายมาแล้ว เพราะผิดข้อบัญญัติทางพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามไว้ ถึงท่านจะปรับเพียงอาบัติทุกกฏก็ตาม ถือว่าไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย  ดูไม่งามตา และที่สำคัญไม่เหมาะสมที่เพศบรรพชิตจะไปกราบไหว้เพศคฤหัสถ์  ถ้าจะว่ากันจริงๆแล้ว การที่พระบางรูปจะไปกราบไหว้วันละ ๑๐ ครั้ง หรือ ๑๐๐ ครั้ง คงไม่มีใครว่าอะไรหรอก เพราะมันเป็นสิทธิ์ของท่าน แต่ไม่ควรออกมาแสดงดราม่า ผ่านสื่อ ผ่านอินเตอร์เน็ต คนเขาวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบ  มันดูทุเรศ ทำให้ภาพพจน์พระสงฆ์ดูต่ำกว่าฆราวาส   ส่วนที่ว่าได้ คือว่า พระสงฆ์ สามเณร สามารถกราบไหว้คุณของมารดาบิดาได้ ไม่ผิด ไม่ใช่ไปกราบที่ตัว ที่ตัก ที่มือ ที่เท้าท่าน ดังคำบาลีที่ว่า มาตาปิตุคุณํ อหํ วนฺทามิ ข้าพเจ้ากราบไหว้ พระคุณของมารดา บิดา โดยความเคารพ กล่าวคือให้น้อมระลึกนึกถึงพระคุณของท่าน และอีกกรณีหนึ่งเมื่อมารดาบิดา ล่วงลับไปแล้ว สามารถไหว้ได้เช่นกัน ถือว่าไหว้พระคุณของท่าน รวมถึงไหว้อัฐิ ประพรมน้ำหอม บูชาด้วยดอกไม้ก็น่าจะไม่ผิดเหมือนกัน ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ  แปลว่าการบูชาคนที่ควรบูชาเป็นมงคลอย่างยิ่ง เราถือว่าเป็นการบูชาอัฐิธาตุหรือกระดูกของผู้มีพระคุณคือ  บุพพการี ที่ให้กำเนิด เกิดมา ให้น้ำนม ให้การอบรม ให้บรมธรรม เป็นต้น  จริงอยู่การบูชาคนที่ควรบูชาเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ ว่าเป็นมงคลอย่างสูง แต่จะบูชา กราบไหว้ใคร ก็ต้องดูฐานะ ภาวะ ความเหมาะสมด้วย   บางท่านมองว่า มารดาบิดาเป็นพระอรหันต์หรือเป็นพระพรหมของลูก   ลูกทุกคนต้องกราบไหว้ทั้งนั้น  ในส่วนนี้ผู้เขียน ไม่ได้ไปโต้แย้งอะไร เป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำ น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง แต่สำหรับพระสงฆ์นั้น ไม่เหมาะสมอยู่ดี เพราะพระ มีฐานะ ภาวะ สีละ และการเป็นอยู่ที่ต่างกัน ดังที่ได้อธิบายไว้แล้วในตอนต้น และในส่วนของคำว่า มารดาบิดา เป็นพระอรหันต์ของลูก  คนทั้งหลายอาจจะเข้าใจความหมายทางธรรมที่ผิดเล็กน้อย จริงๆแล้วคำว่า เป็นพระอรหันต์ ไม่ได้หมายความว่า มารดาบิดาสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นคำเปรียบเทียบท่านมีจิตใจบริสุทธิ์ดุจพระอรหันต์ที่มีต่อลูก ไม่ได้หมายความว่า มารดาบิดาของทุกท่านทุกคนเป็นพระอรหันต์ที่ตัดความโลภ ตัดความโกรธ ตัดความหลง หรือตัดอาสวะกิเลสได้ เป็นเพียงคำเปรียบเท่านั้น ดังที่ปราชญ์ทางพุทธศาสนาท่านหนึ่งได้กล่าวไว้น่าคิดว่า  พระอรหันต์ มีบารมีกับผู้ที่นับถือโดยทั่วถึง แต่ พ่อ แม่ จะมีผลกับลูกในสายเลือดเท่านั้น  พ่อ แม่ มีบารมีกับลูกโดยตรงเทียบเท่าพระอรหันต์เป็นลักษณะพิเศษระหว่างสายเลือดพ่อ แม่ ลูก   เมื่อพ่อ แม่ ทำบุญ ผลถึงลูกโดยทันที ลูกทำบุญ ผลถึงพ่อ แม่ โดยทันที ฉะนั้นถ้าเราทำดี หรือ ทำไม่ดี กับพ่อ แม่  ย่อมมีผลเท่ากับทำกับพระอรหันต์ 

            ดังนั้นผู้เขียนขอสรุปความหมายของคำว่า พระอรหันต์ มี ๒ ประเภทด้วยกัน ตามทัศนคติของผู้เขียนเองคือพระอรหันต์ของโลก กับพระอรหันต์ของลูกเพื่อจะได้เข้าใจง่ายๆ  คำว่า พระอรหันต์ของโลก หมายถึง ชื่อพระอริยบุคคลชั้นสูงสุด

ผู้ที่ห่างไกลจากกิเลส ละสังโยชน์[2] ๑๐ ข้อ ได้โดยสิ้นเชิง นี่คือพระอรหันต์ของโลก  ส่วนพระอรหันต์ของลูกคือ มารดาบิดา  เป็นเพียงคำเปรียบเทียบเท่านั้น ดังคำที่ว่า เปรียบพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ทองคำผ่องอำไพ  นั่นหมายความว่า   มีจิตใจบริสุทธิ์ ผุดผ่องดุจพระอรหันต์ที่มีต่อลูก ไม่ใส่ใจในความผิดของลูกที่ทำ คิดแต่จะเกื้อกูลนำประโยชน์ไปให้ ไม่คิดเล็กคิดน้อยต่อลูก ไม่คิดร้ายต่อลูก ให้อภัยลูกเสมอ รักลูกจนวันตาย เป็นต้น ส่วนอีกคำหนึ่งคือคำว่า  เป็นพระพรหมของลูก หมายถึงเป็นพรหมจตุรพักตร์พิทักษ์ลูก เพราะท่านมีพรหมวิหารธรรม คือเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ต่อลูก  พระพรหมที่อยู่ในพรหมโลก มีพรหมวิหารธรรม แก่สัตว์โลกฉันใด มารดา บิดาก็มีพรหมวิหารธรรมแก่ลูกฉันนั้นเหมือนกัน  ดังที่ปรากฏใน    อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต พรหมสูตร ว่า ในเวลาที่บุตรอยู่ในครรภ์ มารดาบิดาจะเกิดเมตตาจิตคิดว่า เมื่อไหร่หนอเราจะได้เห็นบุตรน้อยปลอดภัย มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบบริบูรณ์ เมื่อบุตรน้อยยังเยาว์นอนแบเบาะ มีเรือดไรไต่ตอม หรือนอนกระสับกระส่าย ส่งเสียงร้องจ้า มารดาบิดาได้ยินเสียงบุตรนั้นแล้ว  จะเกิดความกรุณา ในเวลาที่บุตรเจริญเติบโตอยู่ในวัยหนุ่มสาว มารดาบิดามองดูบุตรด้วยความรื่นเริงใจ มีมุทิตาจิตพลอยยินดีต่อบุตร เมื่อบุตรมีครอบครัว เมื่อนั้น มารดาบิดาจะเกิดความวางใจว่า บัดนี้บุตรของเราสามารถอยู่ได้ตามลำพังแล้ว เวลานั้นมารดาบิดาจะมีอุเบกขาวางเฉยต่อบุตร.  นี่คือความหมายของคำว่า เป็นพระอรหันต์ของลูกและเป็นพระพรหมของลูก

                ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่นับว่ามีเสียง วิพากษ์วิจารณ์เช่นเดียวกัน ดูๆแล้วสังคมโลกออนไลน์จะมองไปในแง่บวกมากกว่าแง่ลบ นั่นก็คือ พระปรนนิบัติ อุปัฏฐากมารดา ถือว่าเป็นกระแสที่มาแรงอีกเช่นกัน มีให้เห็นเกือบทุกๆปี ผู้คนทั้งหลาย ต่างบอกว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่ได้แสดงออกถึงความกตัญญูต่อมารดา บิดา ด้วยการอาบน้ำให้บ้าง ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าให้บ้าง อุ้มไปนอนบนเตียงบ้าง สวมกอดบ้าง ป้อนข้าวบ้างฯลฯ  นี่คือสิ่งที่เป็นข่าวอยู่ทุกวันนี้ที่พระบางรูปได้กระทำต่อมารดา ในส่วนประเด็นนี้ผู้เขียนไม่ได้ไปตำหนิ ติโทษอะไรท่าน (ท่านอาจจะมีเหตุผลบางอย่างของท่าน) แต่มีผู้คนถามมาอีกเช่นกันว่า ผิดพระธรรมวินัยหรือไม่ อย่างไร ช่วยอธิบายด้วย ในฐานะครูสอนวิชาวินัย   ในส่วนนี้ผู้เขียนขอตอบไปตามพระธรรมวินัยก็แล้วกันว่า ผิด แต่จะผิดมากผิดน้อยเพียงใด อยู่ที่ใจของพระในการจับเนื้อต้องตัวมารดา ว่ามีความใคร่กำหนัดหรือไม่ ในส่วนพระวินัยว่าด้วยสิกขาบทข้อที่ ๒ แห่งอาบัติสังฆาทิเสส บัญญัติไว้ว่า  อนึ่ง ภิกษุใด กำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว ถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม (ผู้หญิง) จับมือก็ตาม จับช้องผมก็ตาม ลูบคลำอวัยวะอันใดอันหนึ่งก็ตาม ต้องอาบัติสังฆาทิเสส นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้ามีความกำหนัดยินดีจับต้องกายหญิง ไม่ว่าหญิงคนนั้นจะเป็นมารดาก็ตาม ต้องอาบัติเหมือนกัน  ถ้าไม่มีจิตกำหนัด จับต้องไม่เป็นอาบัติสังฆาทิเสส ในส่วนประเด็นนี้ มีบางท่านบางคนแสดงความคิดเห็นว่า ถ้ามารดามีอายุเพียง ๔๕-๖๐ ปี(ไม่สบาย ล้มหมอนนอนเสื่อ) ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พระลูกชาย ต้องดูแล ช่วยเหลือ ด้วยการอาบน้ำ การนวด การเปลี่ยนเสื้อผ้า สัมผัสกายมารดาลักษณะเช่นนี้ ถามว่า จะไม่มีจิตคิดอะไร ใช่หรือไม่หรือพระลูกชายเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว ผู้เขียนคิดว่า จะมีเจตนาหรือไม่มีก็ตาม  ไม่เหมาะสมอยู่ดี เพราะไม่ใช่วิสัยของพระ   แม้แต่ภิกษุจับต้องกายมารดา หรือพี่ น้องสาวด้วยความรักด้วยความเอ็นดู ท่านยังปรับอาบัติทุกกฏ เพราะผู้หญิงเป็นวัตถุ อนามาส ไม่ควรจับต้อง ฉะนั้นเมื่อวิเคราะห์ตามพระวินัยแล้ว  ถือว่าผิดเต็มๆ จะผิดมากผิดน้อย ขึ้นอยู่ที่เจตนานั่นแหละ ประเด็นนี้แม้ว่าผู้คนทั้งหลายอาจจะเห็นด้วย ในการที่พระแสดงออกถึงความกตัญญูต่อมารดาก็ตาม  ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า การปรนนิบัติ มารดา บิดาสำหรับพระนั้น ทางพระวินัยท่านทรงอนุญาตให้พระบิณฑบาตเลี้ยงมารดา บิดาได้  เอาอาหารที่ตนเองบิณฑบาตมาได้ ให้มารดา บิดา รับประทานก่อนได้ กล่าวคือ อาหารที่พระภิกษุบิณฑบาตได้มายังไม่ได้ฉัน จะให้แก่ผู้อื่นที่ไม่ใช่ภิกษุด้วยกันไม่ได้ นอกจาก มารดาบิดา ท่านเรียกว่า อนามัฏฐบิณฑบาต 

                  การแสดงความกตัญญูด้วยการปรนนิบัติมารดา บิดา การเลี้ยงดูท่าน สามารถกระทำได้ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ แต่ต้องมีขอบเขต ไม่ก้าวล่วงพระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้  จะคิดเอาเองว่า ไม่เป็นไร หรือ จะคิดว่า เป็นมารดาควรยกเว้น ควรอนุโลม อย่างนี้คิดไม่ถูก แสดงว่าพระวินัยไม่มีความหมาย  แต่ถ้าในกรณีมารดาเจ็บป่วยหรือ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้นั้น ในแง่มุมของผู้เขียนขอเสนอว่า  ในเวลาอาบน้ำ  ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า  อุ้มไปนอนบนเตียง  สวมกอด  นวดมือ นวดเท้าเป็นต้น ควรจะมอบให้เป็นหน้าที่ของลูกที่เป็นพี่ น้อง ถ้าพี่น้องร่วมมารดา บิดาเดียวกันไม่มี ก็จ้างให้ญาติสนิท มิตรสหาย ช่วยดูแลแทนก็ได้  ถ้าญาติ พี่น้องไม่มี ก็จ้างคนมาดูแล โดยที่พระลูกชายก็เฝ้าดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด คงไม่เสียหายอะไร  ถึงอย่างไรก็ตามให้ทำเท่าที่ฐานะของพระจะพึงทำต่อมารดา บิดาได้ เช่นบิณฑบาตหาอาหารมาเลี้ยงท่าน ให้ค่ารักษาพยาบาล หรือหาที่อยู่ให้ท่านได้พักอาศัยถือว่าเป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น  แต่ไม่ใช่ไปจับเนื้อต้องตัวลูบคลำกายมารดา ด้วยการอาบน้ำ ด้วยการเปลี่ยนเสื้อผ้า ด้วยการนวด ด้วยการดัด นั่นมันไม่ใช่ฐานะที่พระควรทำ หรือจะคิดต่างอีกมุมมอง ในกรณีพระอาพาธ เจ็บไข้ ไม่สบาย ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ถ้าผู้ดูแลไข้เป็นนางพยาบาล หรือหมอผู้หญิงเป็นผู้รักษา เยียวยา จะต้องมีการจับต้องกายพระ ถามว่า เป็นอาบัติหรือไม่ ตอบว่า ถ้าไม่มีจิตกำหนัด ยินดี หรือ มีจิตแปรปรวนในการสัมผัส ไม่เป็นอาบัติ  แต่ถ้ามีจิตยินดี  กำหนัดแล้ว มีจิตแปรปรวนแล้ว ถึงความเคล้าคลึงด้วยกายกับมาตุคาม  ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เราจะเห็นว่า ถ้าเป็นพระที่เคร่งวินัย เป็นพระปฏิบัติ ท่านจะไม่ยอมให้หมอผู้หญิงจับต้องเด็ดขาด เพราะท่านถือว่าพระวินัย ศีล เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญ ตราบใดที่ยังไม่บรรลุพระอรหันต์ สิ่งที่ห้ามยากที่สุดก็คือห้ามใจไม่ให้คิด ดังนั้น พระบางรูป อาจมองว่า ยอมต้องอาบัติทางพระวินัย เพื่อปรนนิบัติมารดาจะดีกว่า หรือบางรูปคิดว่า เมื่อถึงที่สุดแล้ว  ยอมลาสิกขาบท(สึก) ออกไปดูแลมารดา จะสะดวกกว่าเป็นพระ  เพราะสามารถทำได้ทุกอย่าง โดยไม่มีข้อห้ามทางพระธรรมวินัย (นี่คือเหตุผลของแต่ละท่าน)   ในส่วนประเด็นนี้ มีหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาได้อธิบายถึงขั้นตอนการตอบแทนหรือสนองพระคุณของมารดา บิดาไว้ ๕ ประการคือ

 

๑.ท่านเลี้ยงมาแล้ว เลี้ยงท่านตอบแทน หมายความว่า การเลี้ยงมารดา บิดานั้นสามารถทำได้ ๒ วิธี คือ ๑.เลี้ยงกาย ได้แก่

    การให้ข้าว น้ำ เสื้อผ้า ยารักษาโรค ของกิน เครื่องใช้ ที่อยู่อาศัย ถือว่าเป็นการให้ความสุขทางกายแก่ท่าน ๒. เลี้ยงใจ  

    ได้แก่ การเลี้ยงดูน้ำใจเชื่อฟังตั้งอยู่ในคำสั่งสอน  ยึดมั่นในกตัญญู ด้วยการยกย่อง สรรเสริญ เทิดทูน บูชา เคารพ ให้

    เกียรติท่านไม่ขัดขวางทางบุญ ทาน การกุศลของท่าน ทำดีให้ท่านชื่นใจ ไม่ทำให้ท่านทุกข์ใจ ถือว่าเป็นการให้ความสุข

    ทางใจแก่ท่าน

๒. ช่วยทำกิจการงานของท่าน หมายความว่า ไม่นิ่งดูดาย ขวนขวายช่วยเหลือกิจการงานต่างๆ ไม่เห็นแก่ตัว และไม่แล้ง

    น้ำใจ

๓. ดำรงวงศ์สกุลไม่ให้เสื่อม หมายความว่า ประพฤติตนเป็นคนดีเพื่อรักษาวงศ์สกุลของตนไม่ให้เสียหาย รวมถึงรักษา 

    เกียรติยศ ชื่อเสียงที่ท่านสร้างไว้

๔. ประพฤติตนให้เป็นผู้ควรได้รับทรัพย์มรดก หมายความว่า ดำรงตนอยู่ในศีลในธรรม อยู่ในโอวาทของท่าน ให้ท่าน

     ไว้วางใจว่าเป็นผู้ควรที่ท่านจะมอบทรัพย์มรดกให้
๕. เมื่อท่านล่วงลับ ทำบุญอุทิศไปให้  หมายความว่า  ยามท่านอยู่ก็ปรนนิบัติ อุปัฏฐาก ยามจากก็อุปถัมภ์ เมื่อท่าน

     ล่วงลับจากโลกนี้ไป ทำบุญอุทิศไปให้ท่าน ดังคำที่ว่า อยู่ก็เลี้ยงกาย ตายก็เลี้ยงวิญญาณ

จากทั้ง ๕ ข้อข้างบนนี้แสดงให้เห็นถึงหลักการปฏิบัติที่ลูกๆควรกระทำต่อ มารดา บิดา ในส่วนของลูกที่เป็นฆราวาสไม่น่ามีปัญหาอะไร สามารถทำได้ทุกข้อ  แต่สำหรับพระสงฆ์ สามเณรแล้ว สามารถทำได้บางข้อ ที่เหมาะสมแก่สมณสารูป ทำได้เท่าที่ฐานะของพระจะปฏิบัติต่อมารดา บิดาโดยมีขอบเขต ไม่ก้าวล่วงพระธรรมวินัยที่ทรงบัญญัติไว้ และให้พิจารณาถึงความเหมาะสมเป็นที่ตั้ง โดยไม่เป็นที่ครหา นินทา วิพากษ์ วิจารณ์ของสังคมได้ จะนับว่าเป็นสิงที่ดี น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง

