phramahaweera.siam2web.com พระมหาวีระ ปุญฺญวีโร Wat Anongkharam

 

บทความ ค่าของคน

17 สิงหาคม 2555

ค่าของคน 

                                                                                       

โดยพระมหาวีระ  ปุญฺ?วีโร

บทความนี้ผู้เขียนได้มองเห็นความสำคัญของคำว่า ค่าของคน ที่คนในสังคมปัจจุบันให้ความสำคัญน้อยมาก ไม่ว่าสังคมไหนก็ตาม ทุกวงการ และ ทุกองค์กรจะลืมค่าของคนหรือคุณสมบัติในด้านการพิจารณาคัดเลือกบุคคลในหน้าที่ต่างๆเช่น ในการรับเข้าทำงานก็ดี การรับเข้าศึกษาก็ดี รวมไปถึงการเลื่อนตำแหน่งต่างๆทางสังคมก็ตาม แม้ว่าบุคคลนั้นจะมีความรู้ มีความสามารถก็จริง แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา หรือถูกมองข้าม ถึงแม้ว่าได้รับการพิจารณาก็ตามที แต่จะถูกพิจารณาอยู่ในลำดับสุดท้าย หรือบางคนก็พลาดโอกาสไปก็มี  เพราะมีอำนาจบางอย่างทำให้คนในสังคมไม่คิดถึงค่าของคนที่แท้จริง จนทำให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เกิดความท้อแท้ หมดหวังในการดำเนินชีวิต จนเป็นเหตุทำให้คนในสังคมพูดกันว่า คนนี้ดวงดี คนนั้นดวงไม่ดี พอพูดถึงคำว่า ดวง ทำให้ผู้เขียนได้ตระหนักถึงความหมายของคำว่า ดวง ที่คนในสังคมชอบพูดกันเสมอๆ เมื่อเวลาสมัครงานก็ดี รับราชการก็ดี เลื่อนตำแหน่งต่างๆก็ดี  ทำให้มีคำว่า ดวง เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยไม่คำนึงถึงคุณสมบัติของบุคคลนั้นๆเป็นที่ตั้ง ดังนั้นผู้เขียนขอแสดงความคิดเห็นและอธิบายเพิ่มเติมในมุมมองทัศนคติของผู้เขียนเอง โดยอาศัยหลักจากการฟัง และคำพูดที่คนในสังคมชอบพูดกันอยู่ทุกวันนี้ จึงเป็นเหตุทำให้ผู้เขียนสนใจที่จะเขียนบทความนี้   เพราะฉะนั้นเมื่อผู้อ่านได้ยิน คำว่าดวงดี และดวงไม่ดี  ต้องคิดไปถึงดวง ที่มีความหมายทางโหราศาสตร์อย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะบอกถึงราศีแห่งดาวพระเคราะห์เคลื่อนเข้าสู่ราศีอื่น ๆ ในเวลาเกิดของคนหรือเวลาสร้างสิ่งสำคัญก็ตาม แต่ดวงในที่นี้ผู้เขียนหมายถึงดวงที่มีความหมายโดยอ้อม ไม่ใช่ความหมายโดยตรงหรือความหมายโดยทั่วไปในทางโหราศาสตร์ที่กล่าวถึงโชคชะตา ราศีแห่งชีวิต เช่นดวงการงาน ดวงความรัก ดวงการเงินเป็นต้น ดังนั้นดวงที่มีนัยความหมายโดยอ้อมเป็นดวงที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมนิสัยของคนในสังคมที่กำลังกระทำอยู่ในปัจจุบันนี้ สามารถกำหนดชีวิตว่าจะก้าวหน้า ถอยหลัง ขึ้นหรือลง สุขหรือทุกข์ เสื่อมหรือเจริญ ขาดทุนหรือกำไรขึ้นอยู่กับดวงนี้ต่างหาก เพราะคนเราทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในวงการไหนก็ดี องค์กรไหนก็ตาม จะให้ความสำคัญกับคำว่า ดวง เป็นอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิต ซึ่งดวงนั้นจะมีทั้งดวงดีและดวงไม่ดีปะปนกันไปในชีวิต คำว่า ดวง คำๆเดียวมีความหมายลึกซึ้งกินใจ น่าคิด สามารถแยกวิเคราะห์แต่ละพยัญชนะได้ดังนี้เช่นดวงดี  คืออะไร ?