            ดังนั้นจากการที่ผู้เขียนได้อธิบายมานี้ ในส่วนทั้ง ๒ ประเด็นหลักเพื่อให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้เข้าใจตรงกัน โดยยึดถือพระธรรมวินัยเป็นหลัก มาอธิบายอ้างอิง ว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ควรหรือมิควร ซึ่งเป็นปัญหาถกเถียงกันในโลกออนไลน์อยู่ทุกวันนี้  เพราะในปัจจุบันนี้ตามข่าวจะมีอะไรที่ แปลกๆ ใหม่ๆ ในโลกโซเชียลให้ได้เห็นกันเสมอๆ ในฐานะท่านผู้อ่านเป็นปัญญาชน ก็น่าจะพอแยกเเยะออกถึงความถูกต้อง เหมาะสม ในการกระทำของพระที่เป็นข่าวตามสื่อต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนประเด็นแรก จะเอาความกตัญญูมาเป็นข้ออ้าง ดราม่ากราบเท้ามารดา บิดา แล้วบอกว่า เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อท่าน  ผู้เขียนคิดว่า เหตุผล ฟังไม่ขึ้น  วิธีที่ปฏิบัติต่อมารดา บิดา ที่พระควรทำ มีหลากหลายวิธีที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น น่าจะฟังดูดีกว่าคำว่า พระกราบเท้ามารดา บิดา  จริงๆแล้วการกราบผู้มีพระคุณ เป็นเพียงการแสดงความเคารพ  เทิดทูน บูชา เท่านั้น  ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติที่ทำแล้ว จะตอบแทนพระคุณมารดาบิดาได้เลย  ดังที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า  ภิกษุทั้งหลาย ! เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้งสอง  ท่านทั้งสองนั้นคือใคร ? คือ ๑. มารดา ๒. บิดา  ภิกษุทั้งหลาย ! บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่งพึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง เขามีอายุมีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปีและเขาพึงปฏิบัติท่านทั้งสองนั้น ด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำและการดัดและท่านทั้งสองนั้น พึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ! การกระทำอย่างนั้นยังไม่ชื่อว่า อันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย  ภิกษุทั้งหลาย ! อนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดา บิดาในราชสมบัติ อันเป็น อิสราธิปัตย์ในแผ่นดินใหญ่อันมีรตนะ ๗ ประการ มากหลายเช่นนี้การกระทำกิจอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย  ข้อนั้นเพราะเหตุไร  เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย ส่วนบุตรคนใด ยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในสัทธาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา)  ยังมารดา บิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในสีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล) ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นใน จาคสัมปทา(ความถึงพร้อมด้วยการสละ,บริจาค) ยังมารดา บิดาผู้ทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา(ความถึงพร้อมด้วยปัญญา)  ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้นย่อมชื่อว่าอันบุตรนั้นทำแล้ว และทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดา (มาตาปิตุอุปฏฺฐานกถา,มงฺลตถทีปนี เล่ม ๑: ๒๗๓-๒๗๔) นี่ต่างหากที่สามารถทำตอบแทนคุณมารดา บิดาได้ เพราะฉะนั้น การที่จะเอาเหตุผล การกราบเท้าก็ดี การอาบน้ำก็ดี การผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าก็ดี หรือ นวดให้มารดา บิดาก็ดี มาเป็นข้ออ้างในการตอบแทนพระคุณท่าน ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่จะมาแสดงดราม่า และไม่เหมาะสมแก่สมณสารูปอีกด้วย จะทำอะไรก็ตาม ขอให้ถูกต้อง ถูกพระธรรมวินัย และไม่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมจะเป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญอย่างยิ่ง  อย่าลืมว่า พระธรรมวินัยคือองค์แทนพระศาสดา การก้าวล่วงพระธรรมวินัย คือการทำร้ายพระศาสดา และย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเองในที่สุด ฝากพุทธสุภาษิตปิดท้ายไว้ให้คิดว่า…….

  โย มาตรํ ปิตรํ วา     มจฺโจ ธมฺเมน โปสติ
  อิเธว นํ ปสํสนฺติ       เปจฺจ สคฺเค ปโมทติฯ
ผู้ใดเลี้ยงมารดาบิดาโดยธรรม บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้นั้นในโลกนี้  

เขาละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์ (มงฺคลตฺถทีปนี (ปฐโม ภาโค) : 287)

 

 



[1] ทุกกฏ แปลตามศัพท์บาลี  แปลว่าทำไม่ดี กล่าวคือ กรรมใดผิดพลั้งและพลาด กรรมนั้นชื่อว่าทำไม่ดี คนทำชั่วอันใดในที่แจ้งหรือในที่ลับ บัณฑิตทั้งหลายย่อมติเตียนว่าเป็นคนทำชั่ว ทำไม่ดี ทำผิด เพราะเหตุนั้น กรรมนั้นจึงเรียกว่าทุกกฏ เป็นอาบัติเบา เป็นอาบัติเล็กๆน้อยๆ ปลงอาบัติก็พ้นได้  ส่วนมากเกี่ยวกับมารยาทต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม

 

[2]  ๑.สักกายทิฏฐิ - มีความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นของเรา มีความยึดมั่นถือมั่นในระดับหนึ่ง

    ๒. วิจิกิจฉา - มีความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

    ๓. สีลัพพตปรามาส - ความถือมั่นในศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย

    ๔.กามราคะ - มีความติดใจในกามคุณ

    ๕. ปฏิฆะ - มีความกระทบกระทั่งในใจ

    ๖.รูปราคะ – มีความติดใจในวัตถุหรือรูปฌาน

    ๗. อรูปราคะ - มีความติดใจในอรูปฌานหรือความพอใจในนามธรรมทั้งหลาย

    ๘.มานะ - มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนหรือคุณสมบัติของตน

    ๙.อุทธัจจะ - มีความฟุ้งซ่าน

    ๑๐.อวิชชา - มีความไม่รู้จริง (ทั้ง ๑๐ ข้อนี้พระอรหันต์ละได้โดยสิ้นเชิง)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

๔ ภัยใกล้ตัว

                                                    โดยพระมหาวีระ  ปุญฺญวีโร

                                                   ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอนงคาราม วรวิหาร ป.ธ.๗ พธ.บ.(ภาษาอังกฤษ) ศศ.ม.(ภาษาศาสตร์)

 

      การที่ผู้เขียนได้มองเห็นสิ่งที่อยู่รอบๆตัวเรา สิ่งๆนั้นอาจมีทั้งคุณและโทษ โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นโทษ และเป็นอันตรายแก่ชีวิต เราควรสำเหนียกตระหนัก และระมัดระวังให้มาก เพราะสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากประสบพบเจอนั่นก็คือ ภัย คำว่าภัยแปลตามศัพท์พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า สิ่งที่น่ากลัว หรือ อันตราย  เมื่อเกิดขึ้นกับผู้ใดก็ตามผู้นั้นอาจถึงความตาย ความวิบัติ หรือความหายนะก็ได้ ตามทัศนคติของผู้เขียนได้มองเห็นภัยที่อยู่รอบตัวเรา ๔ ประเภทด้วยกันคือ ๑.ภัยภายนอก ๒.ภัยภายใน ๓.ภัยอันเกิดจากความทันสมัย และ ๔.ภัยอันเกิดจากพระไตรลักษณ์  เราลองมาพิจารณาดูว่าภัยแต่ละชนิดนั้นมีความน่ากลัวมากน้อยกว่ากันเพียงใด ภัยชนิดไหนเป็นอันตรายมากที่สุด และเราควรทำอย่างไรเมื่อภัยมาถึงตัว

  ๑.ภัยภายนอก กล่าวคือ ภัยที่อยู่นอกตัวเรา เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คือมนุษย์เราไม่สามารถจะไปบังคับกำหนดกฎเกณฑ์ได้ หรือเรียกว่า ภัยทางธรรมชาติ (Natural  Disasters) เช่น อุทกภัย(Floods) ภัยแล้ง(Droughts)  แผ่นดินไหว (Earthquakes) ภูเขาไฟระเบิด (Volcano  Eruptions) เกิดคลื่น สึนามิ (Tsunamis) เป็นต้น ภัยบางชนิดเราสามารถรู้เท่ารู้ทันกันไว้ได้ แต่บางชนิดไม่สามารถกำหนดรู้ได้ล่วงหน้าที่แน่นอน เช่นแผ่นดินไหว  คลื่นสึนามิ ถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะมีระบบดาวเทียมเป็นเครื่องเตือนภัยก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกชีวิตจะปลอดภัยเมื่อภัยพิบัติมาถึง เพียงแค่ได้รู้และเตือนเท่านั้น เมื่อมันเกิดขึ้นไม่มีใครห้ามหรือหยุดภัยพิบัติได้ เพราะมันเป็นภัยธรรมชาติ ผู้เขียนคิดว่า ผู้อ่านยังจำได้กับเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยเราที่ภาคใต้เมื่อปี ๒๕๔๗  นั่นก็คือ  คลื่นสึนามิ  ถือว่าเป็นภัยธรรมชาติร้ายแรงมากที่สุด เท่าที่ประเทศไทยเคยได้รับ ถึงแม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะมากเป็นอันดับ ๔ รองจากประเทศอินโดนีเซีย ศรีลังกา และอินเดีย ตามที่ข่าวรายงานก็ตาม ซึ่งก็สร้างความเศร้าสลดเสียใจเป็นอย่างยิ่งแก่ผู้ประสบภัยในครั้งนั้น และล่าสุดเกิดภัยพิบัติขึ้นที่ประเทศเนปาล คือ แผ่นดินไหว  มีผู้เสียชีวิตประมาณ เจ็ดพันก็ราย บาดเจ็บก็มากมาย เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นถึงการสูญเสีย  ล้มตาย และบาดเจ็บ ของเหยื่อผู้ประสบภัย  ฉะนั้นการที่ผู้เขียนได้ยกภัยธรรมชาติขึ้นมาอธิบายก็เพื่อให้เห็นถึงความเป็นจริงของธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ในแต่ละครั้งว่า เมื่อมันเกิด ตั้งอยู่ และก็ดับไปได้  ผู้เขียนจึงขอใช้คำว่าภัยภายนอก เพราะมันอยู่นอกเหนือการบังคับ การกำหนดกฎเกณฑ์ของมนุษย์ เกิดขึ้นเอง ตามธรรมชาติ  ถ้าโชคดีก็รอดชีวิต หรือหนีเอาตัวรอดได้  ถ้าโชคร้ายก็พบกับความสูญเสีย หรือคิดเสียว่าถูกธรรมชาติลงโทษ เราจะเห็นได้ว่า มันเกิดขึ้นเอง มีเองตามธรรมชาติ ดังนั้นภัยภายนอกนี้บางชนิด เมื่อมันจะเกิดขึ้นก็สามารถหลบลี้หนีภัยได้และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็กลับมาอยู่ที่เดิมตามปกติ บางชนิดก็ตกเป็นเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายของภัยนั้นๆ ไม่สามารถหลบลี้หนีได้ ภัยชนิดนี้นับว่าร้ายแรงมาก เรียกว่าภัยภายนอก

   ๒. ภัยภายใน คือ ภัยที่เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์เรา ได้แก่กิเลส ไม่ว่าจะเป็นความละโมบโลภมาก ความอยาก ความโกรธ ความหลง ที่มันเกิดขึ้นในใจ  เราจะพบว่าทุกวันนี้สังคม ประเทศชาติวุ่นวาย ทำให้เกิดการแก่งแย่ง การแตกแยก แตกความสามัคคี แย่งที่ทำกินแย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่พิศวาส แย่งอำนาจกันเป็นใหญ่ ฝักใฝ่ในกาม ตามใจอยาก  มากคู่เคียง เสี่ยงกับโรคภัย ใกล้อบายมุข ทั้งหมดนี้คือกิเลสของมนุษย์ทั้งนั้น  ภัยชนิดนี้ถือว่าเป็นภัยที่ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในสันดานของมนุษย์ ถ้าไม่รู้จักพอ ติดอยู่ในอำนาจของกิเลสก็สามารถทำให้โลกวิบัติได้ แม้แต่พวกเศรษฐีมหาเศรษฐี ขึ้นชื่อว่าร่ำรวยมหาศาล ก็ยังไม่รู้จักคำว่า พอ เข้าตำราที่ว่าได้คืบจะเอาศอก ดังที่นักปราชญ์ท่านหนึ่งได้ประพันธ์ไว้ว่า

    ความไม่พอ ใจจน เป็นคนเข็ญ  

  พอแล้วเป็น เศรษฐี มหาศาล  

จนทั้งนอก ทั้งใน ไม่ได้การ 

  จนคิดอ่าน แก้จน เป็นคนพอ 

          เมื่อถูกความโลภครอบงำ จะไม่รู้จักคำว่า พอ  ยิ่งโลภยิ่งอยาก ยิ่งได้ก็ยิ่งมาก เพราะความโลภไม่มีที่ 

   สิ้นสุด ยิ่งโลภมากเท่าไรยิ่งบรรลัยมากเท่านั้น เพราะความโลภเป็นอันตรายแห่งธรรมทั้งหลาย  บาง

คนโลภจนเกินพอดี ความโลภบังตาจนต้องทำทุจริต ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมายอย่างนี้เป็นต้น ถ้าจะ

แก้ไขภัยภายในคือความโลภได้ต้องแก้ด้วยธรรมะ คือ สันโดษ คำว่าสันโดษในทางพระพุทธศาสนา

แปลว่า ความยินดี ความพอใจ ในสิ่งที่ได้มาด้วยเรี่ยวแรง และความชอบธรรมของตน ตามที่มี ตามที่

ได้ มีความรู้จักอิ่ม รู้จักพอหรือจะเรียกว่าเศรษฐกิจพอเพียงก็ได้ แบ่งออก ๓ ประเภทคือ

            ๑.ยถาลาภสันโดษ แปลว่ายินตามที่ได้ กล่าวคือพอใจในสิ่งที่ตนมียินดีในสิ่งที่ตนได้ไม่ขวนขวายอยากได้สิ่งอื่นที่มิใช่ของตน ไม่กระวนกระวายในสิ่งที่ตนไม่ได้ ไม่ปรารถนามากไปกว่าสิ่งที่ตนควรจะได้ ไม่เพ่งเล็ง ไม่ริษยาของผู้อื่น

               ๒.ยถาพลสันโดษ แปลว่ายินดีตามกำลังของตน กล่าวคือไม่ยินดีเกินกำลังของตน สังเกตว่า เมื่อเราทำอะไรก็แล้วแต่ถ้ามันเกินกำลัง สิ่งนั้นไม่เป็นทุกข์ก็เป็นหนี้แก่เรา

               ๓.ยถาสารุปปสันโดษ แปลว่ายินดีตามที่เหมาะสมกับตน หรือสมควรแก่ฐานะนั่นเอง เราจะทำอะไรก็แล้วแต่ อย่าให้เกินตัว อย่าให้เกินฐานะการเป็นอยู่ของตน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า สันโดษเป็นหลักธรรม พอที่จะบรรเทาความโลภได้บ้าง แต่ไม่หมดเพราะคนเรามีกิเลสลึกตื้น สั้น ยาว หนาบางไม่เท่ากันโปรดจำไว้ว่า เราไม่มีวันจะได้สิ่งที่เราพอใจ จนกว่าจะได้เรียนรู้ที่จะพอใจในสิ่งที่เรามี  ส่วนภัยภายในข้อต่อมาคือ ความโกรธ ถือว่าเป็นภัยที่น่ากลัวมากเปรียบเสมือนไฟอยู่กับใครก็บรรลัยเผาคนนั้นให้วอดวายได้ ความโกรธในทางพระพุทธศาสนาทำให้เกิดการผูกใจอาฆาต มีใจที่ไม่หวังดี มีการจองเวรซึ่งกันและกัน รวมไปถึงการคิดประทุษร้าย เนื่องด้วยมีใจพยาบาทดังพุทธสุภาษิตที่ว่า  ยํ กุทฺโธ อุปโรเธติ สุกรํ วิย ทุกฺกรํ แปลว่า ผู้โกรธจะผลาญสิ่งใด สิ่งนั้นทำยากก็เหมือนทำง่าย กล่าวคือเมื่อความโกรธครอบงำแล้วสามารถทำได้ทุกอย่าง ที่ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมายเช่นฆ่าคนเพราะความหึงหวง โกรธเพราะถูกกระทบกระทั่ง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ถูกหักหลังรังแก ถูกปัดแข้งปัดขา ถูกข้ามหน้าข้ามตา ถูกด่าว่าเสียหาย ถูกใส่ร้ายป้ายสี ถูกติฉินนินทา เป็นต้น ทั้งหมดนี้ล้วนแต่สร้างภัยให้ทั้งนั้น จะระงับความโกรธได้ต้องรู้จักฝึกจิต มีสติรู้เท่ารู้ทันอารมณ์ ดังคำที่ว่า สติมาปัญญาเกิด สติเตลิดจะเกิดปัญหา ส่วนภัยภายในข้อสุดท้ายคือความหลง ได้แก่  ความหลงผิด ความเห็นผิด ความคิดผิด การปฏิบัติผิด เช่นคนที่ไม่เชื่อเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ สุคติ ทุคติ ภูมิ ภพ นิพพาน เป็นต้นหรือพวกที่แย้งจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ดี ภัยข้อนี้ก็อันตรายเช่นเดียวกัน ทำให้คนงมง่าย เชื่อผิดๆ อันเป็นเหตุให้ประพฤตินอกพระธรรมวินัย เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการปกครอง เกิดสัทธรรมปฏิรูป ในที่สุดแตกความสามัคคีขาดความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เมื่อถูกโมหะครอบงำแล้วต้องแก้ด้วยธรรมะ คือ ปัญญาพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ กล่าวคือ ได้ยินได้ฟังอะไรมา ให้พิจารณาโดยแยบคาย หาเหตุหาผล หรือพิจารณาเพื่อให้เห็นถึงความจริงโดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับแล้วค่อยเชื่อ  เพราะฉะนั้นภัยภายในนี้ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น เราสังเกตว่าไม่มีอะไรที่แก้ได้นอกเสียจากธรรมะ ที่จะช่วยเยียวยา ขัดเกลาจริตอัธยาศัยให้ดีขึ้น หรืออบรมจิตใจให้เบาบางจากกิเลส และให้ดีงามได้ นี้เรียกว่าภัยภายใน

๓.ภัยอันเกิดจากความทันสมัย กล่าวคือความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทันสมัย ก้าวไกลไปด้วยยุคไฮเทค ได้แก่อุปกรณ์เครื่องสื่อสารที่ทันสมัย เช่น โทรศัพท์รุ่นต่างๆ (mobile phone) โน๊ตบุ๊ค(notebook) ไอแพด (iPad) ไอโฟน (iPhon) สมาร์ทโฟน (smart phone) เป็นต้นที่สามารถเล่นผ่าน โซเชียว เน็ทเวิร์ค (Social network)  เป็นรูปแบบของเว็บไซต์ในการสร้างเครือข่ายทางสังคม มักจะประกอบไปด้วย การแชท(chat) ส่งข้อความ ส่งอีเมล(E-mail) วิดีโอ เพลง อัพโหลดรูป ฯลฯ สำหรับผู้ใช้งานทางอินเทอร์เน็ตเช่น  เฟชบุ๊ค (Facebook ) ไลน์ (Line) ทวิตเตอร์(Twitter)ฯลฯ  สิ่งเหล่านี้ผู้เขียนเชื่อว่า เล่นเป็นทุกเพศ ทุกวัยก็ว่าได้ ยกเว้นตาสีตาสาตามบ้านนอกที่เล่นไม่เป็น  อะไรก็แล้วแต่ที่ทันสมัยมันก็มีทั้งคุณและโทษ อะไรที่เล่นแล้วเป็นโทษก็ถือว่าเป็นภัยแก่ชีวิต  ผู้คนส่วนมากในปัจจุบันนี้มีใจจดจ่อกับอุปกรณ์สื่อสารโดยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง  จนทำให้เป็นที่รู้จักกับคำว่า สังคมก้มหน้า หรือสังคมก้มหัว ซึ่งต่างประเทศใช้คำว่า Phubbing[1] ได้ถูกพูดกันในสังคมปัจจุบันอย่างแพร่หลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนประเภทนี้  แน่นอนไม่มีสติ ขาดความระมัดระวัง  ถึงกับเป็นอันตรายแก่ชีวิตแม้แต่เวลาข้ามถนนหรืออยู่กลางถนน ก็ยังจ้องมองไปที่จอภาพ มากกว่าที่จะระมัดระวังจากภยันตรายรอบข้าง บางทีไฟสัญญาณจราจรก็ไม่รับรู้ จะขึ้นรถลงเรือก็ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น นอกเสียจากหน้าจอโทรศัพท์ โดยเฉพาะบนรถไฟฟ้าบีทีเอส จะพบบ่อยมากที่เห็นกำลังเล่นเกม หรือแชท(chat)กันอย่างเพลิดเพลิน สนุกสนานอย่างเมามัน โดยไม่สนใจคนรอบข้าง  คนเราทุกวันนี้ มีปฏิสัมพันธ์ เพลิดเพลินหลงใหล มัวเมา หมกมุ่นอยู่บนโลกไซเบอร์ (โลกออนไลน์)มากกว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกแห่งความเป็นจริง หรือการเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันนั่นเอง คนประเภทนี้คือคนประมาท ขาดสติเลินเล่อในการดำเนินชีวิต สุดท้ายผลที่ตามมาคือ เปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้เป็นคนใจร้อน คาดหวังผลเร็วขึ้น อารมณ์หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย เอาแต่ใจ ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ไม่เข้าสังคมโลกแห่งความเป็นจริง  มีโลกส่วนตัวสูง และภัยชนิดนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมตามมา เช่น ฆ่าผู้อื่น ทำร้ายร่างกาย ข่มขืนกระทำชำเรา ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นภัยที่มากับความทันสมัยทั้งนั้น  ดังนั้นเมื่อความก้าวไกลทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาถึง ก็ให้ระมัดระวัง รู้เท่าทัน ไม่ล้ำสมัย ไม่เกินตัว ไม่เกินฐานะ รู้จักใช้ คือใช้ให้เป็นประโยชน์ และไม่ตกเป็นทาสทางวัตถุ ชีวิตก็จะปลอดภัย นี้เรียกว่าภัยอันเกิดจากความทันสมัย และสุดท้าย

๔.ภัยอันเกิดจากพระไตรลักษณ์ กล่าวคือ ภัยแห่งสังขารร่างกาย ได้แก่ อนิจจํ ความไม่เที่ยง ทุกขํ ความเป็นทุกข์ อนตฺตา ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เมื่อมองดูแล้วเหมือนจะไม่ใช่ภัย แต่ผู้เขียนขอจัดว่าเป็นภัยก็แล้วกัน เพราะภัยชนิดนี้คือภัยแห่งชีวิตมีเกิดขึ้นตั้งอยู่ และก็ดับไปประสบกันทุกท่านทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย จะสอนให้รู้ถึงความเปลี่ยนแปลงและก็เปลี่ยนไปของวัย จากปฐมวัย(วัยเด็ก วัยหนุ่ม วัยสาว) เป็นมัชฌิมวัย (วัยกลางคน) จาก มัชฌิมวัย กลายเป็นปัจฉิมวัย(วัยชรา) กล่าวได้ว่า อนิจจํ สอนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ความไม่คงที่คงทนของขันธ์ ๕ [2] และวัยของแต่ละบุคคลว่ามันไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่คงสภาพอยู่อย่างเดิม ทุกขํ สอนให้เห็นถึง ความเจ็บไข้ ไม่สบาย เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆก็เป็นทุกข์ โดยเฉพาะสภาวทุกข์ แปลว่า ทุกข์ประจำสังขาร ได้แก่ เกิด แก่ เจ็บตาย ถือว่าเป็นทุกข์ทั้งนั้น  และ อนตฺตา สอนให้เห็นถึงความแตกดับสลายไปในที่สุดแห่งขันธ์ ๕ มีเกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรไปในท่ามกลาง และสุดท้ายก็ดับไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นทุกชีวิตมีความตายเป็นเบื้องหน้า ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า

                                           ทหรา จ มหนฺตา จ              เย พาลา เย จ ปณฺฑิตา

                                         สพฺเพ มจฺจุวสํ ยนฺติ          สพฺเพ มจฺจุปรายนา. (ขุ.สุ. ๒๕/๔๔๘)

                             ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนโง่ ทั้งคนฉลาด ย่อมไปสู่อำนาจแห่งความตาย

                             ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้ากันทั้งนั้น

จากพุทธสุภาษิตบทนี้สอนให้รู้ว่า ไม่มีใครหลีกหนีความตายได้ มีเกิดที่ใด ความตายย่อมมีในที่

นั้น เพราะฉะนั้นการที่ผู้เขียนได้จัดให้พระไตรลักษณ์เป็นภัยชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตเราก็เพราะว่า

มันสอนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของชีวิต และอยากให้ทุกท่านทุกคนได้เรียนรู้ชีวิตจริง ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต และไม่ประมาทในเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ ให้พิจารณาถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสังขารร่างกายว่าสักวันหนึ่ง เราต้องเสียของรัก เสียคนรัก เสียชีวิต เมื่อมีชีวิตอยู่ให้สั่งสมคุณงามความดีไว้มากๆ เมื่ออยู่ก็สบายไปก็สะดวก อยู่ก็ไม่ลำบากจากก็ไม่ลำเค็ญ  ฉะนั้นภายชนิดนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่มีทางแก้ ไม่มีทางหลีกหนีได้ ทำได้อย่างเดียวคือ ทำใจยอมรับกับความเป็นจริงพิจารณาตามกฎของพระไตรลักษณ์

     ดังนั้นจากการที่ผู้เขียนได้อธิบายมาตั้งแต่ต้น เกี่ยวกับภัยแต่ละชนิดที่มีลักษณะร้ายแรงแตกต่างกันออกไป บางอย่างก็มีทั้งคุณและโทษบางอย่างก็ให้โทษฝ่ายเดียว โดยเฉพาะภัยที่๑ ภัยภายนอก คือภัยทางธรรมชาติเมื่อเกิดขึ้นไม่ว่า คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ ย่อมถึงความพินาศ สูญเสียทั้งนั้นและ

สาเหตุที่ผู้เขียนได้หยิบยกมาก็เพื่อเตือนสติให้ผู้อ่านระมัดระวัง ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต

ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอัพเดทข้อมูลทุกสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ทเป็นต้น เมื่อภัยมาจะได้รู้เท่า รู้ทัน กันไว้ได้  ส่วนภัยที่๒ คือภัยที่เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ ถือว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวและร้ายแรง เพราะภัยชนิดนี้เกิดขึ้นได้ทุกขณะ ทุกเวลา เกิดขึ้นเมื่อใดก็ถึงความฉิบหายเมื่อนั้น ซึ่งต่างจากภัยภายนอกนานๆครั้งจึงเกิด ไม่ได้เกิดทุกที่ และไม่ได้เกิดทุกวี่ทุกวัน และทางแก้ไขสำหรับภัยที่ ๒ นี้พอที่จะเยียวยาได้คือต้องฝึกจิต อบรมจิตใจ ขัดเกลากิเลสให้เบาบาง ด้วยรสพระธรรม และให้รู้จักลด ละ เลิกในสิ่งที่เป็นอบายมุข ส่วนภัยที่ ๓ มันเกิดจากความทันสมัย เมื่อโลกเจริญด้วยยุดไฮเทค เราจะทำตัวอย่างไร กล่าวคือไม่ตามกระแสจนเกินไป ไม่หลงอยู่ในความทันสมัย ไม่สร้างภัยแก่ตนเองและสังคมประเทศชาติให้เดือดร้อนวุ่นวาย มีสติ รู้จักระมัดระวัง รู้เท่าทัน ไม่ล้ำสมัย ไม่เกินตัว ไม่เกินฐานะ รู้จักใช้ คือใช้ให้เป็นประโยชน์ มีธรรมคือสันโดษทุกอย่างก็จะดี เมื่อมันล้ำสมัยหรือทันสมัยฮิตกันมาก สักวันมันก็กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปได้ เพราะเทคโนโลยีเจริญก้าวไกลไปทุกวัน และภัยที่ ๔ คือภัยอันเกิดจากพระไตรลักษณ์ ภัยนี้คือภัยประจำชีวิตมีกันทุกคนตั้งแต่เกิดจนวันตาย ทุกชีวิตได้รับเสมอกันถือเสียว่าเป็นสัจธรรมแห่งพระไตรลักษณ์ได้มอบให้ทุกคนอย่างเที่ยงธรรมโดยเสมอภาคคือเวลาและความตาย เมื่อเกิดขึ้นกับเราเองหรือคนที่เรารักทำได้อย่างเดียวคือทำใจ และให้พิจารณา อภิหปัจจเวกขณ์ ตามที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ ๕ ประการด้วยกันคือ

               ๑. ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้

               ๒. ควรพิจารณาทุกๆ วันว่า เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้

               ๓. ควรพิจารณาทุกๆ วันว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้

               ๔. ควรพิจารณาทุกๆ วันว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น

               ๕. ควรพิจารณาทุกวันๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว

                เมื่อพิจารณาได้เช่นนี้ขึ้นชื่อว่า เป็นผู้ไม่กลัวภัยใดๆ ไม่หวาดหวั่นขวัญเสียเพราะเราระลึก รู้ สู้ และก็รับได้ คือเตรียมพร้อม ซ้อมใจไม่กลัว  รู้เท่าทันไม่หวั่นไหว  เข้าใจว่า หลีกไม่ได้หนีไม่พ้น ยอมรับ ทำใจได้ เท่านี้พญามัจจุราชย่อมไม่เข้าใกล้ผู้พิจารณาเช่นนี้

 



[1]  The act  of snubbing someone in a social setting by looking at your phone instead of paying attention.

[2] รูป เวทนา สัญญา สังขาร  วิญญาณ เรียกว่าขันธ์ ๕

 

 

 

 

 

 

 

 

บทความที่ลงหนังสือวิสาขบูชาประจำปี 2557

ทายไม่ออก!  บอกไม่ถูก !

                                                      โดยพระมหาวีระ   ปุญฺญวีโร

                                                     ป.ธ. ๗  พธ.บ.(ภาษาอังกฤษ) ศศ.ม.(ภาษาศาสตร์)

          การใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันนี้ สิ่งที่เรารู้ได้โดยยาก กำหนดไม่ได้  และไม่สามารถคาดเดาได้ตลอดเวลา สิ่งนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ทุกขณะทุกเวลา นั่นก็คือ จิตใจ และ อารมณ์ เพราะจิตใจของคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงง่าย เปรียบเสมือนสายลมที่เปลี่ยนทิศ ทำให้จิตไม่มั่นคง กล่าวคือ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เช่น บางครั้งก็เป็นมาร  บางกาลก็เป็นเทวดา บางเวลาก็เป็นพระ บางจังหวะก็เป็นพรหม บางอารมณ์ก็เป็นยักษ์ บางพักก็เป็นคน บางหนก็เป็นมนุษย์ นี่แหละคือจิตของคนเรา เอาแน่นอนไม่ได้ แต่บางครั้งเราก็สามารถรู้ได้จากลักษณะ สีหน้า ท่าทาง การพูด การแสดงออก เช่น ยิ้มแย้ม แจ่มใส หรือ หน้าบูด หน้าเบี้ยว แสดงอาการไม่พอใจ อย่างนี้เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้เราสามารถเดาออก บอกได้ ว่าคนๆนั้น อารมณ์ดีหรือไม่ดีมีจิตใจเป็นเช่นไรในขณะนั้น    แต่ก็มีอยู่สิ่งเดียวที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคนนั้นๆไปตามอารมณ์ได้ง่าย นั่นก็คือ จิตที่มั่นคง หรือจิตที่ฝึกดีแล้ว และผู้นั้นก็ต้องตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมด้วย ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่มากระทบดังพุทธสุภาษิตที่ว่า จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ แปลว่า จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขให้

             ส่วนอีกประเภทหนึ่งคนบางคนมีสีหน้า ท่าทาง การพูด บอกอีกอย่าง ในใจก็คิดอีกอย่าง เช่น สีหน้าบอกเป็นมิตร แต่ในใจคิดอาฆาตพยาบาท ไม่เป็นมิตร แสร้งเป็นทำดีตบตาก็มี ซึ่งยากที่จะเดาออก บอกถูก ว่าในใจกำลังคิดอะไรอยู่  เพราะเหตุนั้นการที่ผู้เขียนได้ยกหัวข้อที่ว่า ทายไม่ออก บอกไม่ถูกขึ้นเป็นชื่อเรื่อง  ก็เพราะว่า ทุกวันนี้จะดูคนก็ดูยาก แม้แต่ดูมากๆก็ยากที่จะบอกได้ว่าเป็นคนเช่นไร  การที่เราจะรู้นิสัยใจคอของใครสักคนได้นั้น  ไม่ใช่อาศัยเฉพาะเวลาชั่วนิดในการตัดสิน หรือพิสูจน์คนนั้นๆ ว่าดีหรือไม่ดี  เมื่อพูดถึงประเด็นนี้ผู้เขียนเล็งเห็นถึงความสำคัญของคำว่า “พิสูจน์” (prove) เพื่อมาตัดสินบุคคลนั้นๆ ว่าเป็นคนเช่นไร คำว่า พิสูจน์ แปลว่า บ่ง หรือ ชี้แจงให้รู้เหตุผล  ทดลองให้เห็นจริง  ทดลองหาความจริง (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2542) กล่าวคือ สิ่งใดก็ตามเมื่อได้พิสูจน์แล้ว สิ่งนั้นจะต้องทำให้เราเห็นแจ้งรู้จริง หรือ พบกับความเป็นจริง เชื่อถือได้ ในประเด็นนี้ผู้เขียน อยากให้ข้อคิดแก่ผู้อ่าน หรือแก่สังคมที่อยู่รอบตัวเรามากขึ้น  ไม่ใช่ใครพูดอะไรก็เชื่อ ใครสั่งให้ทำอะไรก็ทำ โดยไม่ได้พินิจพิจารณาหาเหตุหาผล ว่าถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี ควรหรือมิควร เพราะคนเราทุกวันนี้ เข้าตำราที่ว่า รู้หน้า แต่ไม่รู้ใจ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการพิสูจน์มาตัดสิน  เพื่อหาข้อเท็จจริง ดังคำที่ว่า การตัดสินคดีพิสูจน์ศาล  กาลเวลาพิสูจน์คน (ชั่ว-ดี มี-จน จริงใจ-ไม่จริงใจ)  

            คนเราทุกวันนี้ ไม่ว่าสังคมใดก็ตาม ทุกวงการ ทุกองค์กร ไม่ว่าทางโลกก็ดี ทางธรรมก็ดี ต่างก็มีหน้าที่ที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะสัมพันธชนคนใกล้เคียงที่อยู่รอบข้างเรา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน  คนร่วมงาน  เจ้านาย หัวหน้า ลูกน้อง ก็ตาม  คนจำพวกนี้เมื่ออยู่ร่วมกันจะทำให้เราทราบถึง พฤติกรรมนิสัยใจคอว่า เป็นคนเช่นไร เช่น จริงใจหรือไม่จริงใจ ดี หรือไม่ดี ซื่อสัตย์ หรือคดโกง หน้าไหว้หลังหลอก ตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จ เป็นต้น จึงเป็นเหตุให้มีสำนวนไทยสำนวนหนึ่งที่ว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า  กาลเวลาพิสูจน์คน” (Time will tell. Only time can tell.)  หมายความว่า ระยะทางที่แสนยาวไกลสามารถรู้ถึงกำลังของม้าว่าเป็นอย่างไร  คนเราเมื่ออยู่ด้วยกันเป็นเวลานานสามารถเห็นถึงธาตุแท้หรือความจริงใจของกันและกันได้ อีกนัยหนึ่ง ระยะทางจะบอกว่าม้าแกร่งกล้าหรือล้าอ่อน ทางไกลไปดงดอนวิ่งตะลอนถึงจุดหมายได้  ก็เหมือนม้ามีเชาว์ดี มีฝีเท้าเร็วย่อมวิ่งไปได้เร็วกว่าม้าที่อ่อนกำลัง คนเราก็เหมือนกันจะดูคนว่าดี หรือชั่ว จริงใจหรือไม่จริงใจ โกหกตอแหล  เสแสร้งแกล้งทำ ไม่ใช่ดูแค่ผิวเผินเพียงเวลาชั่วนิด แล้วคิดว่าคนๆนั้นเป็นคนดี หรือเป็นคนที่ใช่ กล่าวคือจิตใจคนเรายากที่จะหยั่งรู้ได้ ซึ่งต่างจาก ความลึกของระดับน้ำทะเล ความสูงของภูเขามนุษย์เราสามารถวัดได้ และหยั่งความสูงและความลึกได้ แม้แต่เครื่องบินที่บินอยู่บนน่านฟ้า ยังสามารถทราบระดับความสูงได้   ส่วนจิตใจ นิสัย พฤติกรรม ของคนเรายากที่จะรู้ได้  ต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องตัดสิน พิสูจน์บุคคลนั้นๆ จึงจะเห็นตัวตนที่แท้จริงของเขาได้ เช่นตัวอย่าง สามี ภรรยาที่อยู่ด้วยกัน ต่างก็เรียนรู้นิสัยใจคอของกันและกัน ค่อยๆปรับเข้าหากัน จึงจะอยู่ด้วยกันได้ตลอดรอดฝั่งแม้แต่เพื่อนสนิทมิตรสหายก็เช่นเดียวกัน เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ให้รู้ว่า เพื่อนแท้ หรือ เพื่อนเทียม เพื่อนกินหรือเพื่อนตาย แน่นอนว่า ทุกคนต่างก็มีบทบาท อุดมการณ์  จุดยืน สถานภาพที่แตกต่างกัน แต่สิ่งนั้นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเครื่องวัดคุณค่าของความเป็นคนดีได้สมบูรณ์ตลอดไป  เพราะกาลเวลาเปลี่ยนไป จิตใจก็เปลี่ยนได้ แม้แต่ลมยังเปลี่ยนทิศ ชีวิตคนเรานี่หรือจะเปลี่ยนไม่ได้  เพราะฉะนั้นถ้าคนเรายืนหยัดในความถูกต้องเที่ยงตรง  เที่ยงธรรม ไม่มีอคติลำเอียง นั่นแสดงว่า บุคคลนั้น มีคุณธรรมเป็นที่ตั้ง  แต่ในการเป็นอยู่ของสังคมเราทุกวันนี้ ไม่ได้คำนึง ว่า ผิดหรือ ถูก  ดี หรือ ชั่วเสมอไป เพราะคิดเอาแต่ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง และที่สำคัญเพราะมีอำนาจบางอย่างมาทำให้เปลี่ยนแปลง และก็เปลี่ยนไป เพราะหลงในอำนาจนั้น  อะไรก็ตามเมื่อถูกอำนาจนี้ครอบงำแล้ว  คนที่เคยขึ้นชื่อว่า เป็นคนดี ก็กลายเป็นคนเลวได้ ที่เคยเที่ยงตรง ก็กลายเป็น ลำเอียง ที่เคยอยู่ข้างเคียง ก็แปรพรรคไม่จงรักภักดี  นั่นก็คือ อำนาจเงิน  เมื่อพูดถึงอำนาจเงินผู้เขียนได้เคยอธิบายไว้ในเรื่องค่าของคน ตอนหนึ่ง (หนังสือวิสาขบูชาปี 2555)    แต่ในส่วนประเด็นนี้จะขอหยิบยกขึ้นมาอภิปรายในส่วนความหมายเพิ่มเติม ตามหลักภาษาศาสตร์(Linguistics) ที่ว่าเปรียบเงินคือพระเจ้า (MONEY IS GOD) หรือจะเรียกว่า พระเจ้าเงินตราก็ได้  กล่าวคือ นักภาษาศาสตร์บางท่าน (Lakoff & Johnson. 1980) กล่าวว่า การเปรียบเทียบหรืออุปลักษณ์ (Metaphor) สิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าสิ่งนั้นต้องมีค่า หรือยิ่งใหญ่ หรือคนให้ความสำคัญกับสิ่งนั้นมาก หมายความว่า พระเจ้าคือผู้ยิ่งใหญ่ สามารถบันดาลอะไรได้ตามปรารถนาสารพัดในปฐพี เอามันนี่(money) แลกได้ดั่งใจหมาย นี่คืออำนาจเงิน คือพระเจ้า  ในส่วนตรงนี้ องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เคยตรัสกับพระอานนท์เถระเกี่ยวกับห่อเงินและทองที่ตกอยู่ข้างคันนาที่พวกโจรปล้นแล้วนำมาซ่อนไว้ พระองค์จึงตรัสชี้ให้เห็นว่า เงินและทองเปรียบเสมือน อสรพิษร้ายแก่บรรพชิต ส่วนชาวบ้านคนทั่วไปจะมองเป็นแก้วสารพัดนึก สุดท้ายจากแก้วสารพัดนึกก็กลายเป็นแก้วสารพัดพิษถ้าไม่มีสติ  โบราณท่านจึงกล่าวไว้ว่า เหล็กแท่งแข็งกระด้าง เอาเงินง้างอ่อนตามความประสงค์  แต่เราก็อย่าลืมว่า เงินไม่เข้าใครออกใคร  บันดาลให้ทั้งคุณและให้ทั้งโทษได้ดังต่อไปนี้