 หมายถึง ดี  ถามว่าอะไรดี ตอบว่า มีความรู้ดี  มีความสามารถดี มีความประพฤติดี

 หมายถึง วิชา คือ มีวิชาดี เก่ง ขยันหมั่นเพียร มีระเบียบ มีวินัยดี มีวิสัยทัศน์ การมองโลกในแง่ดี มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และที่สำคัญมีความซื่อสัตย์ที่ดี 

  หมายถึง งาน คือ งานดี งานเด่นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตา ผลงานงดงามเข้าตากรรมการเป็นต้น ส่วนดวงไม่ดี คืออะไร?

  ด  หมายถึง เด็กใคร  เส้นใคร สายใคร พรรคพวกใคร ?

  หมายถึง วิ่งเก่งไหม ขยันไปมาหาสู่หรือไม่? 

   หมายถึง มีเงินหรือไม่?

ดังนั้น ดวงดีหรือไม่ดีได้ถูกพูดกันในสังคมยุคปัจจุบันจนทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบระหว่างดวงดีกับดวงไม่ดี  สำหรับดวงดีนักปราชญ์ท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ในสมัยหนึ่งว่า

ค่าของคน  อยู่ที่ผลของงาน

ค่าของงาน   อยู่ที่การกระทำ

      ค่าของการกระทำ   อยู่ที่การทำดี

                           ค่าของความดี   อยู่ที่มีคุณธรรม และจริยธรรม

ส่วนในสมัยปัจจุบัน ดวงไม่ดี ได้ถูกค่านิยมสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงไปต่างๆนานา ทำให้เกิดความลำเอียง ครหาในสังคมเราดังนี้

      ค่าของคน   อยู่ที่ผลของงาน ( เก่งจริง มีฝีมือดี)

                                             ค่าของคน   อยู่ที่คนของใคร ( เส้น สาย ใคร)

                                             ค่าของคน     อยู่ที่คุณมีอะไร ( ของที่จะให้ )

                                             ค่าของคน   อยู่ที่คุณมีเท่าไร (จำนวน เงินที่จะให้ ค่าน้ำร้อนน้ำชา )

เมื่อพิจารณาข้อเปรียบเทียบระหว่างดวงดี กับ ดวงไม่ดีแล้ว ทำให้เห็นค่านิยมทางสังคมเปลี่ยนไป ถ้าคนใดประสบกับดวงดีก็ถือว่าโชคดีไป แต่ถ้าประสบกับดวงไม่ดี อาจจะเกิดความท้อแท้ เบื่อหน่าย ผิดหวังหมดกำลังใจ หรือไม่พอใจในเมื่อตนเองประสบพบเจอกับสิ่งนั้นๆ เพราะฉะนั้นผู้เขียนขอแสดงความคิดเห็นกับคนดวงไม่ดีเป็นกรณีพิเศษ เพราะคนบางคน มีความรู้ คู่คุณธรรม เก่งจริง มีฝีมือดี  แต่ขาดเส้น(อาศัยวาสนาบารมีผู้หลักผู้ใหญ่) ขาดสาย (อาศัยพรรคพวก คนรู้จัก)  ขาดซอง (อาศัยอำนาจเงินเข้าช่วย ใต้โต๊ะ บนโต๊ะ ใต้น้ำ หรือ ตามน้ำ) ก็ถือว่าไปไม่รอด หมดโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แม้กระทั่งการศึกษาก็ตาม ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนขอยกคำพูดเป็นภาษาอังกฤษว่า( The principle of Three -S ) แปลว่า หลักการของ ๓ S  ก็คือ เส้น  สาย  ซอง เป็นมุมมองที่ทำให้เกิดความเอนเอียงและไม่เป็นธรรม จึงเป็นเหตุทำให้คนในสังคมอยากมีความเจริญก้าวหน้าในทางลัด ซึ่งสังคมทั่วไปกำลังนิยมปฏิบัติกัน โดยมุ่งหวังลาภ ยศ  สุข  และ สรรเสริญ ที่ผู้ใหญ่จะหยิบยื่นให้ โดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรมและค่าของคนที่ดีงาม แม้ว่าคนบางคน จะทำงานไม่เป็น ไม่เคยเห็นประสบการณ์ เส้น สาย ไม่มี  แต่อาศัยค่าของคนอยู่ที่คุณมีเท่าไร คนประเภทนี้ก็ถือว่าไปรอด เพราะอาศัยอำนาจเงินเป็นที่ตั้ง พอพูดถึงอำนาจเงินผู้เขียนขอใช้คำที่ฝรั่งใช้พูดกันคือเปรียบเงินคือพระเจ้า (MONEY IS GOD) หรือจะเรียกว่า พระเจ้าเงินตราก็ได้ หมายความว่า เราจะปรารถนาสารพัดในปฐพี เอามันนี่ แลกได้ดั่งใจจง ซึ่งตรงนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเปรียบเงิน คือ อสรพิษ เช่นกัน เพราะเงินบันดาลให้ทั้งคุณและให้ทั้งโทษดังต่อไปนี้