            ๑. เงิน   ทำให้โง่ หมายถึง เห็นกลับทำเป็นไม่เห็น รู้กลับทำเป็นไม่รู้ ผิดกลายเป็นถูก จากขัดใจกลายเป็นคล้อยตาม ไม่ขัดข้อง (โง่ไม่เป็น เป็นใหญ่ยาก แต่ถ้าโง่มากๆยากที่จะเป็นใหญ่)

            ๒. เงิน   ทำให้งก   หมายถึง ไม่รู้จักคำว่า พอ ยิ่งได้ ยิ่งอยาก ยิ่งมาก ยิ่งโลภ ไม่มีที่สิ้นสุดดังพุทธสุภาษิตที่ว่า โลโภ ธมฺมานํ ปริปนฺโถ ความโลภเป็นอันตรายแห่งธรรมทั้งหลาย อติโลโภ หิ ปาปโก ยิ่งโลภมากเท่าใด ยิ่งบรรลัย ฉิบหายมากเท่านั้น ((สํ.ส.๑๕/๕๙ น.ธ.ตรี)

            ๓. เงิน  ทำให้งง หมายถึง ได้เงินมาง่ายๆ มากไป ทำให้ตกใจ ทำอะไรไม่ถูก(ทุจริต คอร์รัปชั่น) อีกประเภทหนึ่ง ถูกลอตเตอรี่ ลูกรางวัลที่ 1 หรือ ลุ้นโชคได้รับรางวัลใหญ่ อย่างนี้เรียกว่าเงินทำให้งง ฉะนั้นมีเงินก็อย่างง อย่าไปหลงจนสุดขีด เงินก็เหมือนพวงมาลัย อาจจะกลายเป็นพวงหรีดก็ได้

            ๔. เงิน   ทำให้งัด   หมายถึง  ผลประโยชน์ไม่ลงตัว ส่วนได้ส่วนเสียไม่เท่ากัน ทำให้งัดข้อ ขัดแย้ง  เกลียด  แค้น ชิงชัง อาฆาตพยาบาท จองเวรกันไม่เลิก ดูได้จากสังคมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะผลประโยชน์ อำนาจเงินทั้งนั้น ถึงทำให้แตกคอ แตกแยก เดือดร้อน วุ่นวาย ไม่จบไม่สิ้นกันสักที

            ๕. เงิน   ทำให้หงาย หมายถึง ความลับที่ถูกปกปิดจะถูกเปิดเผย ที่ถูกปิดปาก ทำให้เปิดปาก  เปิดโปง สิ่งที่ไม่รู้ก็จะได้รู้ สิ่งที่ไม่ได้เห็นก็จะเห็นประจักษ์ สิ่งที่ไม่เคยได้ยินก็ได้ยิน ชัดเจน แจ่มแจ้ง

            ๖. เงิน   ทำให้ง่าย  หมายถึง คนเห็นแก่เงิน เห็นแก่สิ่งของ ถูกล่อด้วยอามิส ดึงเข้าไปร่วมพวก ร่วมพรรคจงรักภักดี ไม่มีอุปสรรคขัดขวาง เข้าตำราที่ว่า  อยู่ก็สบาย ไปก็สะดวก อยู่ก็ไม่ลำบาก จากก็ไม่ลำเข็ญ ไม่ติดขัดเพราะใช้เงินซื้อได้ (คนประเภทนี้ คือ คนไม่มีจุดยืน หรือ ไม่ยืนหยัด ตั้งมั่นอยู่ในอุดมการณ์ที่ถูกต้อง)

           ๗. เงิน   ทำให้งอน หมายถึง ให้น้อยไปก็ขัดใจ ไม่ร่วมมือด้วย  ไม่เข้าพรรคพวกด้วย หรือให้ไม่เท่ากันก็น้อยใจ แสดงอาการไม่พอใจ ทำงานแบบไม่เต็มใจ จนทำให้หักหลังกันได้ สุดท้ายก็พัง แตกคอกัน

           ๘. เงิน   ทำให้งาม  หมายถึงเนรมิตได้ดั่งใจหมาย บันดาลทุกสิ่งให้สวยสดงดงาม ตระการตา ทำให้หลงใหลและ ชอบใจแก่ผู้พบเห็นได้ เช่นเนรมิตบ้านหลังโตๆ คอนโดหรูหรา สรรหารถราคาแพงๆ  ทั้งหมดนี้คืออำนาจของเงิน เพราะฉะนั้นถ้าเราใช้ไปในทางที่ถูกต้อง ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม มีสติในการใช้ และการรับ ก็ถือว่า เป็นคุณแก่ผู้นั้น  ตามที่กล่าวมาแล้วเราจะเห็นว่า เงินซื้อได้ทุกอย่างก็จริง แต่อย่างไรก็ตามมีบางอย่างที่เงินตราไม่สามารถซื้อได้ มีดังนี้

               ๑. เวลา  หมายความว่า เวลาวารีไม่เคยรอใคร และไม่สามารถเอาเงินซื้อให้กลับคืนมาได้ ดังคำที่ว่า มีเงินเป็นร้อยล้าน ก็ซื้อเมื่อวานมาไม่ได้ กล่าวคือ เวลาล่วงไปๆ ไม่สามารถเอาเงินซื้อให้กลับคืนมาให้เหมือนเดิมได้(ความตาย) หรือคิดจะกลับไปแก้ไขสิ่งที่ได้ทำไปแล้วในอดีตก็ไม่ได้เช่นกัน (ความพลาดพลั้ง)เป็นเพียงบทเรียนสอนชีวิตเท่านั้น

               ๒. ความรัก (ที่แท้จริง) หมายความว่า ความรักที่ยิ่งใหญ่เช่นความรักที่พ่อแม่มีให้ลูก คือความรักที่บริสุทธิ์ ไม่สามารถตีเป็นค่าราคาได้  เงินซื้อความรักที่แท้จริง ที่จริงใจ และยิ่งใหญ่ไม่ได้ ดังคำที่ว่า เงินซื้อได้แต่ตัว แต่หัวใจครอบครองไม่ได้ กล่าวคือ คนที่เอาตัวเข้าแลกกับเงิน(ขายตัว) เพราะเห็นแก่เงิน โดยไม่ได้คิดถึงความต่ำต้อย ด้อยค่าเมื่อพูดถึงประเด็นนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึง ความรักของคนทั่วๆไป ที่เราเห็นกันในสังคมปัจจุบัน บางคนอาจค้านขึ้นว่า  ใช้เงินซื้อความรักได้   ก็จริงแต่เป็นความรักที่จำยอมเพราะอำนาจเงินเป็นที่ตั้ง ซึ่งไม่ได้เป็นความรักที่แท้จริง หรือ จากใจจริง เข้าตำราที่ว่า รักเพราะหวังผล เมื่ออับจนก็เลิกกัน  คือรักเพื่อหวังผลประโยชน์ แสวงหาทรัพย์สมบัติโดยไม่ได้คำนึงถึงความดี ความถูกต้อง เป็นที่ตั้งอย่างนี้ก็มีให้เห็นในสังคมเรา เช่นวงการดารา นักร้อง นักแสดง เราจะเห็นได้ตามข่าวแต่ละวัน เปลี่ยนคู่ครองเป็นว่าเล่น รักง่ายหน่ายเร็ว โดยไม่ได้คำนึงถึง อายุ เพศ วัย หน้าตา  ความหล่อ ความสวย ขอแค่รวย ดังคำที่ว่า รูปหล่อเป็นรอง ขอมองแค่ความรวยก็เป็นพอ  สุดท้ายก็ต้องร้าง เลิก ลาจากกันไป เปลี่ยนแล้วก็เปลี่ยนอีกหาความสุขสนุกกับชีวิตคู่ไปวันๆ โดยไม่มีความมั่นคงในการใช้ชีวิตคู่ที่แท้จริง

               ๓. ชีวิต หมายความว่า ชีวิตของมนุษย์ที่มีค่าเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงสัตว์เดรัจฉาน ในส่วนข้อนี้ ผู้เขียนเน้นไปที่ การใช้ชีวิต และการเป็นอยู่ของบุคคลในแต่ละวันเช่น   เงินซื้อที่ได้ ซื้ออาคารบ้านเรือนได้ แต่ซื้อความสุขภายในบ้านไม่ได้   เงินซื้อนาฬิกาได้  แต่ซื้อเวลาไม่ได้(มีความหมายตรงกับข้อที่๑)  เงินซื้อตำแหน่ง ซื้อยศ ฐาบรรดาศักดิ์ได้ แต่ซื้อความเคารพนับถือไม่ได้(ซื้อใจ) เงินซื้อประกันได้ แต่ซื้อความปลอดภัยของชีวิตทุกขณะไม่ได้  เงินซื้อเตียงนอนนุ่มๆได้ แต่ซื้อการนอนหลับไม่ได้(ไม่มีความสุขกับการนอน) และ เงินซื้อยารักษาโรคได้ แต่ซื้อการที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บไม่ได้ ดังสุภาษิตที่ว่า อโรคฺยา ปรมา ลาภาความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ฯลฯ

               ๔. มิตรแท้ หมายความว่า มิตรที่จริงใจกับเราทั้งต่อหน้าและลับหลัง (เพื่อนกินหาง่ายเพื่อนตายหายาก)  ทางพระพุทธศาสนาแบ่งมิตรแท้ไว้ ๔ ประเภท คือมิตรอุปการะ ๑ มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข ๑ มิตรแนะนำประโยชน์ ๑ มิตรมีความรักใคร่ ๑ ถ้าขึ้นชื่อว่า เป็นมิตรแท้กันจริงๆแล้ว เงินก็ไม่สามารถซื้อได้ อะไรก็ไม่สามารถทำให้ขาดจากกันได้ เพราะมีความเชื่อมั่นและเชื่อใจต่อกัน  เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า เงินสามารถบันดาลได้และก็ไม่ได้ ตามที่กล่าวมาแล้ว เงินคือสมบัติภายนอก บันดาลให้ทั้งสุขและทุกข์ ซึ่งต่างจากสมบัติภายใน(อริยทรัพย์)  ความดี บุญ-กุศล  ที่ไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง ในส่วนประเด็นนี้ ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านลองมองในแง่มุมด้านพระพุทธศาสนาที่ว่า ชีวิตเราก็มีเท่านี้ มาเปล่าไปเปล่า กล่าวคือ ทรัพย์สินทั้งมวลเรือกสวนไร่นาที่ตนอุตส่าห์แสวงหาเอาไว้  ก็ต้องพลัดพรากจากกระจาย  เมื่อตัวล้มตายไปนอนหลับตา ไม่มีอะไรติดตามตัวไปได้นอกเสียจากบุญ-บาป ที่ได้สั่งสมเอาไว้ ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า น มิยฺยมานํ ธนมนฺเวติ กิญฺจิ แม้ทรัพย์นิดเดียวก็ติดตามตัวคนตายไปไม่ได้ อย่าลืมว่า จะยิ่งใหญ่มีอำนาจวาสนาสักเพียงใด ก็ไม่ใหญ่ไปกว่าโลง (ฝากไว้ให้คิด)

                ดังนั้น การที่ผู้เขียนได้อธิบายเน้นถึงจิตใจ นิสัย และพฤติกรรมของคนเรานั้น ก็เพราะว่าสิ่งที่ทายยากก็คือทายใจ เดาใจ และสิ่งที่แสดงออกมาให้เห็นก็คือพฤติกรรม นิสัย สันดาน ถ้าเรา อยู่กับใคร คบกับใคร ทำงานกับใคร  เราจะค่อยๆรู้ว่าคนๆนั้นเป็นคนเช่นไร เพราะยึดสำนวนที่ว่าระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน ยิ่งกว่านั้นในสังคมรอบตัวเราไม่ควรประมาทในการเป็นอยู่ และการใช้ชีวิต โดยเฉพาะสัมพันธชนคนใกล้เคียง ควรรู้เขารู้เรา รู้เขาก็คือ รู้การเป็นอยู่ของคนรอบข้างเพื่อว่า รู้เท่าเอาไว้กันรู้ทันเอาไว้แก้ และที่สำคัญ ตัวเราเองอย่าเป็นคนหูเบา ให้ใช้ปัญญานำหน้า และศรัทธาตามหลัง มีความหนักแน่นและแยกแยะออก  อย่าตื่นข่าว ได้ยินอะไรมาก็เชื่อ โดยไม่พิจารณาหาเหตุหาผล อย่าเอาตัวบุคคลเป็นที่ตั้ง คือ ให้ยึดความถูกต้อง ยึดธรรม อย่ายึดบุคคลเป็นที่ตั้ง(คนไม่ดี) และ อย่าวิจารณ์โดยไม่ผ่านการวิเคราะห์ คือ ให้วิเคราะห์ก่อนวิจารณ์ จะได้พูดไม่ผิดพลาด และไม่พลาดพิงใครให้เสียหาย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราจะดูใครสักคนต้องดูนานๆ เพราะจิตใจนิสัยสันดานของคน เปลี่ยนแปลงได้ กำหนดได้ยาก ทายไม่ออก บอกไม่ถูก ได้แค่อาศัย เรื่องราวที่ผ่านมากาลเวลาเท่านั้นที่ทำให้รู้พฤติกรรมของคน กล่าวคือ กาลเวลาจะค่อยๆเปิดเผย เฉลยออกให้เห็น อย่างที่เขาเป็น ว่าเยือกเย็นหรือรุ่มร้อน (ธาตุแท้)  อีกอย่างหนึ่งการที่จะดูคนว่าเป็นคนเช่นไร เราต้องดูที่การกระทำและคำพูด ดังคำภาษิตที่นักปราชญ์ทางพุทธศาสนาท่านหนึ่งได้สอนสืบๆกันมาเป็นเวลาช้านานว่า...    

   คนดีชอบแก้ไข        คนจัญไรชอบแก้ตัว
    คนชั่วชอบทำลาย    คนมักง่ายชอบทิ้ง
    คนจริงชอบทำ         คนระยำชอบติ

               จากภาษิตข้างบนเราก็พอจะทายออก บอกถูกว่าคนๆนั้นมีพฤติกรรมเป็นเช่นไรที่แสดงออกมาให้เราเห็น เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งในการเป็นอยู่ในสังคมปัจจุบันเราต้องรู้เขารู้เรา ถ้าไม่รู้เขารู้แต่เรา จะไม่มีทางกันและทางแก้  เปรียบเสมือนม้ามีเชาว์ดี ที่มีฝีเท้าเร็ว  ย่อมวิ่งไปได้เร็วกว่าม้าที่อ่อนกำลัง และ เปรียบเสมือนคนมีปัญญาดีที่ไม่ประมาทในการเป็นอยู่  มีสติตื่นตัวในการดำเนินชีวิต รู้ว่าอะไรควรมิควร แล้วจึงทำ ซึ่งตรงกันข้ามกับคนที่ประมาทในชีวิต หลับอยู่ มัวเมาเพลิดเพลินในอบายมุข ไม่ได้คิดให้รอบคอบก่อนทำ ก่อนพูด ผลที่ตามมาคือนำความเดือดร้อนมาให้ในภายหลัง สมดังพุทธสุภาษิตที่ว่า

อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ                 สุตฺเตสุ พหุชาคโร 

      อพลสฺสํว สีฆสฺโส                     หิตฺวา ยาติ สุเมธโสติ.

                    แปลว่า คนมีปัญญาดีไม่ประมาท เมื่อคนอื่นพากันประมาท และตื่นอยู่ ในเมื่อคนอื่นหลับ
                   เขาจึงละทิ้งคนเหล่านั้นไปไกล เหมือนม้ามีฝีเท้าเร็ว วิ่งไปได้เร็วกว่าม้าอ่อนกำลัง ฉะนั้น

                                                                          (ธัมมปทัฏฐกถาภาค 2 หน้า 94)

Website: http://phramahaweera.siam2web.com

 

                                                

บทความที่ลงในหนังสือวิสาขบูชา2556 วัดอนงคาราม กรุงเทพ ฯ

รู้เท่า!รู้ทัน! กันโลกแตก                                        

   โดย พระมหาวีระ  ปุญฺญวีโร ป.ธ.7

 

การเป็นอยู่ในสังคมเราทุกวันนี้ โดยเฉพาะการใช้ชีวิตของคนเราในแต่ละวัน  ซึ่งเราจะต้องรู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะโลกเรานั้น ได้มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย  อาจจะมีทั้งคุณและโทษ ที่เราจะต้องรู้เท่ารู้ทัน เพราะการรู้เท่าทัน จะมีทางกันและทางแก้เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นมาในชีวิตเรา  ดังนั้นผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านมีสติ ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิตและได้มองเห็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรามากขึ้น

ซึ่งสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นก็ตาม ไม่เกิดขึ้นก็ตาม แต่ก็ขอให้รู้เท่ารู้ทันกันไว้ก่อน เพราะการรู้เท่าทันเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นถือว่าเป็นการไม่ประมาท  นั่นก็คือ เรื่องโลกแตก  พอพูดถึงโลกแตก ผู้เขียนขอย้อนไปถึงปลายปีที่แล้วคือปี 2012  เรื่องนี้ได้สร้างความตื่นตระหนก ตกใจ หวาดกลัวกันถ้วนหน้า  ได้มีการรายงานข่าวไม่ว่าจะเป็นข่าวสด ข่าวเด่น ข่าวรายวันก็ตามที พอรับรู้ข่าวสารทางอินเตอร์เน็ต โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วารสารต่างๆ ได้สร้างความหวาดกลัว ตื่นตระหนก ตกใจกับผู้คนเป็นจำนวนมาก  กลัวโลกแตกดับทุกมุมของโลก  จนทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางท่านให้เหตุผลบางประการกับข่าวลือโลกแตก4 ทาง โดยให้เหตุผลที่แตกต่างกันดังนี้

1.ทางดาราศาสตร์ เชื่อว่าจะเกิดการเรียงตัวกันของ โลก  กาแล็คซี่ทางช้างเผือก และดวงอาทิตย์ (จะเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่)
2.ทางโบราณคดี เชื่อว่าเป็นวันสุดท้ายในปฏิทินของชาวมายา(ชนเผ่ามายาแห่งอเมริกากลาง) สิ้นสุดแค่ 2012 เท่านั้น
3.ทางโหราศาสตร์ NOSTRADAMUS ได้ทำนายไว้เกี่ยวกับราศี และตีความ บอกว่ามันสอดคล้องกับ ทางดาราศาสตร์
4.ทางด้าน UFO  เชื่อเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาว-จานบินต่างดาว (ยูเอฟโอ-UFO)” หรือความลี้ลับกับวันสิ้นโลกนั่นเอง

จากเหตุผลทั้ง 4 ทางนี้ที่ผู้เขียนได้นำมาให้ผู้อ่านพิจารณาเท่านั้น แต่ไม่ได้ให้ท่านผู้อ่านปักใจเชื่อเลยทีเดียว  แม้จะมีนักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ รวมถึงองค์การNASA-องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา เรียงหน้าออกมาแจกแจงแถลงว่า ’21/12/2012 เป็นวันสิ้นโลก“ ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ก็ตามที ก็ถือว่าเป็นเหตุผลของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านเท่านั้น   แต่เมื่อเราพิจารณาดูว่า ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ โลกเราก็ยังไม่แตกดับ ยังไม่ถึงวันสิ้นโลก หรือพินาศไปแต่ประการใด ตามคำทำนายที่ปรากฏตามข่าว   ส่วนในทัศนคติแง่มุมของผู้เขียนไม่ขอกล่าวถึง4 ประเด็นข้างต้นนี้  เพราะเป็นเรื่องของทางดาราศาสตร์ก็ดี การทำนายทางโหราศาสตร์ก็ตามที ฟังๆดูแล้วเหมือนเป็นการสร้างข่าว หรือ สร้างกระแส  ให้ผู้คนตื่นตระหนก ตกใจกลัวเท่านั้นเอง แต่เราก็ผ่านวันนั้นมาได้ด้วยดี  โดยไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ผู้คนก็ตกใจกลัวโลกจะแตก เหมือนในหนังภาพยนตร์ 2012 วันสิ้นโลก  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรรู้เท่ารู้ทันสังคมปัจจุบันก็แล้วกัน  เพราะการรู้เท่าถือว่าเอาไว้กัน  การรู้ทันถือว่าเอาไว้แก้  แต่ถ้าว่าไม่รู้เท่าทันปรากฏการณ์ของโลกก็จะหมดทางกันและทางแก้ ซึ่งในส่วนตรงนี้จะไม่ขออธิบาย  ผู้เขียนจะขออธิบายอ้างอิงถึงหลักธรรมอันมีปรากฏในพระไตรปิฎก จะขอหยิบยกกล่าวถึงโลก ในทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น   แต่ก่อนอื่นผู้เขียนขอเท้าความถึงเรื่องโลกแตกที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้น  คือช่วงปลายปีที่แล้ว 2012 ได้มีญาติโยม บางท่านบางคน ได้ถามถึงประเด็นนี้เช่นกัน โดยถามว่า โลกจะแตกจริงไหม เราจะตายไหม ประมาณนั้น  และผู้เขียนก็ตอบผู้ถามไปว่า ตายสิโยม เพราะมีเกิด ก็ต้องมีตายอยู่แล้ว ขึ้นอยู่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง แต่เรื่องของโลกแตกอาตมาไม่สามารถรู้ได้ว่ามันจะแตกดับหรือไม่แตกดับ วันไหน เดือนไหน ปีไหน กำหนดไม่ได้ ทายไม่ออก บอกไม่ถูก   ซึ่งในวันนั้นรู้สึกว่าญาติโยมได้ใส่บาตร ทำบุญกันเป็นพิเศษ เพราะกลัวโลกแตก(กลัวตาย) เลยทำบุญ เป็นทุนไว้  ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ผู้เขียนได้เก็บมาเขียนเป็นบทความในครั้งนี้ โดยกล่าวถึงโลก ในทัศนคติของผู้เขียนเอง จะขอกล่าวถึงโลกในภาษาบาลี หมายเอาโลก 2  ที่มนุษย์เราต้องหันมาดู และใส่ใจเป็นพิเศษ( โลกวคฺค ธมฺมปท. ขุ.ธ. ๒๕/๓๘ ) ซึ่งกำลังแตกอยู่ทุกวันนี้คือ...

  1.     โลกโดยตรง ได้แก่ แผ่นดินที่อาศัย (Earth)
  2.  โลกโดยอ้อม ได้แก่ หมู่สัตว์ผู้อาศัย  ( Human beings)

ซึ่งประเด็นนี้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสให้พุทธบริษัทหันมาดูโลกทั้ง 2 ให้พิจารณารู้จักของจริง สิ่งที่เป็นจริง ละสิ่งที่เป็นโทษ ไม่ข้องติดในสิ่งที่เป็นคุณ พิจารณาให้เห็นถึงคุณและโทษของโลก ซึ่งมีลักษณะ 3 ประการคือ

  1. สิ่งที่ให้โทษโดยส่วนเดียว เปรียบเสมือนยาพิษ
  2.  สิ่งที่ให้โทษในเมื่อเกินพอดี  เปรียบด้วยของมึนเมา
3.สิ่งที่เป็นอุปการะ เปรียบเสมือนอาหาร และยารักษาโรค นั่นหมายความว่า เมื่อเราไม่พิจารณา ไม่หยั่งเห็นโลกโดยถ่องแท้ เป็นผู้ชื่อว่า หมกอยู่ในโลก ก็เพราะเราเพลิดเพลินในสิ่งอันให้โทษ  ระเริงจนเกินพอดี ในสิ่งอันอาจให้โทษ และติดในสิ่งที่เป็นอุปการะ ดังนั้น ผู้หมกอยู่ในโลกย่อมได้รับทุกข์
  1. บ้าง  สุขบ้าง สิ่งนั้น ๆ  จะพึงอำนวย  แม้สุขก็เป็นเพียง สามิสสุข  คือ ความสุขที่อิงอามิส กล่าวคือความสุขที่อาศัยกามคุณ  มีเหยื่อเจือด้วยของล่อใจเป็นเหตุแห่งความติด  ดุจเหยื่อ  คือ  มังสะอันเบ็ดเกี่ยวไว้  เป็นผู้อันจะพึงถูกจูงไปได้ตามปรารถนา เพราะเหตุนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสให้คนเราหันมาดูโลก ที่ตระการตาดุจราชรถที่พวกคนเขลาหมกอยู่ ดังที่ปรากฏในโลกวรรค ธรรมบทว่า

        เอถ ปสฺสถิมํ โลกํ       จิตฺตํ ราชรถูปมํ

       ยตฺถ พาลา วิสีทนฺติ     นตฺถิ สงฺโค วิชานตํ ฯ

 

 

แปลว่า..ท่านทั้งหลายจงมาดูโลกนี้อันตระการตาดุจราชรถที่พวกคนเขลาหมกอยู่ แต่พวกผู้รู้หาข้องอยู่ไม่

                                                

 

 

 

 

 

 

 

ประเด็นนี้ผู้เขียนขออธิบายความหมายของคำว่า โลก ตามมติของพระอรรถกถาจารย์ และตามมติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ที่มีปรากฏในหลักสูตรนักธรรมชั้นเอก ว่า อัตภาพร่างกาย แผ่นดิน หรือหมู่สัตว์ มีความหมายเหมือนกัน คือ เป็น สังขาร ที่ถูกปรุงแต่งขึ้นด้วยเหตุปัจจัยต่างๆมารวมกันเข้าทั้งสิ้น กล่าวคือโลก จะเป็นอัตภาพร่างกาย แผ่นดิน หรือหมู่สัตว์ ก็ตามที จะงดงามตระการตา ด้วยการปรุงแต่งขึ้น จากเหตุและปัจจัย เช่น คนสวย คนงาม ถูกตกแต่งด้วย เสื้อผ้า เครื่องประดับ เป็นต้น หรือแม้แต่ คนเราที่เกิดมามี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ฯลฯ ที่ไม่สวยงาม แต่เมื่อมาประดับ ตกแต่ง ด้วยเครื่องอาภรณ์แล้ว กลับงดงามตระการตา มันก็ไม่ต่างอะไรกับสำนวนคำสุภาษิตไทยที่ว่า ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง แต่ถ้าเป็นคนปากแหว่งแต่งสไตล์ไหนก็ไม่งาม ดังนั้นให้ผู้อ่านลองพิจารณาแยกกันดูเถิด จะเห็นว่า ไม่มีสิ่งใดที่งดงามเลยแม้แต่น้อย   ส่วนราชรถนั้น เป็นการเปรียบเทียบกับสิ่งที่งดงามวิจิตรตามยุคตามสมัย ที่ทำให้เราหลงใหล เพลิดเพลิน ติดอยู่ในสิ่งนั้นๆ ยกตัวอย่าง สิ่งที่ทำให้เราติดอยู่ในสมัยนี้ ถือว่าทันสมัยเลยทีเดียว  ผู้เขียนขอใช้คำว่า social network เป็นรูปแบบของเว็บไซต์ในการสร้างเครือข่ายสังคม สำหรับผู้ใช้งานในอินเทอร์เน็ตเช่น  เฟชบุ๊ค (Facebook ) ทวิตเตอร์(Twitter ) เป็นต้นโดยเล่นผ่าน คอมพิวเตอร์ (computer) โน๊ตบุ๊ค(notebook) ไอแพด (iPad) ไอโฟน (iPhon) ฯลฯโดยสร้างความเพลิดเพลินไม่รู้จักคำว่า พอ กับโลกออนไลน์ และคำว่า คนเขลา  ในบาลีแปลว่า โง่ ในคาถานี้ หมายถึง ไม่รู้ความเป็นจริง ได้แก่ไม่รู้สัจธรรม ว่าโลกคือ สังขาร นั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงพากันหลงใหลหมกอยู่ ในโลกนี้

ดังนั้นในแง่มุมทัศนคติของผู้เขียนได้กล่าวไว้ตอนต้นว่า โลกทั้ง 2 นี้กำลังแตก และได้กลายมาเป็นปัญหาโลกแตกในสังคมปัจจุบันก็ว่าได้  ซึ่งยังแก้ไขไม่ได้ เพราะว่าคนเรายังหลงหมกมุ่น เพลิดเพลินยินดีในโลกมากเกินไปจนทำให้โลกแตก ในที่สุดเพราะ สังคมสับสน วุ่นวาย  อันตรายด้วยยาเสพติด  ผู้คนคิดแต่ทะเลาะเบาะแว้ง   แย่งที่กันทำมาหากิน  แย่งถิ่นฐานกันอยู่  ชอบแย่งคู่พิศวาส  ชอบแย่ง

อำนาจกันเป็นใหญ่  ฝักใฝ่ในอบายมุข  ติดคุกเพราะบาป-บุญไม่ใส่ใจ  โลกจะบรรลัย  เพราะมนุษย์มีใจวิบัติ ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นปัญหาที่ทำให้โลกแตกในสังคมปัจจุบัน   ลองสังเกตว่า สังคมเราทุกวันนี้ เดือดร้อน สับสน วุ่นวาย  จนกลายเป็นปัญหาของประเทศชาติ เพราะปัจจัยต่างๆดังที่กล่าวมาแล้วเช่น...

1.ปัญหายาเสพติด ทุกวันนี้มีเต็มบ้านเต็มเมืองแก้ไขให้หมดสิ้นไปจากสังคมได้ยาก  มีแต่จะเพิ่มเป็นทวีคูณ  โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน อนาคตของชาติถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งเป็นตัวอันตรายที่ทำลายคน เศรษฐกิจ ประเทศชาติ และสังคมอย่างยิ่ง ท่านทั้งหลายจะพบการรายงานข่าวเรื่องยาเสพติดทั้งค้า-ขาย -เสพไม่เว้นแต่ละวัน  จนกลายเป็นปัญหาหลักของประเทศชาติ  ซึ่งทุกวันนี้ทางรัฐบาลก็กำลังป้องกันและปราบปราม แก้ไขอยู่ แต่ก็ยังไม่สิ้นซาก  นับว่ายากต่อการแก้ไข 

2.ผู้คนในสังคมหรือคนในประเทศนั้นๆทะเลาะเบาะแว้งกัน(แบ่งสี) ถึงกลับเลือดนองแผ่นดินก็มีปรากฏให้เห็นมาแล้วตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จนทำให้ คนเราแบ่งพวก แบ่งพรรค แบ่งฝักฝ่าย  ถามว่า พอแบ่งกันแล้วมันเกิดอะไรขึ้นในสังคมประเทศชาติ ตอบว่า มันก็เกิดความแตกแยก แตกสามัคคี เกิดความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  เข้าตำราว่า แบ่งพวกทำให้เสียรัก แบ่งพรรคทำให้เสียสามัคคี แบ่งทั้งพวกแบ่งทั้งพรรคเสียทั้งรักเสียทั้งสามัคคี ดังนั้น คนในชาติต้องหมั่นปลูกไมตรี สามัคคีกันไว้ หวังดีมีไมตรีจิตต่อผู้อื่น คิดช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ว่าเรื่องใหญ่จะเป็นเรื่องเล็ก  มากจะเป็นน้อย  หนักจะเป็นเบา ยากจะเป็นง่าย   สามัคคีกันไว้ทำอะไรก็สำเร็จตามความปรารถนา สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ พลัง  และการที่ประเทศชาติอยู่ได้อย่างเป็นปึกแผ่นนั้น    ก็เพราะคนเรามีความสมานสามัคคีกัน อย่าลืมว่า ความรักมีเพราะสามัคคีมา  แต่ถ้าความรักโรยราเพราะไม่มาของสามัคคี ดังพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประพันธ์ไว้ว่า อันชาติใดไร้รักสมัครสมาน   จะทำการสิ่งใดย่อมไร้ผล  แม้ชาติย่อยยับอับจน  บุคคลจะสุขอยู่อย่างไร   ดังนั้นประเทศชาติบ้านเมืองจะน่าอยู่ น่าอาศัยเป็นแผ่นดินทอง  ต้องสร้างด้วยแผ่นดินธรรม อันได้แก่ ให้ยึดหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาในการดำเนินชีวิต   มีสติรู้เท่ารู้ทัน  อันจะนำ  ขันติธรรม ความอดทนอดกลั้น หนักแน่น ไม่หวั่นไหว   และไม่มองกันในแง่ร้าย   มีความเข้าใจกันดี ไม่มีอคติ ไม่วิวาทแก่งแย่งกัน  หันหน้าเข้าหากัน ประเทศชาติ ย่อมถึงซึ่งสันติสุข    และสันติภาพ  ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า     สพฺเพสํ    สงฺฆภูตานํ  สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา แปลว่า  ความพร้อมเพียงของหมู่คณะนำความสุขและความเจริญมาให้ เราจะอยู่ร่วมกันฉันท์มิตรได้เพราะเราหันหน้าเข้าหากัน  ปรึกษาหารือกันอย่าเผชิญหน้าหรือประจันหน้ากัน  หมั่นแก้ไข หมายความว่า แก้ผิดอย่าแก้เผ็ด แก้ไข อย่าแก้แค้น ดังคำที่ว่า อยากดีให้แก้ไข อยากบรรลัยให้แก้ตัว  อยากชั่วให้แก้กฎกติกา นำพาเข้ากิเลสตน เพราะฉะนั้นจงแก้นิสัย สันดานตนให้เข้ากับกฎกติกาที่ชอบประกอบด้วยธรรม และที่สำคัญให้รู้จักให้อภัยซึ่งกันและกันถือว่าเป็นธรรมที่ประเสริฐอย่างยิ่ง

 

3.แย่งที่ทำกิน แย่งถิ่นฐานกันอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาเกิดจากการเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์  ความก้าวหน้าทางวิทยาการ   และการพัฒนาเศรษฐกิจ  ทั้ง 3 เหตุผลนี้ ก็เป็นเหตุให้สังคม เดือดร้อน วุ่นวาย เอาเปรียบมนุษย์ด้วยกัน  กลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง ไร้ที่อยู่อาศัย มีอยู่ทุกมุมของโลก เพราะคนเราเต็มไปด้วยความ ไม่มี ไม่พอ ไม่เจียม และ ไม่จำ นั่นหมายความว่า ไม่มีคือ ไม่มีจะกิน จนเพราะกรรมเก่า และไม่สร้างกรรมใหม่คือ ไม่ขยันหา รักษาไว้ไม่ดี มีเพื่อนชั่วเป็นมิตร  เลี้ยงชีวิตไม่เหมาะสม  คำว่า ไม่พอ คือ มีก็ไม่เหลือใช้ ได้ก็ไม่เหลือเก็บ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย คำว่าไม่เจียม หมายความว่า ไม่รู้จักฐานะ การเป็นอยู่ของตนเอง หลงตัว มัวเพลิดเพลินเพราะอำนาจกิเลส ส่วนคำว่า ไม่จำ คือ เป็นคนพลาดแล้วก็พลาดอีก พลั้งแล้วก็พลั้งอีก ขาดการยั้งคิด ขาดสติ ลืมตัว เพราะอำนาจความประมาท จนกลายเป็นปัญหาโลกแตก  ทางรัฐบาลต้องสร้างงาน จ้างงาน ส่งเสริมอาชีพ และคนในชาติก็ต้องสู้งาน ไม่เกียจคร้านหนักก็เอาเบาก็สู้ ที่สำคัญต้องไม่เลือกงาน การแก่งแย่งกันก็ไม่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์เราดังคำที่ว่า อุฏฺฐาตา วินฺทเต ธนํ แปลว่า ผู้ขยันย่อมหาทรัพย์ได้

4. แย่งคู่พิศวาส พอพูดถึงคู่พิศวาสท่านทั้งหลายก็นึกถึงความรัก ขึ้นมาทันที เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการแย่งคู่รักในสังคมเราทุกวันนี้   ก็มาจากคำๆเดียวคือคำว่า รัก จนทำให้หลง เกิดการมีชู้  เปลี่ยนคู่  อยู่กับกิ๊ก เป็นมือที่สามก็ตามที ถึงกับฆ่ากันตายเพราะอำนาจของความรักก็มากมี จะเห็นเป็นข่าวเกือบทุกวัน เพราะมีปัญหาเรื่อง ความรักทั้งนั้น  ซึ่งเป็นปัญหาโลกแตกของยุคสมัยใหม่ การมีชู้  เปลี่ยนคู่  อยู่กับกิ๊ก เป็นมือที่สาม คนในสังคมโดยเฉพาะวัยรุ่น วัยหนุ่ม วัยสาวจะมองเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผลที่ตามมาถึงกับสูญเสียชีวิตทุกราย เพราะการหึงหวง ที่แสดงออกด้วยความรัก   ในประเด็นนี้ผู้เขียนขอยกคำนิยามของนักปรัชญาที่กล่าวเกี่ยวกับความรักว่า แต่ละท่านมีความคิดเห็นเป็นอย่างไร ท่านแรก เป็นนักปรัชญาชาวกรีก เอมพิโดเคลส (Empedocles) กล่าวว่า “ความรัก คือ พลังธรรมชาติที่ทำหน้าที่รวมธาตุทั้ง 4 เข้าด้วยกัน คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ ให้ก่อกำเนิดเป็นโลกและสรรพสิ่ง” ท่านที่สอง กิลเบอร์ท (Gillbert) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า “ความรัก คือ สวนดอกไม้ที่ต้องรดด้วยน้ำตาแทนน้ำ” ท่านที่สาม คาลิล ยิบราน( Kahlil Gibran) กล่าวว่า “ความรัก คือ ดอกไม้ที่เติบโตและเบ่งบานโดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือของฤดูกาล” และอีกคำนิยามหนึ่งด้านนักปราชญ์ศาสนาของเรา (พุทธทาสภิกขุ) กล่าวว่า “ความรัก คือ ความใจกว้างเห็นแก่ผู้อื่นจนไม่มีตัวตนเหลืออยู่” นี่คือคำนิยามที่หลากหลายของนักปราชญ์แต่ละท่านที่ให้ข้อคิดไว้  แม้แต่รัชกาลที่6 (ร.6) พระองค์ยังได้พระราชนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องความรักไว้น่าคิดเช่นเดียวกันใน เรื่องมัทนะพาธา ที่ว่า…

 

 

ความรักเหมือนโรคา     บันดาลตาให้มืดมน                                                                                                                             

ไม่ยินและไม่ยล             อุปสรรค-ใดใด                                                                                                                         

ความรักเหมือนโคถึก     กำลังคึกผิขังไว้                                                                                                                                 

ยอมโลดจากคอกไป       บ่ยอมอยู่ ณ ที่ขัง                                                                                                                       

ถึงหากจะผูกไว้               ก็ดึงไปด้วยกำลัง                                                                                                                            

ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง            บ่หวนคิดถึงเจ็บตาม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แต่อย่างไรก็ตามในเรื่องความรักนี้ตามหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาก็มีปรากฏเช่นเดียวกันเกี่ยวกับความรัก ได้แก่  ความรักฝ่ายต่ำ หรือฝ่ายชั่ว (อกุศล) เป็นอาการหรือธรรมชาติในด้านมืดของความรัก เป็นความรักฝ่ายกิเลส ที่จะทำให้จิตใจผู้ที่รักและคนที่ถูกรักตกต่ำลง เรียกความรักกลุ่มนี้ว่า “ความเสน่หา” (สิเนหะ) หรือ “ตัณหา” หรือจะเรียกว่า “ความรักที่จะเอา” คือ เอาความรัก ความสุข และทุกอย่างมาครอบครองที่ตนเองเป็นสำคัญ (ความเห็นแก่ตัว)