                    เงิน   ทำให้งอน หมายถึงให้น้อยไปก็ขัดใจ ไม่ร่วมมือด้วย  ไม่เข้าพรรคพวกด้วย

                    เงิน   ทำให้งาม  หมายถึงเนรมิตได้ดั่งใจหมาย บันดาลทุกสิ่งให้สวยสดงดงาม ตระการตา

                    เงิน   ทำให้ง่าย  หมายถึง ไม่มีอุปสรรคขัดขวาง อยู่ก็สบาย ไปก็สะดวก ไม่ติดขัด ราบรื่น

                    เงิน   ทำให้หงาย หมายถึง ความลับที่ถูกปกปิดจะถูกเปิดเผย ที่ถูกปิดปาก ทำให้เปิดปาก  เปิดโปง

                    เงิน   ทำให้งก     หมายถึง ไม่รู้จักคำว่า พอ ยิ่งได้ ยิ่งอยาก ยิ่งมาก ยิ่งโลภ ไม่มีที่สิ้นสุด

                    เงิน   ทำให้งัด    หมายถึง  ผลประโยชน์ไม่ลงตัว ส่วนได้ส่วนเสียไม่เท่ากัน ทำให้งัดข้อ ขัดแย้ง  เกลียด  แค้น ชิงชัง อาฆาตพยาบาท จองเวรกันไม่เลิก

                    เงิน   ทำให้โง่ หมายถึง เห็นกลับทำเป็นไม่เห็น รู้กลับทำเป็นไม่รู้ ผิดกลายเป็นถูก จากขัดใจกลายเป็นคล้อยตาม

                    เงิน  ทำให้งง หมายถึง ได้เงินมาง่ายๆ มากไป ทำให้ตกใจ ทำอะไรไม่ถูก ทั้งหมดนี้คืออำนาจของ ง เงิน และยิ่งไปกว่านี้ ง เงินยังทำให้แยก หมายถึง แตกแยก แตกสามัคคี ทำให้มิตรกลายเป็นศัตรู ทำให้คนอยู่บ้านหลังเดียวกันทะเลาะเบาะแวง ถึงกับฆ่ากันตายก็มากเพราะอำนาจเงิน

                    ส่วนในทางพระพุทธศาสนาได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างทรัพย์ภายนอกอันได้แก่ เงิน ทอง ซึ่งเป็นของนอกกาย อาจทำลายชีวิตได้ ถ้าใช้อย่างไม่มีสติ จะให้ทั้งคุณและโทษก็ได้ ไม่เหมือนกับทรัพย์ภายใน ที่เรียกว่า อริยทรัพย์ แปลว่า ทรัพย์อันประเสริฐ นั่นหมายความว่า มีคุณธรรมประจำใจที่ประเสริฐ ๗ อย่างได้แก่

๑.ศรัทธา คือมีความเชื่อที่เป็นเหตุเป็นผล มั่นใจในหลักที่ถือปฏิบัติและหลักในการทำความดี                         

  ๒. ศีล คือ การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ประพฤติถูกต้องดีงาม ไม่ผิดทำนองคลองธรรม                                                                              ๓. หิริ คือ มีความละอายแก่ใจต่อการทำความชั่ว
๔. โอตตัปปะ คือ มีความเกรงกลัวต่อความชั่ว
๕. พาหุสัจจะ คือความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก                                           ๖. จาคะ คือมีความเสียสละแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือผู้คน

 ๗. ปัญญา คือมีความรู้ความเข้าใจถ่องแท้ในเหตุผล ดีชั่ว ถูกผิด คุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ รู้คิด รู้พิจารณา และรู้สิ่งที่ตนทำ รู้ดีทำดี รู้ชั่วเว้นชั่ว นี่คือความแตกต่างระหว่างทรัพย์ภายนอกและทรัพย์ภายใน และที่สำคัญไปกว่านั้นคนเราต้องมีคุณค่าแห่งชีวิตที่สมบูรณ์ด้วย สิ่งนั้นต้องประกอบไปด้วย ความดีงาม ๕ ประการ ดังพุทธสุภาษิตทีมาในอรรถกถาเชตวนสูตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

กมฺมํ วิชฺชา จ ธมฺโม จ           สีลํ  ชีวิตมุตฺตมํ
  เอเตน มจฺจา สุชฺฌนฺติ          น โคตฺเตน  ธเนน วา.