ความรักฝ่ายกลาง (อัพยากฤต) เป็นความรักที่สูงกว่าความรักฝ่ายต่ำ ความรักฝ่ายนี้อยู่กึ่งกลางระหว่างความดีและความชั่ว สามารถถูกความชั่วดึงไปก็ได้ ถูกความดีดึงออกไปก็ได้ จึงอยู่ระหว่างความรักแบบเสน่หาและเมตตาหรือคุณธรรม เรียกความรักแบบนี้ว่า “เปมะ” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ความรักแท้” เป็นความรักในครอบครัว ความรักที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในครอบครัวนั่นเอง  

ความรักฝ่ายดี (กุศล) เป็นความรักในระดับที่สูงกว่าความรักที่กล่าวมาแล้ว ความรักประเภทนี้เป็นความดีงามที่บริสุทธิ์ใจ ไม่ต้องการสิ่งตอบแทน เรียกว่า “เมตตา” หรือเรียกว่า “ความรักบริสุทธิ์”และสุดท้ายเป็นความรักฝ่ายดีที่สูงที่ขึ้นไปกว่าเมตตา เป็นความรักในสิ่งที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ถือว่าเป็นกุศลอย่างยิ่ง ผู้ที่มีความรักประเภทนี้จิตใจสะอาดบริสุทธิ์มาก จนสามารถควบคุม อำนาจฝ่ายต่ำหรือความรักฝ่ายต่ำได้ จนกระทั่งสามารถทำลายได้อย่างถาวร จึงเป็นความรักขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา ซึ่งจะเรียกว่า “กุศลฉันทะ” คือยินดีหรือพอใจในฝ่ายกุศล เพื่อต้องการหลุดพ้นจากกิเลส  ในส่วนเรื่องของความรักนี้ผู้เขียนได้รวบรวมคำที่มีความหมายตรงกับคำบาลีไว้หลากหลายคำมีดังนี้ ความรักคือความกำหนัดยินดี เรียกว่า ราคะ    ความรักคือความทะยานอยาก เรียกว่า ตัณหา   ความรักคือความใคร่เยื่อใย เรียกว่า สิเนหา คำไทยเรียกว่าเสน่หา  ความรักคือความเพลิดเพลิน เรียกว่านันทิ  ความรักคือความปรารถนา ต้องการ เรียกว่าอิจฉา  ความรักคือความผูกพัน เรียกว่า ปฏิพัทธา  ความรักคือความอยากได้ เรียกว่า โลภะ    ความรักคือความรักใคร่ปรารถนาให้คนอื่นมีความสุข เรียกว่า เมตตา   ความรักคือความสงสาร ต้องการให้พ้นจากความทุกข์  เรียกว่ากรุณา   ความรักคือความใคร่ หมกมุ่น เรียกว่า กาม   ความรักคือความพอใจ หรือยินดีเรียกว่าฉันทะ   ความรักคืออารมณ์ที่น่ารักน่าใคร่ พอใจเรียกว่า เปมะ ทั้งหมดนี้คือคำนิยามแห่งความรัก ที่มีทั้งคุณและโทษที่ปรากฏในภาษาบาลีดังที่ผู้เขียนได้รวบรวมเอาไว้ ให้ผู้อ่านได้พิจารณาถึงความรักที่คนเรามีต่อกันและกัน ในสังคมปัจจุบัน ว่ามีความรักกันแบบไหน

 

5. แย่งอำนาจกันเป็นใหญ่ ประเด็นนี้ถือว่า เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากภายใน คือภายในใจมนุษย์นั่นเอง กล่าวคือ ความละโมบโลภมาก ไม่รู้จักพอ อยากจะเป็นใหญ่ ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ดังพระบาลีที่ว่า โลโภ ธมฺมานํ ปริปนฺโถ ความโลภเป็นอันตรายแห่งธรรมทั้งหลาย  อติโลโภ หิ ปาปโก ยิ่งโลภมากเท่าไร ก็ยิ่งบรรลัยมากเท่านั้น จะเห็นได้ว่า การบริหารก็ดี การปกครองก็ตามที ต้องการมีอำนาจกันทั้งนั้น อย่าลืมว่า วโส  อิสฺสรยํ  โลเก อำนาจเป็นใหญ่ในโลก  ผู้คนทั้งหลายจึงพากันเสาะแสวงหาให้ได้มาซึ่งอำนาจ  แต่การได้มาซึ่งอำนาจส่วนมากจะถูกครอบงำด้วยอำนาจอกุศล ทุจริต คอร์รับชั่นจนทำให้คนเราเป็นที่ต้องการ อิสริยยศ  ความเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นให้ระวัง 3 ฝ่ายคือฝ่ายที่มีอำนาจ ฝ่ายที่สูญเสียอำนาจ และ ฝ่ายที่อยากเข้าไปมีอำนาจทั้ง 3 ฝ่ายนี้ ถือว่าน่ากลัวต่อประเทศชาติบ้านเมือง เมื่อพูดถึงอำนาจ ความเป็นใหญ่แล้วทำให้นึกถึงข้อคิดที่คนโบราณชอบเตือนไว้ว่า..

 

เมื่อมีอำนาจ              อย่าลืมนึกถึงยามหมดอำนาจ                                                                                                                  

เมื่อมีความสุข            อย่าลืมนึกถึงยามมีความทุกข์                                                                                                              

เวลาอิ่ม                     อย่าลืมนึกถึงเวลาหิว                                                                                                                             

เวลาร่ำรวย                 อย่าลืมนึกถึงเวลายากจน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พอสรุปจากประเด็นข้างบนนี้ได้ว่า ได้ยศ อย่าประมาท ได้อำนาจอย่าเมา ทุกสิ่งทุกอย่าง มีได้-มีเสีย มีขึ้น- มีลง มีชื่นชม- มีขมขื่น ตรงกับสำนวนที่ว่า ยามบุญมี เขาก็ยก ยามต่ำตกเขาก็หยาม อย่าลืมว่า จะยิ่งใหญ่แค่ไหน ก็เล็กกว่าโลง

6. ฝักใฝ่ในอบายมุข นี่ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้คนในสังคมหมกมุ่น ลุ่มหลงอยู่ในอำนาจปากของความเสื่อมหรือทางที่นำไปสู่ความฉิบหายนั่นเอง ได้แก่ ดื่มเหล้า เข้าไนท์ผับ กลับบ้านสาย ออกลายนักเลง เก่งการพนัน  ไม่ขยันทำงาน  คบคนพาลเป็นมิตร  คิดแต่จะเที่ยว ทั้งหมดนี้เป็นโทษ ไม่ควรทำ และไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่เมื่อหลงเข้าไปแล้ว จะนำความฉิบหายล่มจมมาสู่ตนเอง และครอบครัว อย่างแน่นอน ขึ้นชื่อว่า อบายมุข ทำให้ชีวิตมืดมน เพราะเห็นแก่กาม  ตามใจอยาก มากคู่เคียง  เสี่ยงกับการติดโรค จนกลายเป็นปัญหาโลกแตกจนถึงทุกวันนี้  ยังแก้ไขไม่ได้ เพราะคนเรามีความใคร่ ความอยาก ความไม่รู้จักพอ จึงหลงเพลิดเพลิน หมกมุ่น ประเภทที่ว่า ฉุดกระชาก ลากดึงก็ไม่ขึ้น สมดังพุทธสุภาษิตที่ได้ลิขิตไว้ ณ ตอนต้น เกี่ยวกับเรื่องโลก 2 ที่คนเขลาหมกอยู่ แต่พวกผู้รู้ กลับมองเป็นโทษ หลีกได้ หนีพ้น  ไม่ต้องทนทุกข์เพราะอบายมุข

7.ติดคุกเพราะบาป-บุญไม่ใส่ใจ  เพราะคนเรามีใจต่ำ  ใจทราม  หมายความว่า เรื่องความดี ความชั่ว เรื่องถูก เรื่องผิด ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ไร้ศีลธรรม จึงต้องเข้าคุกเข้าตะราง ตามที่ตนเองได้ก่อกรรมทำเอาไว้ เข้าตำราที่ว่า บุญก็ไม่ทำ ชอบก่อแต่กรรมชั่ว ทำผิดกฎหมาย ก็เพราะมีใจวิบัตินั่นเอง ตรงกับสำนวนที่ว่า ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ (พุทธทาสภิกขุ) เพราะฉะนั้นเรื่องของใจสูง-ใจต่ำ หรือใจวิบัติ คิดชั่วทำชั่ว เป็นเรื่องของศีลธรรมและ คุณธรรม ทั้งนั้น  ถ้าสังคมเราไม่มีธรรมทั้งสองนี้แล้ว โลกย่อมสับสน เดือดร้อน วุ่นวาย ไร้สุข จนแก้ไขไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของจิตใจ กล่าวคือ คนเราต่างจิตก็ต่างใจ ที่จะแก้ไขเยียวยา ขึ้นอยู่กับการอบรม สั่งสมมา อยากให้ดีต้องเพิ่มวิตามินทางจิตใจ(ปลูกฝัง) และเพิ่มโปรตีนทางสติปัญญา(อบรม สั่งสอน) คือต้องฝึกหัด ขัดเกลาจริตอัธยาศัยให้ดีงามตั้งแต่ต้น  จึงจะแก้ไข เยี่ยวยาได้ 

ดังนั้นการที่ผู้เขียนได้อธิบายมาตั้งแต่ต้น จนจบเกี่ยวกับบทความเรื่องรู้เท่า รู้ทันกันโลกแตกนี้ ก็เพราะต้องการเตือนสติ ให้คนเราไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ไม่ตื่นตระหนก ตกใจ กลัวภัยที่ยังมาไม่ถึง เพียงแต่ให้เราคำนึงนึกถึงโลกคือแผ่นดินที่อาศัย และโลกคือหมู่สัตว์ต่างหากที่กำลังแตก เพราะเป็นเรื่องของมนุษย์ที่ได้กระทำทั้งนั้น  ไม่ได้กล่าวถึงโลกที่เกี่ยวกับระบบ สุริยะจักรวาล หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งสิ้น เพราะเป็นเรื่องของธรรมชาติภายนอกตัวเรา เกิดขึ้นเอง มีเองตามธรรมชาติ ยากที่จะกำหนดได้ ทายออก บอกถูก 100 % ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ก็ต้องรู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน  เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าผู้เขียนเน้นเรื่องภายใน คือให้เราหันมาดูภายในใจของเรานั่นเอง หรือหันมาดูโลกที่เราหลงใหล  เพลิดเพลิน หมกมุ่น ข้องอยู่ จนกลายเป็นโทษ ทำให้สังคมสับสน เดือดร้อน วุ่นวาย ไร้สุข เพราะการกระทำของมนุษย์ทั้งนั้น  การที่เราจะแก้ไขปัญหาโลกแตกนี้ได้คนในสังคมประเทศชาติทุกคนต้องช่วยกันดังนี้

 

 

1.ปลูกไมตรีจิตไม่คิดเบียดเบียนซึ่งกันและกัน รู้จักให้อภัย ให้มีเมตตา กรุณารักใคร่ สงสารต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน    

2.แสวงหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ ไม่ประกอบในทางทุจริต  ผิดศีลธรรม                                                                                                                     

3.ไม่ละเมิดสิทธิของกันและกัน   ให้เกียรติซึ่งกันและกัน                                                                                                                                                  

4.ไม่ทำลายเกียรติ ศักดิ์ศรี ความนับถือ ความเชื่อถือของกันและกัน  และที่สำคัญ                                                                                                         

5.มีสติไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อ    ก็คือให้มีสติเป็นเครื่องป้องกันภัยทุกชนิด คิดให้รอบครอบ    ถ้าทำได้ทั้ง 5 ข้อนี้โลกก็จะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ไม่สับสน  ไม่เดือดร้อน ไม่วุ่นวาย ตรงกับคำที่ว่า เมื่อศีลธรรมกลับมา โลกาจะร่มเย็น

 

 

 



 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

https://www.facebook.com/media/set/?set=a.3066552439744.1073741826.1741532231&type=3

คลิ๊กไปชมภาพสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ที่ประเทศอินเดีย-เนปาล

 

                                                  

 

 

 


 

ข้อคิดเป็นคติ วันวาเลนไทน์

เมื่อวันวาเลนไทน์ใจคำนึง 

ชวนนึกถึงบทคำธรรมภาษิต

มีคติเล่าเป็นกลอนสอนให้คิด

ใจไม่ติด จิตต้องด้วยความรัก

      เพราะตระหนักด้วยเหตุ สองประการ

  เป็นตำนาน เล่าขานให้ประจักษ์

                 ผูกสมัคร รักแท้ แทบไม่หัก                    

เพราะใจปักดิ่งลงตรงสิเนหา

ปุพฺเพว สนฺนิวาเสน           ปจฺจุปนฺนหิเตน วา
เอวนฺตํ ชายเต เปมํ            อุปฺปลํว ยโถทเกติ ฯ
 ความรักเกิดขึ้นด้วยเหตุสองประการคือ
เคยอยู่ด้วยกันในชาติปางก่อนและเกื้อกูลกันในชาตินี้
เหมือนดอกบัว เมื่อเกิดในน้ำ ย่อมเกิดได้เพราะอาศัยเหตุ ๒ ประการ  คือน้ำและเปือกตม ฉะนั้น

 

 

อย่าลืมว่า..ความรัก มีทั้งที่เป็นกิเลสและคุณธรรม รักที่เป็นกิเลส บันดาลให้ทั้งสุขและทุกข์ร่ำไป

 รักนี้คือ ราคะบ้าง กามคุณบ้าง ส่วนรักที่เป็นคุณธรรม มีผลเป็นสุข เยือกเย็น เป็นเมตตา กรุณา

 


รักอื่นหมื่นแสนแม้นมากญาติมิตร  

รักแนบสนิท คู่มั่นคนหมาย

ต่างกับรักมารดาไม่เสื่อมคลาย      

จวบจนตาย รักท่านยังยั่งยืน

 

 

 

 

                                                                                

คติธรรมสอนใจ

 

                                                       

                                                       มองโลกในแง่ดี

                                                        มีเมตตากรุณา

                                                         ไม่ริษยาต่อใคร

                                                         ให้อภัยซึ่งกันและกัน

                                                          หมั่นทบทวนชีวิต

                                                          คิดให้รอบครอบก่อนทำ

                                                          สำรวมอินทรีย์

                                                          ใจมีธรรมะ

                                                           ละความประมาท

                                                    ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า

        กถมฺภูตสฺส เม รตฺตินฺทิวา วีติปตนฺติ  วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรกันอยู่

        ทำดี วันนี้ก็เป็นวันที่ดีในวันนั้น (วันอธิบดี วันธงชัย)

        ทำไม่ดี วันนี้ก็เป็นวันไม่ดีในวันนั้น (วันอุบาทว์ วันโลกาวินาศ)

         ไม่ทำอะไรเลย ชีวิตก็ไม่มีอะไรดีเลย (ว่างเปล่า)

                            แต่ถ้า........

         ดูฤกษ์แล้ว เป็นวันอธิบดี วันธงชัยในวันนั้น แต่คนทำไม่ดี ทำชั่ว ยังไงก็เป็นวันไม่ดี

         ดูฤกษ์แล้ว ตกวันอุบาทว์ โลกาวินาศ แต่คนทำดี มีศีลธรรมซะอย่าง อะไรๆก็ดีไปหมด

         ดูฤกษ์แล้วเป็นวันดี กฤษ์ดี ยามดี วันอธิบดี วันธงชัย มีใจพร้อม ในการทำดี วันนั้นย่อมเป็นวันดีดับเบิ้ลดี

 

                                    ทำดีดีกว่าขอพร มัวแต่อ้อนวอนพรไม่มี พรทั้งปีคือทำดีตลอดไป

                                    ทำดีดีแล้วเป็นพร ทำแต่ความดีทวีพร และทำใดๆก็ไร้ค่า ถ้าหากเราไม่ทำ

                                                       

        

ไปที่ facebook http://www.facebook.com/wee.poonyaviro

 

 



 

 

 

 

เรื่องค่าของคน

   เป็นบทความที่ลงในหนังสือวิสาขบูชาโลก2555

วัดอนงคาราม         

 

                                             โดยพระมหาวีระ  ปุญฺญวีโร  วัดอนงคาราม  คลองสาน กรุงเทพฯ


บทความนี้ผู้เขียนได้มองเห็นความสำคัญของคำว่า ค่าของคน ที่คนในสังคมปัจจุบันให้ความสำคัญน้อยมาก ไม่ว่าสังคมไหนก็ตาม ทุกวงการ และ ทุกองค์กรจะลืมค่าของคนหรือคุณสมบัติในด้านการพิจารณาคัดเลือกบุคคลในหน้าที่ต่างๆเช่น ในการรับเข้าทำงานก็ดี การรับเข้าศึกษาก็ดี รวมไปถึงการเลื่อนตำแหน่งต่างๆทางสังคมก็ตาม แม้ว่าบุคคลนั้นจะมีความรู้ มีความสามารถก็จริง แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา หรือถูกมองข้าม ถึงแม้ว่าได้รับการพิจารณาก็ตามที แต่จะถูกพิจารณาอยู่ในลำดับสุดท้าย หรือบางคนก็พลาดโอกาสไปก็มี  เพราะมีอำนาจบางอย่างทำให้คนในสังคมไม่คิดถึงค่าของคนที่แท้จริง จนทำให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เกิดความท้อแท้ หมดหวังในการดำเนินชีวิต จนเป็นเหตุทำให้คนในสังคมพูดกันว่า คนนี้ดวงดี คนนั้นดวงไม่ดี พอพูดถึงคำว่า ดวง ทำให้ผู้เขียนได้ตระหนักถึงความหมายของคำว่า ดวง ที่คนในสังคมชอบพูดกันเสมอๆ เมื่อเวลาสมัครงานก็ดี รับราชการก็ดี เลื่อนตำแหน่งต่างๆก็ดี  ทำให้มีคำว่า ดวง เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติของบุคคลนั้นๆเป็นที่ตั้ง ดังนั้นผู้เขียนขอแสดงความคิดเห็นและอธิบายเพิ่มเติมในมุมมองทัศนคติของผู้เขียนเอง โดยอาศัยหลักจากการฟัง และคำพูดที่คนในสังคมชอบพูดกันอยู่ทุกวันนี้ จึงเป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจที่จะเขียนบทความนี้   เพราะฉะนั้นเมื่อผู้อ่านได้ยิน คำว่าดวงดี และดวงไม่ดี  ต้องคิดไปถึงดวง ที่มีความหมายทางโหราศาสตร์อย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะบอกถึงราศีแห่งดาวพระเคราะห์เคลื่อนเข้าสู่ราศีอื่น ๆ ในเวลาเกิดของคนหรือเวลาสร้างสิ่งสำคัญก็ตาม แต่ดวงในที่นี้ผู้เขียนหมายถึงดวงที่มีความหมายโดยอ้อม ไม่ใช่ความหมายโดยตรงหรือความหมายโดยทั่วไปในทางโหราศาสตร์ที่กล่าวถึงโชคชะตา ราศีแห่งชีวิต เช่นดวงการงาน ดวงความรัก ดวงการเงินเป็นต้น ดังนั้นดวงที่มีนัยความหมายโดยอ้อมเป็นดวงที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมนิสัยของคนในสังคมที่กำลังกระทำอยู่ในปัจจุบันนี้ สามารถกำหนดชีวิตว่าจะก้าวหน้า ถอยหลัง ขึ้นหรือลง สุขหรือทุกข์ เสื่อมหรือเจริญ ขาดทุนหรือกำไรขึ้นอยู่กับดวงนี้ต่างหาก เพราะคนเราทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในวงการไหนก็ดี องค์กรไหนก็ตาม จะให้ความสำคัญกับคำว่า ดวง เป็นอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิต ซึ่งดวงนั้นจะมีทั้งดวงดีและดวงไม่ดีปะปนกันไปในชีวิต คำว่า ดวง คำๆเดียวมีความหมายลึกซึ้งกินใจ น่าคิด สามารถแยกวิเคราะห์แต่ละพยัญชนะได้ดังนี้เช่นดวงดี  คืออะไร ?

 หมายถึง ดี  ถามว่าอะไรดี ตอบว่า มีความรู้ดี  มีความสามารถดี มีความประพฤติดี

 หมายถึง วิชา คือ มีวิชาดี เก่ง ขยันหมั่นเพียร มีระเบียบ มีวินัยดี มีวิสัยทัศน์ การมองโลกในแง่ดี มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และที่สำคัญมีความซื่อสัตย์ที่ดี 

  หมายถึง งาน คือ งานดี งานเด่นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตา ผลงานงดงามเข้าตากรรมการเป็นต้น ส่วนดวงไม่ดี คืออะไร?

  ด  หมายถึง เด็กใคร  เส้นใคร สายใคร พรรคพวกใคร ?

  หมายถึง วิ่งเก่งไหม ขยันไปมาหาสู่หรือไม่? 

   หมายถึง มีเงินหรือไม่?

ดังนั้น ดวงดีหรือไม่ดีได้ถูกพูดกันในสังคมยุคปัจจุบันจนทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบระหว่างดวงดีกับดวงไม่ดี  สำหรับดวงดีนักปราชญ์ท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ในสมัยหนึ่งว่า

ค่าของคน  อยู่ที่ผลของงาน

ค่าของงาน   อยู่ที่การกระทำ

      ค่าของการกระทำ   อยู่ที่การทำดี

      ค่าของความดี   อยู่ที่มีคุณธรรม และจริยธรรม

ส่วนในสมัยปัจจุบัน ดวงไม่ดี ได้ถูกค่านิยมสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไปต่างๆนานา ทำให้เกิดความลำเอียง ครหาในสังคมเราดังนี้

      ค่าของคน   อยู่ที่ผลของงาน ( เก่งจริง มีฝีมือดี)

                                             ค่าของคน   อยู่ที่คนของใคร ( เส้น สาย ใคร)

                                             ค่าของคน     อยู่ที่คุณมีอะไร ( ของที่จะให้ )

                                             ค่าของคน   อยู่ที่คุณมีเท่าไร (จำนวน เงินที่จะให้ ค่าน้ำร้อนน้ำชา )

เมื่อพิจารณาข้อเปรียบเทียบระหว่างดวงดี กับ ดวงไม่ดีแล้ว ทำให้เห็นค่านิยมทางสังคมเปลี่ยนไป ถ้าคนใดประสบกับดวงดีก็ถือว่าโชคดีไป แต่ถ้าประสบกับดวงไม่ดี อาจจะเกิดความท้อแท้ เบื่อหน่าย ผิดหวังหมดกำลังใจ หรือไม่พอใจในเมื่อตนเองประสบพบเจอกับสิ่งนั้นๆ เพราะฉะนั้นผู้เขียนขอแสดงความคิดเห็นกับคนดวงไม่ดีเป็นกรณีพิเศษ เพราะคนบางคน มีความรู้ คู่คุณธรรม เก่งจริง มีฝีมือดี  แต่ขาดเส้น(อาศัยวาสนาบารมีผู้หลักผู้ใหญ่) ขาดสาย (อาศัยพรรคพวก คนรู้จัก)  ขาดซอง (อาศัยอำนาจเงินเข้าช่วย ใต้โต๊ะ บนโต๊ะ ใต้น้ำ หรือ ตามน้ำ) ก็ถือว่าไปไม่รอด หมดโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แม้กระทั่งการศึกษาก็ตาม ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนขอยกคำพูดเป็นภาษาอังกฤษว่า( The principle of Three -S ) แปลว่า หลักการของ ๓ S  ก็คือ เส้น  สาย  ซอง เป็นมุมมองที่ทำให้เกิดความเอนเอียงและไม่เป็นธรรม จึงเป็นเหตุทำให้คนในสังคมอยากมีความเจริญก้าวหน้าในทางลัด ซึ่งสังคมทั่วไปกำลังนิยมปฏิบัติกัน โดยมุ่งหวังลาภ ยศ  สุข  และ สรรเสริญ ที่ผู้ใหญ่จะหยิบยื่นให้ โดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรมและค่าของคนที่ดีงาม แม้ว่าคนบางคน จะทำงานไม่เป็น ไม่เคยเห็นประสบการณ์ เส้น สาย ไม่มี  แต่อาศัยค่าของคนอยู่ที่คุณมีเท่าไร คนประเภทนี้ก็ถือว่าไปรอด เพราะอาศัยอำนาจเงินเป็นที่ตั้ง พอพูดถึงอำนาจเงินผู้เขียนขอใช้คำที่ฝรั่งใช้พูดกันคือเปรียบเงินคือพระเจ้า (MONEY IS GOD) หรือจะเรียกว่า พระเจ้าเงินตราก็ได้ หมายความว่า เราจะปรารถนาสารพัดในปฐพี เอามันนี่ แลกได้ดั่งใจจง ซึ่งตรงนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเปรียบเงิน คือ อสรพิษ เช่นกัน เพราะเงินบันดาลให้ทั้งคุณและให้ทั้งโทษดังต่อไปนี้

                    เงิน   ทำให้งอน หมายถึงให้น้อยไปก็ขัดใจ ไม่ร่วมมือด้วย  ไม่เข้าพรรคพวกด้วย

                    เงิน   ทำให้งาม  หมายถึงเนรมิตได้ดั่งใจหมาย บันดาลทุกสิ่งให้สวยสดงดงาม ตระการตา

                    เงิน   ทำให้ง่าย  หมายถึง ไม่มีอุปสรรคขัดขวาง อยู่ก็สบาย ไปก็สะดวก ไม่ติดขัด ราบรื่น

                    เงิน   ทำให้หงาย หมายถึง ความลับที่ถูกปกปิดจะถูกเปิดเผย ที่ถูกปิดปาก ทำให้เปิดปาก  เปิดโปง

                    เงิน   ทำให้งก     หมายถึง ไม่รู้จักคำว่า พอ ยิ่งได้ ยิ่งอยาก ยิ่งมาก ยิ่งโลภ ไม่มีที่สิ้นสุด

                    เงิน   ทำให้งัด    หมายถึง  ผลประโยชน์ไม่ลงตัว ส่วนได้ส่วนเสียไม่เท่ากัน ทำให้งัดข้อ ขัดแย้ง  เกลียด  แค้น ชิงชัง อาฆาตพยาบาท จองเวรกันไม่เลิก

                    เงิน   ทำให้โง่ หมายถึง เห็นกลับทำเป็นไม่เห็น รู้กลับทำเป็นไม่รู้ ผิดกลายเป็นถูก จากขัดใจกลายเป็นคล้อยตาม

                    เงิน  ทำให้งง หมายถึง ได้เงินมาง่ายๆ มากไป ทำให้ตกใจ ทำอะไรไม่ถูก ทั้งหมดนี้คืออำนาจของ ง เงิน และยิ่งไปกว่านี้ ง เงินยังทำให้แยก หมายถึง แตกแยก แตกสามัคคี ทำให้มิตรกลายเป็นศัตรู ทำให้คนอยู่บ้านหลังเดียวกันทะเลาะเบาะแวง ถึงกับฆ่ากันตายก็มากเพราะอำนาจเงิน

                    ส่วนในทางพระพุทธศาสนาได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างทรัพย์ภายนอกอันได้แก่ เงิน ทอง ซึ่งเป็นของนอกกาย อาจทำลายชีวิตได้ ถ้าใช้อย่างไม่มีสติ จะให้ทั้งคุณและโทษก็ได้ ไม่เหมือนกับทรัพย์ภายใน ที่เรียกว่า อริยทรัพย์ แปลว่า ทรัพย์อันประเสริฐ นั่นหมายความว่า มีคุณธรรมประจำใจที่ประเสริฐ ๗ อย่างได้แก่

๑.ศรัทธา คือมีความเชื่อที่เป็นเหตุเป็นผล มั่นใจในหลักที่ถือปฏิบัติและหลักในการทำความดี                         

๒. ศีล คือ การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ประพฤติถูกต้องดีงาม ไม่ผิดทำนองคลองธรรม                                          

๓. หิริ คือ มีความละอายแก่ใจต่อการทำความชั่ว
๔. โอตตัปปะ คือ มีความเกรงกลัวต่อความชั่ว
๕.พาหุสัจจะคือความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก                                                   

๖. จาคะ คือมีความเสียสละแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือผู้คน

 ๗. ปัญญา คือมีความรู้ความเข้าใจถ่องแท้ในเหตุผล ดีชั่ว ถูกผิด คุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ รู้คิด รู้พิจารณา และรู้สิ่งที่ตนทำ รู้ดีทำดี รู้ชั่วเว้นชั่ว นี่คือความแตกต่างระหว่างทรัพย์ภายนอกและทรัพย์ภายใน และที่สำคัญไปกว่านั้นคนเราต้องมีคุณค่าแห่งชีวิตที่สมบูรณ์ด้วย สิ่งนั้นต้องประกอบไปด้วย ความดีงาม ๕ ประการ ดังพุทธสุภาษิตทีมาในอรรถกถาเชตวนสูตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

กมฺมํ วิชฺชา จ ธมฺโม จ        สีลํ  ชีวิตมุตฺตมํ  
  เอเตน มจฺจา สุชฺฌนฺติ      น โคตฺเตน  ธเนน วา.

  แปลว่า  การงาน วิชา  ธรรม ศีล และชีวิตอันอุดม คน ย่อมบริสุทธ์ดีงามไปด้วยธรรมทั้ง ๕ นี้ ไม่ใช่ ด้วยโคตร หรือ ด้วยทรัพย์สมบัติ ฯ  

เพราะฉะนั้นจะเห็นไดว่าองค์ประกอบสำคัญที่บันดาลให้ทุกอย่างดีนั้นคือคุณธรรมและจริยธรรมที่มีอยู่ในจิตใจดังที่นักกวีท่านหนึ่งได้ประพันธ์ไว้น่าคิดว่า

อันคนดี    มิใช่ดี    ด้วยที่ทรัพย์

มีใช่นับ     โคตรเหง้า   เผ่าพงศา

คนดีนี้      ดีด้วยการ   งานนาน

อีกวิชา       ศีลธรรม  นำให้ดี

ท่านทั้งหลายคนเรานั้นบางคนก็มีความรู้ คู่คุณธรรม ทำงานได้ดี มีความสามารถ แต่กลับไม่ได้รับโอกาสยากที่จะหาความเจริญก้าวหน้าในการงาน หรือในหน้าที่ต่างๆ ซึ่งตรงกันข้ามกันกับคนบางคนที่มีเส้น สาย พรรคพวก จนทำให้ค่าแห่งชีวิตเปลี่ยนไป ทุกองค์กร ทุกวงการ ถูกค่านิยมสมัยใหม่ลากจูงเปลี่ยนแปลงไปต่างๆ นานาจนทำให้เป็นที่รู้จักกันดีว่า ค่าของคนไม่ใช่อยู่ที่ผลของงาน     แต่ค่าของคนอยู่ที่คนของใคร และ ค่าของคนอยู่ที่คุณมีเท่าไร  ดังนั้นอะไรก็ตามที่ทำให้เราสมหวังหรือประสบความสำเร็จในชีวิต เราก็พูดกันว่า ดวงดี อะไรก็ตามที่ทำให้เรา ท้อแท้ เบื่อหน่าย หมดหวัง ทำอะไรก็ไม่ประสบผลสำเร็จในชีวิต เราก็โทษว่า ดวงไม่ดี หรือโชคไม่ดี ทั้งๆที่ดวงดีหรือดวงไม่ดีขึ้นอยู่กับการกระทำทั้งนั้น ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า กรรม จะมีทั้งกรรมฝ่ายดี และกรรมฝ่ายชั่ว คนดวงดี ขอให้เข้าใจตรงกันว่า ทำกรรมดี  คนดวงดีก็คือคนที่หมั่นสร้างกรรมดี สามารถเอาชนะความชั่วได้ ยิ่งชนะได้มากแค่ไหนหมั่นสร้างกรรมดีมากแค่ไหน ดวงก็ดีมากเท่านั้น ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีเรื่องเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล ผู้เขียนขอยกเป็นอุทาหรณ์สักเล็กน้อย เพื่อประดับสติปัญญาของผู้อ่าน คือว่ามีคนบางพวกเชื่อเรื่องอำนาจดลบันดาลโชคชะตามาก จนตั้งขึ้นมาเป็นลัทธิกันมากมาย  แต่พอจะสรุปได้ ๓ ลัทธิตามความเชื่อหลักๆดังต่อไปนี้

1.ลัทธิแรก พวกที่ถือว่าอะไรๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ก็เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อนที่แล้วมา พวกนี้ไม่เชื่อในกรรมใหม่ในชาติปัจจุบันที่ส่งผลด้วย ลัทธิของคนพวกนี้เรียกว่า “ลัทธิปุพเพกตวาท”  จะเห็นว่าทัศนคติของคนลัทธินี้เชื่อกรรมเก่า แต่ไม่เชื่อกรรมใหม่ ก็ถือว่าขัดแย้งกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา

2. ลัทธิที่สอง พวกนี้จะเชื่อว่าการที่คนเราจะเป็นอะไรๆ จะดีหรือชั่ว จะจนหรือรวย ร่างการพิกลพิการหรือสมบูรณ์นั้นก็เพราะเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่บันดาล หรือพระผู้เป็นเจ้าบันดาลให้เป็นไป พวกนี้เรียกว่า “อิสสรนิมมานเหตุวาท” หรือ “ลัทธิอิศวรนิรมิตวาท” จากการวิเคราะห์ลัทธินี้ เชื่องมงาย ไม่มีเหตุผล ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างเทพเจ้าบันดาลให้ทั้งนั้น ซึ่งขัดแย้งกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก

3. ลัทธิสุดท้ายนี้ ถือว่าสิ่งทั้งหลายอะไรจะเกิดขึ้น ไม่มีเหตุปัจจัย แล้วแต่ความบังเอิญที่เป็นไป ซึ่งเป็นลัทธิโชคชะตา พวกนี้เรียกว่า “อเหตุอปัจจยวาท” หรือ “ลัทธิอเหตุวาท”  จากการวิเคราะห์ลัทธินี้จะพบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ หรือเพราะโชคชะตาเป็นตัวกำหนด ก็ถือว่าขัดกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเช่นกัน  ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ล้วนสวนทางกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่เชื่อเรื่องกรรม ไม่ว่าจะเป็นกรรมเก่าหรือ กรรมใหม่ก็ตาม ผู้ทำจะต้องรับผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน  เพราะสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมหรือการกระทำของแต่ละบุคคลที่ได้ทำเอาไว้ และยังเป็นศาสนาแห่งการใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุ หาผลไม่ให้เชื่องมงายในอำนาจอื่นใดที่ดลบันดาลประทานให้

                ดังนั้นจากบทความที่ผู้เขียนได้อธิบายมานี้ ก็เพื่อเตือนสติ ให้ข้อคิดแก่คนในสังคมปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้า เป็นผู้บริหาร ทั้งทางโลกก็ดี ทางธรรมก็ดี ขอให้ตระหนักถึงค่าของคนเป็นสิ่งสำคัญ ถือว่าให้โอกาสคนดี มีความรู้ คู่คุณธรรม มีกำลังใจที่จะทำงานต่อไป เพราะสังคมเราทุกวันนี้มักเบื่อหน่าย หมดหวัง ท้อแท้ เมื่อได้ยินคำว่า  คนนั้น คนนี้ดวงไม่ดี  เพราะไม่มีเส้น ไม่มีสาย ไม่มีซอง แต่กลับไม่มองถึงคุณสมบัติและค่าของคนที่แท้จริง ซึ่งทางโลก เราจะวัดกันที่สมบัติภายนอกก็จริง คือมีทรัพย์สมบัติ ความมั่งมี ฐานะ ตระกูล เป็นต้น ส่วนทางธรรม เราจะวัดกันที่สมบัติภายใน ก็คือ คุณงามความดี มีศีลธรรมและจริยธรรมเป็นที่ตั้ง ฉะนั้นแล้วถ้าคนเราในสังคมมีทั้งความรู้ ควบคู่กับคุณธรรม นับว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่งในการทำงาน นั่นหมายความว่า ทั้งเก่งด้วย และทั้งดีด้วย แต่ถ้าตรงกันข้าม คนบางประเภท ทำงานไม่เป็น แต่เส้นใหญ่ หรือคุณสมบัติไม่เพียงพอ แค่ขอมีซองก็เป็นพอ ซึ่งตรงกับภาษิตที่ขงจื้อเตือนตอนหนึ่งว่า “อย่าห่วงว่าใครไม่รู้ว่าท่านเก่ง หรือมีความรู้ มีความสามารถ จงห่วงแต่ว่า สักวันหนึ่งเมื่อคนเขายกย่องหรือเลื่อนตำแหน่งท่าน ท่านมีความเก่งและความสามารถสมกับที่เขายกย่อง หรือ เลื่อนตำแหน่งให้หรือไม่” ภาษิตนี้น่าเก็บไปคิด  โดยอย่าไปยึดติดกับอำนาจเงินตราเป็นที่ตั้ง เป็นที่ตัดสินเท่านี้คนในประเทศชาติจะมีคนดีมากกว่าคนเก่ง หรือมีมากทั้งคนดีและคนเก่ง และประเทศชาติก็จะเจริญก้าวหน้าเพราะคนเรามีคุณธรรมประจำใจ

 

 

 

 

 มาเรียนรู้สมณศักดิ์พัดยศกันเถอะ

ที่มา http://www.buddha-cp.com/readarticle.php?article_id=77

ศึกษาเพิ่มเติมที่ http://www.dharma-gateway.com/monk/monk-03-01.htm

 

พัดยศ 

 

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไทยได้รับประเพณีมีพัดยศสำหรับพระสงฆ์มาจากลังกา โดยกษัตริย์แห่งศรีลังกาในอดีตเป็นผู้เริ่มถวายสมณศักดิ์และพัดยศเพื่อให้พระสงฆ์สำหรับใช้แสดงถึงสมณศักดิ์ที่ได้รับถวาย

พัดยศ คือพัดเกียรติยศอันเป็นเครื่องราชสักการะอย่างหนึ่งที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่พระภิกษุผู้มีฐานันดรในคณะสงฆ์ เป็นการประกาศเกียรติคุณเพิ่มขวัญและกำลังใจแก่พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตามอย่างโบราณราชประเพณี

พัดยศ มีชื่อเรียกและลักษณะแตกต่างกันไปตามศักดิ์ คือ

พัดยศ เป็นพัดคู่กับ พัดรอง

ประวัติ

พัดยศ เป็นเครื่องประกอบสมณศักดิ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชานุญาตให้สร้างขึ้น เพื่อถวายแก่พระสังฆาธิการในโอกาสรับพระราชทานสมณศักดิ์ โดยจะนำมาใช้เฉพาะงานรัฐพิธีและการพระราชพิธีเท่านั้น วิวัฒนาการของพัดยศก่อนจะมีรูปแบบดังที่พบเห็นอยู่นี้ มีความเป็นมาที่ยาวนานและได้มีการพัฒนารูปแบบมาหลายครั้ง หากสังเกตให้ดีจะพบว่าตาลปัตรหรือพัดยศมีอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดก็มีรูปทรง ลวดลาย ตลอดจนสีสันงดงามแตกต่างกันออกไปตามระดับของชั้นยศที่ได้รับพระราชทาน