   แปลว่า  การงาน วิชา  ธรรม ศีล และชีวิตอันอุดม คน ย่อมบริสุทธ์ดีงามไปด้วยธรรมทั้ง ๕ นี้ ไม่ใช่ ด้วยโคตร หรือ ด้วยทรัพย์สมบัติ ฯ

เพราะฉะนั้นจะเห็นไดว่าองค์ประกอบสำคัญที่บันดาลให้ทุกอย่างดีนั้นคือคุณธรรมและจริยธรรมที่มีอยู่ในจิตใจดังที่นักกวีท่านหนึ่งได้ประพันธ์ไว้น่าคิดว่า

อันคนดี    มิใช่ดี    ด้วยที่ทรัพย์

มีใช่นับ     โคตรเหง้า   เผ่าพงศา

คนดีนี้      ดีด้วยการ   งานนานา                                                                  อีกวิชา       ศีลธรรม  นำให้ดี

ท่านทั้งหลายคนเรานั้นบางคนก็มีความรู้ คู่คุณธรรม ทำงานได้ดี มีความสามารถ แต่กลับไม่ได้รับโอกาสยากที่จะหาความเจริญก้าวหน้าในการงาน หรือในหน้าที่ต่างๆ ซึ่งตรงกันข้ามกันกับคนบางคนที่มีเส้น สาย พรรคพวก จนทำให้ค่าแห่งชีวิตเปลี่ยนไป ทุกองค์กร ทุกวงการ ถูกค่านิยมสมัยใหม่ลากจูงเปลี่ยนแปลงไปต่างๆ นานาจนทำให้เป็นที่รู้จักกันดีว่า ค่าของคนไม่ใช่อยู่ที่ผลของงาน     แต่ค่าของคนอยู่ที่คนของใคร และ ค่าของคนอยู่ที่คุณมีเท่าไร  ดังนั้นอะไรก็ตามที่ทำให้เราสมหวังหรือประสบความสำเร็จในชีวิต เราก็พูดกันว่า ดวงดี อะไรก็ตามที่ทำให้เรา ท้อแท้ เบื่อหน่าย หมดหวัง ทำอะไรก็ไม่ประสบผลสำเร็จในชีวิต เราก็โทษว่า ดวงไม่ดี หรือโชคไม่ดี ทั้งๆที่ดวงดีหรือดวงไม่ดีขึ้นอยู่กับการกระทำทั้งนั้น ซึ่งในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า กรรม จะมีทั้งกรรมฝ่ายดี และกรรมฝ่ายชั่ว คนดวงดี ขอให้เข้าใจตรงกันว่า ทำกรรมดี  คนดวงดีก็คือคนที่หมั่นสร้างกรรมดี สามารถเอาชนะความชั่วได้ ยิ่งชนะได้มากแค่ไหนหมั่นสร้างกรรมดีมากแค่ไหน ดวงก็ดีมากเท่านั้น ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีเรื่องเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล ผู้เขียนขอยกเป็นอุทาหรณ์สักเล็กน้อย เพื่อประดับสติปัญญาของผู้อ่าน คือว่ามีคนบางพวกเชื่อเรื่องอำนาจดลบันดาลโชคชะตามาก จนตั้งขึ้นมาเป็นลัทธิกันมากมาย  แต่พอจะสรุปได้ ๓ ลัทธิตามความเชื่อหลักๆดังต่อไปนี้

1.ลัทธิแรก พวกที่ถือว่าอะไรๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ก็เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติปางก่อนที่แล้วมา พวกนี้ไม่เชื่อในกรรมใหม่ในชาติปัจจุบันที่ส่งผลด้วย ลัทธิของคนพวกนี้เรียกว่า “ลัทธิปุพเพกตวาท”  จะเห็นว่าทัศนคติของคนลัทธินี้เชื่อกรรมเก่า แต่ไม่เชื่อกรรมใหม่ ก็ถือว่าขัดแย้งกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา

2. ลัทธิที่สอง พวกนี้จะเชื่อว่าการที่คนเราจะเป็นอะไรๆ จะดีหรือชั่ว จะจนหรือรวย ร่างการพิกลพิการหรือสมบูรณ์นั้นก็เพราะเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่บันดาล หรือพระผู้เป็นเจ้าบันดาลให้เป็นไป พวกนี้เรียกว่า “อิสสรนิมมานเหตุวาท” หรือ “ลัทธิอิศวรนิรมิตวาท” จากการวิเคราะห์ลัทธินี้ เชื่องมงาย ไม่มีเหตุผล ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างเทพเจ้าบันดาลให้ทั้งนั้น ซึ่งขัดแย้งกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก

3. ลัทธิสุดท้ายนี้ ถือว่าสิ่งทั้งหลายอะไรจะเกิดขึ้น ไม่มีเหตุปัจจัย แล้วแต่ความบังเอิญที่เป็นไป ซึ่งเป็นลัทธิโชคชะตา พวกนี้เรียกว่า “อเหตุอปัจจยวาท” หรือ “ลัทธิอเหตุวาท”  จากการวิเคราะห์ลัทธินี้จะพบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ หรือเพราะโชคชะตาเป็นตัวกำหนด ก็ถือว่าขัดกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเช่นกัน  ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ล้วนสวนทางกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่เชื่อเรื่องกรรม ไม่ว่าจะเป็นกรรมเก่าหรือ กรรมใหม่ก็ตาม ผู้ทำจะต้องรับผลของกรรมนั้นอย่างแน่นอน  เพราะสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมหรือการกระทำของแต่ละบุคคลที่ได้ทำเอาไว้ และยังเป็นศาสนาแห่งการใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุ หาผลไม่ให้เชื่องมงายในอำนาจอื่นใดที่ดลบันดาลประทานให้

                ดังนั้นจากบทความที่ผู้เขียนได้อธิบายมานี้ ก็เพื่อเตือนสติ ให้ข้อคิดแก่คนในสังคมปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้า เป็นผู้บริหาร ทั้งทางโลกก็ดี ทางธรรมก็ดี ขอให้ตระหนักถึงค่าของคนเป็นสิ่งสำคัญ ถือว่าให้โอกาสคนดี มีความรู้ คู่คุณธรรม มีกำลังใจที่จะทำงานต่อไป เพราะสังคมเราทุกวันนี้มักเบื่อหน่าย หมดหวัง ท้อแท้ เมื่อได้ยินคำว่า  คนนั้น คนนี้ดวงไม่ดี  เพราะไม่มีเส้น ไม่มีสาย ไม่มีซอง แต่กลับไม่มองถึงคุณสมบัติและค่าของคนที่แท้จริง ซึ่งทางโลก เราจะวัดกันที่สมบัติภายนอกก็จริง คือมีทรัพย์สมบัติ ความมั่งมี ฐานะ ตระกูล เป็นต้น ส่วนทางธรรม เราจะวัดกันที่สมบัติภายใน ก็คือ คุณงามความดี มีศีลธรรมและจริยธรรมเป็นที่ตั้ง ฉะนั้นแล้วถ้าคนเราในสังคมมีทั้งความรู้ ควบคู่กับคุณธรรม นับว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่งในการทำงาน นั่นหมายความว่า ทั้งเก่งด้วย และทั้งดีด้วย แต่ถ้าตรงกันข้าม คนบางประเภท ทำงานไม่เป็น แต่เส้นใหญ่ หรือคุณสมบัติไม่เพียงพอ แค่ขอมีซองก็เป็นพอ ซึ่งตรงกับภาษิตที่ขงจื้อเตือนตอนหนึ่งว่า “อย่าห่วงว่าใครไม่รู้ว่าท่านเก่ง หรือมีความรู้ มีความสามารถ จงห่วงแต่ว่า สักวันหนึ่งเมื่อคนเขายกย่องหรือเลื่อนตำแหน่งท่าน ท่านมีความเก่งและความสามารถสมกับที่เขายกย่อง หรือ เลื่อนตำแหน่งให้หรือไม่” ภาษิตนี้น่าเก็บไปคิด  โดยอย่าไปยึดติดกับอำนาจเงินตราเป็นที่ตั้ง เป็นที่ตัดสินเท่านี้คนในประเทศชาติจะมีคนดีมากกว่าคนเก่ง หรือมีมากทั้งคนดีและคนเก่ง และประเทศชาติก็จะเจริญก้าวหน้าเพราะคนเรามีคุณธรรมประจำใจ

รูปภาพ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Bookmark and Share
Advertising Zone    Close
 
Online:  1
Visits:  137,386
Today:  7
PageView/Month:  194

ยังไม่ได้ลงทะเบียน

เว็บไซต์นี้ยังไม่ได้ลงทะเบียนยืนยันการเป็นเจ้าของเว็บไซต์กับ Siam2Web.com