พัดยศพัฒนามาจากรูปแบบเดิมคือตาลปัตร คำว่าตาลปัตรมาจากภาษาบาลีว่า ตาลปตฺต ซึ่งแปลว่า ใบตาล ความหมายคือพัดของพระสงฆ์ในยุคแรกนั้นทำด้วยใบตาล ต่อมาได้มีวัฒนาการมาเป็นอย่างอื่น เช่น ทำด้วยขนนก หรือโครงเหล็กหุ้มด้วยผ้าชนิดต่างๆ ตลอดถึงทำด้วยงาหรือของมีค่าอื่น ๆ แต่ก็ยังนิยมเรียกว่าตาลปัตรอยู่นั่นเอง จากตาลปัตรที่ใช้พัดโบกได้พัฒนามาเป็น พัดยศ หมายถึง พัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแด่พระสงฆ์มาพร้อมกับการทรงตั้งสมณศักดิ์ในระดับชั้นต่าง ๆ ส่วนคำว่า พัดรอง หมายถึง พัดที่ทำขึ้นเป็นที่ระลึกในงานพิธีต่าง ๆ รวมถึงงานพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีทำบุญต่างของราษฎร ก็รวมเรียกว่าพัดรองด้วยเช่นกัน คำว่าพัดรอง เป็นชื่อเรียกเฉพาะพัดที่สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในงานพิธีต่าง ๆ ดังกล่าวนี้เท่านั้น ส่วนคำว่าตาลปัตรเป็นชื่อรวมเรียกได้ทั้งพัดยศ และพัดรอง

เรื่องตาลปัตร-พัดยศนี้ นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาหลายท่านได้ให้ข้อสันนิษฐานว่า แต่เดิมนั้นคงมิใช่ของที่ทำขึ้นมาสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะ แต่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ของชนทั่วไปที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบเมืองร้อนมาก่อนสมัยพุทธกาลแล้ว ซึ่งชนแถบนี้มีพัดไว้ใช้พัดลม บังแดด บังฝน นับเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นอย่างหนึ่ง พัดที่ใช้กันนั้นน่าจะมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ และทำด้วยวัสดุต่าง ๆ ตามฐานะของผู้ใช้ คำที่พบในคัมภีร์ทางศาสนาที่กล่าวถึงเรื่องพัดมีอยู่หลายคำ เช่น คำว่า ตาลปัตร วาลวิชนี และจิตรวิชนี

ตาลปัตร เป็นพัดที่เก่าแก่ที่สุด ทำด้วยใบตาล ซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่าย โดยวิธีเอาใบตาลมาตีแผ่ออกแล้วเจียนให้มน หรือมีรูปแบบตามใจชอบแล้วขึงริมให้ตึงเหลือก้านตาลไว้เป็นด้ามตรงกลาง วาลวิชนี คือ พัดที่มีด้ามด้านข้าง มีทั้งที่ทำด้วยใบตาล ขนนก หรือวัสดุมีค่าอื่นๆ ส่วนใหญ่มักเป็นเครื่องสูงสำหรับใช้โบกพัดวีท่านผู้สูงศักดิ์ หรือเป็นเครื่องราชูปโภค ส่วนจิตรวิชนี คือ พัดอันวิจิตรงดงามนั้น เป็นพัดที่ประดิษฐ์ตกแต่งด้วยสิ่งของสำหรับผู้มีทุนทรัพย์ใช้โบกพัดวีในเวลาอากาศร้อน

การที่ตาลปัตรรูปหน้านางเป็นที่แพร่หลาย และรู้จักกันทั่วไปนั้นเกิดขึ้นจากพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีพระราชประสงค์ให้พระภิกษุสงฆ์ใช้ตาลปัตรรูปหน้านางแทนตาลปัตรที่เรียกว่า "พัชนี" กล่าวคือพระสงฆ์ในช่วงระยะเวลานั้นนิยมนำพัชนีที่มีรูปทรงเป็นพัดงองุ้มด้ามยาว ตัวพัดทำขึ้นจากโครงโลหะหรือไม้แล้วหุ้มด้วยผ้าที่มีลวดลายมาใช้แทนตาลปัตรใบตาล ด้วยถือกันอย่างผิดๆ ว่าเป็นเครื่องยศสำหรับพระสงฆ์ผู้มีบรรดาศักดิ์ที่เอาไว้ใช้แทนตาลปัตรหรือให้ลูกศิษย์พัดถวายปรนนิบัติ และยิ่งกว่านั้นยังได้ปรากฏการทำตาลปัตรพัชนีเลียนแบบพัชนีที่เป็นเครื่องยศของเจ้านายและขุนนางออกจำหน่ายแก่ผู้ซื้อ เพื่อนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ในงานพิธีกระทำบุญกุศลต่าง ๆ ดังนั้นจึงทรงมีพระราชดำริให้พระสงฆ์ใช้ตาลปัตรรูปหน้านางไว้ดังนี้

"....พัชนีนั้นท่านคิดไปดูรูปร่างเห็นบัดสี ใครคิดอ่านทำขึ้นเมื่อไรให้เปนรูปอย่างนี้ ผู้นั้นจะไม่ได้พิจารณาให้ลเอียดเลย...ใช้ไปไม่มีสตินึกได้บ้างเลยว่า รูปร่างไม่ดีไม่เปนมงคลเลย เอามาถือบังหน้าตาครอบหัวครอบหูอย่างไรมิรู้อยู่ น่ารำคาญใจ...เครื่องมือไทยอีกอย่าง 1 รูปร่างก็คล้ายพัชนี คือจวัก ที่เรียกว่าจ่าหวักก็ดี.....เอามาใช้ตักเข้ากวนแกงซึ่งจะขึ้นถ้วยขึ้นชามขึ้นสำรับ....ในเครื่องต้นแล เครื่องเจ้านายที่มีบันดาลศักดิ์สูง เขาไม่ใช้มานานแล้ว เขามีทัพพีทองเหลืองทำรูปเหมือนช้อนต้นใหญ่ปลายย่อม......ครั้งนี้ทรงพระราชดำริที่จะใคร่ให้พระสงฆ์เลิกใช้พัชนีเสีย จะกลับไปทำพัดโครงไม้ไผ่ขึงๆ ปิดแพรปิดโหมดถวายให้ใช้เป็นอย่างพระสงฆ์จะยอมฤๅ ไม่ยอมไม่ทราบเลย การก็เคยมานานแล้ว ถ้าพระสงฆ์ยังชอบใจจะคงใช้อยู่ก็ตาม..."

ตาลปัตร หรือพัดยศ แม้จะมิได้นับเนื่องให้เป็นสิ่งหนึ่งในบริขาร 8 ของพระสงฆ์ และไม่พบหลักฐานว่ามีพุทธบัญญัติให้พระสงฆ์ใช้ของสิ่งนี้ในโอกาสใด เพียงแต่พบข้อความปรากฏในคัมภีร์ทางศาสนาหลายแห่ง เช่น ในคัมภีร์ธรรมบท ว่า "ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา มีพระอานนท์พุทธอุปัฏฐากถวายงานพัดอยู่ด้านหลัง..." และ "พระสารีบุตร ถือพัดอันวิจิตร ขึ้นไปแสดงธรรมบนธรรมาสน์..." และความตอนหนึ่งในพุทธประวัติว่า "พระเจ้าปัสเสนทิโกศลทรงโปรดให้สร้างพัดอันงดงามวิจิตร..." ถวายพระพุทธองค์ เป็นต้น จากข้อความที่กล่าวมานี้ พอสันนิษฐานได้ว่า การใช้พัดของพระสงฆ์ในยุคแรกน่าจะใช้เพื่อพัดโบกคลายความร้อนเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากพระสงฆ์ชาวลังกาในปัจจุบัน เวลาสวดมนต์ยังถือพัดไปพัดวีไปในบางโอกาส เนื่องจากพัดชาวลังกามีด้ามสั้น

ต่อมาภายหลังได้มีผู้อธิบายว่าพระสงฆ์ใช้พัดเพื่อใช้บังเวลาเห็นอะไรก็ตามที่พระไม่ควรเห็น แต่ไม่น่าจะใช่วัตถุประสงค์ที่แท้ซึ่งมีมาแต่เดิม จากพัดที่ใช้พัดลมต่อมาในสังคมไทยพระสงฆ์เริ่มใช้พัดในเวลาให้ศีล ให้พร และจากนั้นราชการไทยได้ใช้พัดเป็นเครื่องแสดงสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ ซึ่งน่าจะมีที่มาจากในอดีตเมื่อพระสงฆ์ไทยไปในงานพิธีต่างๆ คงจะนิยมถือพัดไปด้วยแทบทุกครั้งจนกลายเป็นประเพณีสืบมา เมื่อการระบายความร้อนได้มีวิวัฒนาการไปมากจนพัดโบกลมจะหมดความจำเป็นไปแล้ว การใช้พัดของพระสงฆ์ในยุคต่อมาจึงถือไปเพื่อตั้งบังหน้า เป็นการรักษาธรรมเนียมประเพณี ซึ่งจะทำให้ศาสนพิธีนั้น ๆ ดูเป็นพิธีรีตองและเป็นกิจลักษณะยิ่งขึ้น

รูปแบบของพัดยศ

รูปลักษณะและการเรียกชื่อพัดยศของไทยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 4 แบบดังได้กล่าวมาแล้วได้แก่

  • พัดหน้านาง เชื่อกันว่าได้แบบอย่างมาจากลังกา เป็นรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุด ใบพัดเป็นรูปไข่ หรือคล้ายเค้าหน้าของสตรี มีด้ามตรงกลาง ยาวประมาณ 70 เซนติเมตร พัดหน้านางส่วนมากมักจะเป็นพัดรอง พัดเปรียญธรรมทุกชั้น พัดยศประทวนสมณศักดิ์ และพัดยศฐานานุกรมบางตำแหน่ง
  • พัดพุดตาน ใบพัดมีลักษณะวงกลม แต่ริมขอบหยักเป็นแฉกรวม 16 แฉกคล้ายกลีบดอกบัวบาน หรือดอกพุดตานบาน เป็นพัดที่ทำด้วยโครงเหล็กหุ้มแพร หรือผ้าสักหลาดกำมะหยี่ สีเดียวกันบ้าง สลับสีบ้าง ตามชั้นของสมณศักดิ์ ส่วนมากเป็นพัดของพระครูสัญญาบัตร หรือพัดของพระครูฐานานุกรมบางตำแหน่ง

(พัดพุดตาน) รูปแบบพัดยศสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตร

  • พัดเปลวเพลิง มีลักษณะเป็นพัดยอดแหลม ใบเป็นแฉกคล้ายเปลวเพลิง ด้ามงายอดงา (แต่ปัจจุบันพัดยศทุกชั้น ได้มีพระบรมราชานุญาตให้ทำด้วยพลาสติกผสมเรซินทั้งหมดแล้ว เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมกันลงนามในสัตยาบรรณที่จะป้องกันรักษาสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์) สำหรับพัดเปลวเพลิงใช้เฉพาะพระครูสัญญาบัตร ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด และเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอกเท่านั้น
  • พัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ คำว่าข้าวบิณฑ์ แปลตามตัวว่า ก้อนข้าว คือ ข้าวสุกที่เขาปั้นเป็นก้อนใส่ลงในกรวย สอดไว้กับพุ่มดอกไม้ หรือกระทงขั้นบายศรี ใช้เซ่นไหว้บูชาในพิธีกรรมบางอย่าง อีกอย่างหนึ่งคำว่าข้าวบิณฑ์เป็นชื่อของลายไทยชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นพุ่มช่วงล่าง เรียวแหลมขึ้นไปช่วงบน ส่วนพัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์นั้น ใบพัดมีลักษณะส่วนล่างเป็นพุ่มและเรียวแหลมขึ้นไปถึงส่วนยอดเหมือนลายข้าวบิณฑ์ของไทย หรือคล้ายดอกบัวตูมขอบนอกคล้ายกลีบบัวที่ประกบแนบอยู่กับดอก มีกลีบอย่างน้อย 5-9 กลีบ มีการปักลายไทยชนิดต่างๆ ด้วยดิ้นเงิน ดิ้นทอง ทองแล่ง และอุปกรณ์การปักอื่น ๆ อย่างประณีตสวยงามตามความสูงต่ำของชั้นสมณศักดิ์ที่ได้รับพระราชทาน พัดแฉกเป็นของสำหรับพระราชาคณะตั้งแต่ชั้นสามัญขึ้นไป จนถึงชั้นสมเด็จพระราชาคณะ
  • นอกจากนี้ยังมีพัดยศเปรียญ อันเป็นเครื่องหมายสำหรับพระภิกษุผู้สอบได้บาลีเปรียญ 3 ประโยคขึ้นไป และมีคำเป็นเครื่องสมณศักดิ์ว่า "พระมหา" เวลาทรงตั้งเรียกว่า "ทรงตั้งเปรียญ" ไม่ใช้คำว่า "พระราชทานสมณศักดิ์ - พัดยศ" สำหรับผู้สอบได้ประโยค ป.ธ.3. ทรงพระราชทานให้สมเด็จพระสังฆราชทรงตั้ง โดยประทานประกาศนียบัตร พัดยศ ชื่อว่า ทรงตั้งแล้ว ส่วนผู้สอบได้ประโยค ป.ธ.6 ถึงประโยค ป.ธ.9 จะเสด็จพระราชทานประกาศนียบัตรพัดยศ และไตรจีวรด้วยพระองค์เอง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ลักษณะพัดยศเปรียญเป็นพัดหน้านาง ประโยค ป.ธ.3 - ป.ธ.5 มีพื้นสักหลาดสีแดงปักดิ้นเลื่อมมีเลขประโยคอยู่ตรงกลางพัด ประโยค ป.ธ.6 - ป.ธ.8 มีพื้นสักหลาดสีเหลืองด้ามสีดำ ปักดิ้นเลื่อมมีเลขประโยคอยู่ตรงกลาง ประโยค ป.ธ.9 พื้นสักหลาดสีเหลืองด้ามสีขาว ปักดิ้นเลื่อมตรงกลางว่าง ไม่มีเลขประโยคกำกับ

ชั้นยศสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ไทยในปัจจุบัน
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 1 พระองค์
สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ 8 รูป
พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ 19 รูป
พระราชาคณะชั้นธรรม 35 รูป
พระราชาคณะชั้นเทพ 66 รูป
พระราชาคณะชั้นราช 144 รูป
พระราชาคณะชั้นสามัญ 394 รูป
พระครูสัญญาบัตรชั้นตรี-โท-เอก-พิเศษ(ไม่จำกัดจำนวน)
พระครูฐานานุกรม ตั้งได้ตามจำนวนที่ปรากฏในสัญญาบัตรของพระราชาคณะ
พระครูประทวนสมณศักดิ์ (พระครูผู้อุปการะการศึกษา)(ไม่จำกัดจำนวน)

 

ลำดับพัดยศสมณศักดิ์ ฐานานุกรม เปรียญในงานพระราชพิธี – รัฐพิธี
สมเด็จพระราชาคณะ
1. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
2. สมเด็จพระสังฆราช
3. สมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ (ตามอาวุโสโดยสมณศักดิ์)
พระราชาคณะ
4. พระราชาคณะ เจ้าคณะรอง ชั้นหิรัณยบัฏ
5. พระราชาคณะ เจ้าคณะรอง ชั้นสัญญาบัตร
6. พระราชาคณะ ชั้นธรรม
7. พระราชาคณะ ชั้นเทพ
8. พระราชาคณะ ชั้นราช
9. พระราชาคณะ ชั้นสามัญ
- พระราชาคณะปลัดขวา-ปลัดซ้าย-กลาง (พระสมุหวรคณิสสรสิทธิการ วัดพระเชตุพนฯ เป็นพระปลัดกลาง รูปแรก)
- พระราชาคณะ รองเจ้าคณะภาค
- พระราชาคณะ เจ้าคณะจังหวัด
- พระราชาคณะ รองเจ้าคณะจังหวัด
- พระราชาคณะ ชั้นสามัญเปรียญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
- พระราชาคณะ ชั้นสามัญเปรียญ ป.ธ.9-ป.ธ.8-ป.ธ.7-ป.ธ.6-ป.ธ.5-ป.ธ.4-ป.ธ.3
- พระราชาคณะ ชั้นสามัญเทียบเปรียญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
- พระราชาคณะ ชั้นสามัญเทียบเปรียญ
- พระราชาคณะ ชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
- พระราชาคณะ ชั้นสามัญยก
พระครูสัญญาบัตร
10. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะจังหวัด (จจ.)
11. พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าคณะจังหวัด (รจจ.)
12. พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก (จล.ชอ.)
13. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นพิเศษ (จอ.ชพ.)
14. พระครูสัญญาบัตร เทียบเจ้าคณะอำเภอ ชั้นพิเศษ (ทจอ.ชพ.)
15. พระครูปลัดของสมเด็จพระราชาคณะ
16. พระเปรียญธรรม 9 ประโยค
17. พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นโท (จล.ชท.)
18. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก (จอ.ชอ.)
19. พระครูสัญญาบัตร เทียบเจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก (ทจอ.ชอ.)
20. พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นตรี (จล.ชต.)
21. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอ ชั้นโท (จอ.ชท.)
22. พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก (รจล.ชอ.)
23. พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นโท (รจล.ชท.)
24. พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นตรี (รจล.ชต.)
25. พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นพิเศษ หรือเทียบเท่า (ผจล.ชพ. หรือทผจล.ชพ.)
26. พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ หรือเทียบเท่า(ผจล.ชอ.วิ. หรือ ทผจล.ชอ.วิ.)
27. พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นเอก หรือเทียบเท่า (ผจล.ชอ. หรือทผจล.ชอ.)
28. พระครูปลัดของพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ
29. พระครูปลัดของพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง ชั้นสัญญาบัตร
30. พระครูฐานานุกรมชั้นเอกของสมเด็จพระสังฆราช
31. พระเปรียญธรรม 8 ประโยค
32. พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นโท หรือเทียบเท่า (ผจล.ชท. หรือทผจล.ชท.)
33. พระเปรียญธรรม 7 ประโยค
34. พระครูปลัดของพระราชาคณะ ชั้นธรรม
35. พระครูฐานานุกรมชั้นโท ของสมเด็จพระสังฆราช (พระครูปริต)
36. พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าคณะอำเภอ ชั้นเอก (รจอ.ชอ.)
37. พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าคณะอำเภอ ชั้นโท (รจอ.ชท.)
38. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นเอก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (จต.ชอ.วิ.)
39. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นเอก (จต.ชอ.)
40. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นโท (จต.ชท.)
41. พระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบล ชั้นตรี (จต.ชต.)
42. พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นเอก (จร.ชอ.)
43. พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (จร.ชท.วิ.)
44. พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโท (จร.ชท.)
45. พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นตรี (จร.ชต.)
46. พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ (รจร.)
47. พระครูสัญญาบัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ (ผจร.)
48. พระเปรียญธรรม 6 ประโยค
49. พระเปรียญธรรม 5 ประโยค
50. พระครูปลัดของพระราชาคณะ ชั้นเทพ
51. พระครูปลัดของพระราชาคณะ ชั้นราช
52. พระครูวินัยธร
53. พระครูธรรมธร
54. พระครูคู่สวด
55. พระเปรียญธรรม 4 ประโยค
56. พระปลัดของพระราชาคณะ ชั้นสามัญ
57. พระเปรียญธรรม 3 ประโยค
58. พระครูรองคู่สวด
59. พระครูสังฆรักษ์
60. พระครูสมุห์
61. พระครูใบฎีกา
62. พระสมุห์
63. พระใบฎีกา
64. พระพิธีธรรม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 




 

 

 

 


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


Read more >>

 

Read more >>


Read more >>

บทความ ค่าของคน

ค่าของคน                                                 &n ...

Advertising Zone    Close
 
Online:  1
Visits:  137,373
Today:  8
PageView/Month:  181

ยังไม่ได้ลงทะเบียน

เว็บไซต์นี้ยังไม่ได้ลงทะเบียนยืนยันการเป็นเจ้าของเว็บไซต์กับ Siam2Web.com